ให้ทุนไปแล้วกว่า 100 ล้านบาทกับโครง การทุนนักวิจัยแกนนำ ซึ่งเป็นการสนับสนุนโครง การวิจัยขนาดใหญ่ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2552
เพื่อสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ที่มีศักยภาพ เป็นแกนนำให้กับวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม สามารถดำเนินงานวิจัยอย่างราบรื่น รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเป็นแกนในการผลิตบุคลากรวิจัยสู่วงการวิชาการอย่างต่อเนื่อง
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. บอกว่า ปัจจุบันให้ทุนนี้ไปแล้ว 7 โครงการ ทุนละ 20 ล้านบาท สำหรับปีนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นสมควรมอบทุนดังกล่าวแก่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากโครงการวิจัยเรื่อง “บทบาทของสัตว์ แมลง ในการก่อโรค กลไกเชื้อและการรักษา” และ ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จากโครงการวิจัยเรื่อง “การเพิ่มการถ่ายเทความร้อนเชิงนวัตกรรมสำหรับอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนในอนาคต”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคทางด้านสมองของประเทศไทย และเป็นผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน และศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ บอกว่า ปัจจุบันโรคที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สามารถสืบค้นสาเหตุได้เพียง 50% เนื่องจากการวิเคราะห์เชื้อจำกัดอยู่ที่เชื้อที่มีชื่อในสารระบบเฝ้าระวัง และสถิติการเกิดโรคก็มีแนวโน้มต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากการไม่เห็นความสำคัญของการรายงาน
โครงการนี้จึงมุ่งที่จะศึกษาความหลากหลายของเชื้อ การพัฒนาและสร้างแบบจำลองการทำนายการเกิดโรคระบาด การพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคและระบบเฝ้าระวังโรคเชื้อไวรัส การศึกษากลไกของไวรัสพิษสุนัขบ้าและพัฒนาวิธีการป้องกัน เพื่อเพิ่มความตระหนักในวงการแพทย์ในโรคที่มาจากสัตว์สู่คน
ทำให้สามารถวิเคราะห์สาเหตุได้ด้วยวิธีการที่ง่าย ๆ ใช้ได้ทั่วไป และเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้จากการรวบรวมพฤติกรรมสัตว์ในการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน ความสามารถอันหลากหลายของแมลงในการเพาะบ่มเชื้อต่าง ๆ และกระบวนการของไวรัสที่ทำให้โรคมีความรุนแรงในระดับต่างๆ เพื่อนำไปสู่การป้องกัน รักษาและควบคุมโรคอย่างได้ผลในอนาคต
ด้าน ศ.ดร.สมชาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและการสร้างอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน บอกว่า อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนถือเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งในเครื่องจักรที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ถ้าอุปกรณ์ถูกออกแบบอย่างเหมาะสม การถ่ายเทความร้อนก็จะมีประสิทธิภาพ ผลที่ได้ก็คือการประหยัดพลังงานหรือการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า
โครงการจึงมุ่งที่จะพัฒนาและประดิษฐ์อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนรูปแบบต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพในการถ่ายเทความร้อนเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทั้งการเพิ่มพื้นที่ผิวของการถ่ายเทความร้อนโดยใช้ครีบหรือฟิน ประเภทต่าง ๆ และศึกษาลักษณะเฉพาะในการไหลของสารทำความเย็นทางเลือกใหม่ทั้งจากการทดลองและการพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ รวมถึงศึกษาการไหลนาโนเพื่อใช้ในอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนขนาดเล็ก
ผลงานนี้ถือเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ของการออกแบบและปรับปรุงอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อใช้กับภาคอุตสาหกรรมต่อไป.
รายการอ้างอิง :
2556. ผู้เชี่ยวชาญโรคสมอง-นักเทคโนโลยีพลังงาน2 นักวิจัยแกนนำสวทช.จากจุฬาฯ และมจธ. กรุงเทพฯ : เดลินิวส์ (ไอที-ฉลาดคิด). ออนไลน์. สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต, http://www.dailynews.co.th/Content.do?contentId=196149, ค้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2556.– ( 39 Views)