ธาราบำบัด หรือ Hydrotherapy คือ ออกกำลังกายในน้ำ เพื่อฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยจากอาการบาดเจ็บต่างๆ โดยอาศัยคุณสมบัติการรับแรงและการลอยตัวทำให้ลดการรับน้ำหนักและแรงกระแทกของร่างกาย เกิดแรงต้านที่เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรง ช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาเรื่องข้อต่อ หรือกล้ามเนื้อบรรเทาจากอาการ
ไม่เพียงเท่านั้น ความแรงของกระแสน้ำยังมีผลดีในเรื่องการกระตุ้นการไหลเวียนของระบบโลหิตและระบบน้ำเหลือง ลดอาการบวมของแขนขาส่วนปลาย หากปรับอุณหภูมิของน้ำให้เหมาะสมด้วยแล้ว ยิ่งทำให้อาการปวด บวม อักเสบของกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อต่างๆ คลายตัวและยืดหยุ่นได้ดี
อุณหภูมิที่เหมาะสมธาราบำบัดจะอยู่ที่ 33-35 องศาเซลเซียส ซึ่งจะช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย ลดความตึงของกล้ามเนื้อ ส่วนความถี่ที่เหมาะสมจะแตกต่างกันไปตามอาการของโรค แต่ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และครั้งละ 20-45 นาทีตามลักษณะของโรค
พญ.ไปยดา วงศ์ภากร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์ กล่าวว่า ธาราบำบัดควรทำควบคู่กับการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายบนบก และควรทำต่อเนื่อง 1 เดือนขึ้นไปจึงเริ่มเห็นผล ธาราบำบัดยังใช้ได้กับทุกคน เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ยุ่งยาก
ทุกคนสามารถใช้เทคนิคธาราบำบัด แม้ว่ายน้ำไม่เป็น เพราะสระว่ายน้ำมีความลึกไม่เกินระดับอก โดยจุดเด่นเมื่อเทียบกับการออกกำลังกายบนบก ธาราบำบัดมีอุปกรณ์เหมือนบนบกแต่เป็นแบบลอยน้ำได้ ลดแรงกระแทก ผู้ฝึกเกิดความเหนื่อยล้าช้ากว่าการออกกำลังกายบนบก สมรรถนะของหัวใจทำงานแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่การออกกำลังกายบนบกจะใช้อุปกรณ์ที่หลากหลาย แต่ไม่ช่วยเรื่องการลดแรงกระแทก และทำให้เหนื่อยเร็วกว่า
สำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกอย่างกระดูกหัก หลังการผ่าตัดหรือถอดเฝือกแล้ว กลุ่มนี้มักมีภาวะปวดข้อ ข้อติด กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการใส่เฝือกเป็นเวลานาน ธาราบำบัดจะช่วยฟื้นฟูอาการดังกล่าว หรือในผู้ที่ยังพยุงตัวเองได้ไม่ดี การฝึกเดินในน้ำจะช่วยฟื้นฟูทักษะการเดินได้เร็วขึ้น
ผู้ที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต ธาราบำบัดจะช่วยฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพราะการออกกำลังกายในน้ำจะทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ง่ายกว่าบนบกในบางกรณี
นอกจากนี้ ผู้ป่วยเรื้อรังที่เป็นเด็ก เช่น เด็กที่พิการทางสมอง เด็กมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ควบคุมร่างกายไม่ได้ หรือเด็กที่มีพัฒนาการช้า ธาราบำบัดยังช่วยให้การควบคุมร่างกายทำได้ดีขึ้น โดยระยะการบำบัดอาจนานกว่าผู้ใหญ่ รวมถึงอุณหภูมิที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 33-36 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในเด็กที่มีภาวะเกร็งกล้ามเนื้อมากยิ่งต้องเพิ่มอุณหภูมิเพื่อให้ได้ผลในการกระตุ้นที่ดี
การออกกำลังกายในน้ำยังช่วยให้การทำงานของผู้ป่วยโรคหัวใจดีขึ้น 30% ขณะเดียวกันยังช่วยเรื่องการเผาผลาญและลดแรงกระแทกในคนที่มีน้ำหนักตัวมาก
ส่วนผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน การใช้ธาราบำบัดจะไม่ช่วยในการเสริมสร้างมวลกระดูก แต่เป็นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อเสีย ผู้ป่วยควรเลือกที่จะทำกิจกรรมที่กระตุ้นให้ร่างกายเกิดการลงน้ำหนัก อย่างการเดิน รำมวยจีน รำไทเก๊ก จะได้ผลดีกว่า
ในคนท้อง ธาราบำบัดช่วยในเรื่องการเต้นของหัวใจที่สม่ำเสมอ เด็กในท้องไม่เกิดความเครียดจากกิจกรรมที่หักโหมของคุณแม่ แต่ไม่ควรใช้กับแม่ที่ตั้งครรภ์มากกว่า 7 เดือน ส่วนคนทั่วไปที่ใช้ธาราบำบัดควรทิ้งช่วงห่างจากมื้อที่พึ่งกินอาหาร 1 ชั่วโมง และเว้นช่วงห่างเวลาเข้านอน 3 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้นอนหลับได้ยากเนื่องจากการตื่นตัวจากการออกกำลังกายก็ได้
ข้อควรระวังสำหรับการใช้ธาราบำบัด คุณหมอกล่าวว่า ร่างกายผู้ป่วยจะสูญเสียเหงื่อหรือสูญเสียน้ำเช่นเดียวกับการออกกำลังกายบนบก จึงควรจิบน้ำเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ ส่วนผู้ที่มีแผลเปิด โรคติดเชื้อทางผิวหนังหรือโรคติดเชื้อระบบอื่นๆ ควรรักษาให้หายก่อนที่จะลงสระ นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคไต เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์
รายการอ้างอิง :
กานต์ดา บุญเถื่อน . 2556. ธาราบำบัด. กรุงเทพฯ : กรุงเทพธุรกิจ (Life Style : สุขภาพ). ออนไลน์. สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต, http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20131120/543140/ธาราบำบัด.html, ค้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2556.– ( 251 Views)