ท่านคงได้รับข้อมูลจากการบอกเล่าหรือการอ่านว่า การเลือกรับประทานอาหารสามารถป้องกันหรือรักษาโรคมะเร็งอย่างได้ผล ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว เราควรจะเลือกรับประทานอาหารบางอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็ง หรือถ้าเป็นโรคมะเร็งแล้ว ควรจะเลือกบริโภคอาหารอะไรเพื่อช่วยควบคุมโรค คำถามเหล่านี้ เป็นคำถามที่ผู้ป่วยจำนวนมากในปัจจุบันถามต่อแพทย์ผู้รักษา โดยหวังว่า แพทย์สามารถให้คำตอบได้ว่า ควรจะรับประทานอาหารอย่างไรเพื่อให้ผลการรักษาได้ผลดีที่สุด
ศ.นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า ร่างกายคนเราต้องการอาหารที่หลากหลาย เพื่อนำสารอาหารไปใช้ประโยชน์ได้ทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยมะเร็งหรือคนปกติก็ควรกินให้ได้ครบ 5 หมู่
“โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีคำถามบ่อยๆ ว่า ต้องงดเนื้อสัตว์หรือไม่ จริงหรือที่กินได้แค่ผักผลไม้ วิตามิน-อาหารเสริมช่วยได้แค่ไหน น้ำผักต่างๆ ดื่มแล้วจะช่วยให้มะเร็งหายเร็วได้จริงหรือไม่ และอีกสารพัดคำถามที่ล้วนแต่มีเป้าหมายไปทางเดียวกันคือ ชดเชยกับภูมิต้านทานร่างกายที่ลดลงหลังจากการรักษา”
คุณหมออธิบายว่า การกินที่ถูกต้องนั้น ไม่ควรกินเมนูเดียวซ้ำๆ ต้องกินให้หลากหลายและเปลี่ยนเมนูไปเรื่อยๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลาย ส่วนเรื่องเนื้อสัตว์อาจเลี่ยงของปิ้งย่าง ทอด โดยเปลี่ยนเป็นการนึ่ง ต้ม แทนก็ได้ รวมถึงลดปริมาณอาหารไขมันสูงและอาหารที่ให้พลังงานสูง เพราะเป็นอาหารชั้นดีสำหรับมะเร็ง
หากบริหารจัดการเรื่องการกินได้ อาหารก็จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เติมเต็มความสุขให้กับชีวิต ไม่ใช่บังคับตัวเองให้ไม่กินอะไรเลย จนเป็นทุกข์ และสำหรับอาหารเสริมนั้น ควรปรึกษานักโภชนาการ ไม่ควรซื้อมากินเอง เพราะเราก็ไม่รู้ว่าร่างกายต้องการสารอาหารชนิดใดเพิ่ม การกินสุ่มสี่สุ่มห้าอาจเพิ่มโรคตามมาโดยไม่รู้ตัว
นอกจากการใส่ใจด้านโภชนาการแล้ว ในด้านการดูแลสุขภาพจิตก็จำเป็นไม่แพ้กัน เพราะคนไข้ทุกคนเมื่อรู้ว่าตัวเองป่วย มักเกิดความเครียด วิตกกังวล ยกตัวอย่างผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จากการเก็บข้อมูลในผู้ป่วย 215 คน พบว่า 44% เป็นโรคทางจิตเวชแบบไม่รุนแรง 13% อยู่ในกลุ่มซึมเศร้าและกังวลเกี่ยวกับโรค และ 3% ที่เครียดมากจนถึงขั้นคิดทำร้ายตัวเองด้วยการฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา
ผศ.นพ.พนม เกตุมาน จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้คำแนะนำว่า ญาติควรหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็ง เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยได้ถูกวิธี ไม่ควรตำหนิคนไข้ทำนองว่าเป็นภาระครอบครัว เพราะการพูดอย่างนั้นจะยิ่งเป็นการทำให้คนไข้คิดมากและเครียดยิ่งกว่าเดิม
ญาติควรหมั่นสังเกตอาการคนไข้ และไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบอยู่เสมอ หากพบว่ามีอาการเงียบขรึมกว่าปกติ เศร้า เหม่อลอย กิจวัตรประจำวันก็ทำไม่ได้ดีเหมือนแต่ก่อนที่จะรู้ตัวว่าป่วย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ นอนแล้วตื่นกลางดึก ฯลฯ ให้รีบพาไปปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและขอคำแนะนำในการดูแลรักษาสุขภาพจิตโดยด่วน
“การปล่อยให้ผู้ป่วยมะเร็งอยู่กับความเครียด และความกังวลซ้ำๆ จะยิ่งทำให้เขาหมดกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรค ฉะนั้น การดูแลสุขภาพจิตใจของคนไข้ให้แข็งแรง ยิ้มรับกับโรคที่เป็น เพราะยิ่งเขามีจิตใจที่เข้มแข็งสู้กับทุกปัญหาแล้ว ร่างกายก็จะมีสุขภาพที่ดีตามไปด้วยนั่นเอง” จิตแพทย์แนะนำ
รายการอ้างอิง :
กานต์ดา บุญเถื่อน . 2556. ‘อาหาร’ เรื่องคาใจผู้ป่วยมะเร็ง. กรุงเทพฯ : กรุงเทพธุรกิจ (Life Style : สุขภาพ). ออนไลน์. สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต, http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20131113/541348/อาหาร-เรื่องคาใจผู้ป่วยมะเร็ง.html
, ค้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2556.– ( 64 Views)