magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home การแพทย์/สาธารณสุข คนไทยถุงลมปอดโป่งพองเกือบแสน
formats

คนไทยถุงลมปอดโป่งพองเกือบแสน

กรุงเทพฯ 20 พ.ย.2556  -สธ.รณรงค์วันโรคถุงลมโป่งพองโลก เน้นย้ำคนไทยตระหนักภัยบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุหลัก ถ้าเป็นแล้วรักษาไม่หายขาด ป่วยทั่วโลก 80 ล้านคน ดับปีละ 3 ล้านคน คนไทยเป็นเกือบแสนใน 4 ปี เตือนวัยรุ่นสูบบารากู่ก็อันตรายไม่แพ้กัน

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกและองค์การโรคถุงลมโป่งพองแห่งโลกได้กำหนดให้วันพุธในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนทุกปี ซึ่งในปี 2556 ตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน เป็นวันรณรงค์โรคถุงลมโป่งพองโลก (World COPD Day) เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตรายของโรคถุงลมโป่งพอง พร้อมกระตุ้นเตือนให้บุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุขตระหนักว่าโรคนี้เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศอันมีสาเหตุเนื่องมาจากการสูบบุหรี่

โรคถุงลมปอดโป่งพองเกิดจากการสูดหายใจเอามลพิษในรูปของก๊าซหรือฝุ่นเข้าไป เช่น ควันบุหรี่ และควันจากการเผาไหม้ สารพิษจากควันจะทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำให้เนื้อเยื่อปอดเสื่อมสภาพ มักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เมื่อเป็นโรคแล้วจะรักษาไม่หายขาด มีอาการหายใจยากลำบาก หอบง่าย ไอเรื้อรัง มีเสมหะมาก องค์การอนามัยโลกระบุว่ามีผู้ป่วยโรคนี้ทั่วโลกกว่า 80 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 3 ล้านคน เป็นสาเหตุการตายอันดับ 4 รองจากโรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคเส้นเลือดในสมอง คาดว่าผู้ป่วยจะเพิ่มอีกร้อยละ 30 ในปี 2563

ส่วนประเทศไทย สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และถุงลมปอดโป่งพองเข้ารับการรักษาระหว่างปี 2550-2554 จำนวนสะสม 99,433 คน สาเหตุร้อยละ  90 เกิดมาจากการสูบบุหรี่ และที่น่าสังเกตพบว่าผู้ป่วยมีอายุน้อยกว่า 40 ปี จำนวนเกือบ 5,000 คน จึงกล่าวได้ว่าผู้ที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเป็นโรคถุงลมโป่งพองได้ทุกคน ช้าหรือเร็วขึ้นกับจำนวนระยะเวลาของการสูบบุหรี่ โดยศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หมายเลข 1600 ในปี 2555 มีผู้ใช้บริการกว่า 100,000 ครั้ง สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจในปี 2554 พบว่าประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 53.9 ล้านคน เป็นผู้สูบบุหรี่ถึง 11.5 ล้านคน จึงน่าเป็นห่วงทั้งผู้สูบซึ่งอายุน้อยและบุคคลรอบข้างที่จะได้รับควันบุหรี่มือสอง

นอกจากนี้ ขณะนี้พบวัยรุ่นไทยหันมาสูบบารากู่กันอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่เข้าใจว่าไม่อันตรายหรืออันตรายน้อยกว่าบุหรี่ แต่ที่จริงแล้วสารพิษยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นกัน อีกทั้งการสูบแต่ละครั้งมักจะใช้เวลาสูบนาน อาจได้สูดควันมากกว่าผู้สูบบุหรี่ทั่วไปถึง 100 มวน

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า สธ.มุ่งยุทธศาสตร์ 3 ลด 3 เพิ่ม เพื่อป้องกันและบรรเทาสถานการณ์โรคดังกล่าว ได้แก่ ลดนักสูบรายใหม่ ลดนักสูบรายเก่าในเขตชนบท โดยเฉพาะผู้สูบยาเส้น และลดควันบุหรี่มือสองในที่สาธารณะและบ้าน กับการเพิ่มกลไกการป้องกันอุตสาหกรรมยาสูบแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบของรัฐ เพิ่มผู้ขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบในระดับพื้นที่ จังหวัดและท้องถิ่น และเพิ่มนวัตกรรมการควบคุมยาสูบ

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักข่าวไทย อสมท. -
http://www.mcot.net/site/content?id=528c6958150ba0026e000094#.Uoxrz-LxbGg– ( 159 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


six + = 9

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>