magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก ‘นักวิจัยแกนนำ’ สร้างสิ่งใหม่
formats

‘นักวิจัยแกนนำ’ สร้างสิ่งใหม่

องค์ความรู้ใหม่เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งยังช่วยพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพให้กับประเทศ

ทุนนักวิจัยแกนนำ อีกหนึ่งความพยายามของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งยังช่วยพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพให้กับประเทศอีกด้วย โดยมอบ 40 ล้านบาทให้กับ 2 นักวิจัยชั้นนำที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์

โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2552 มอบทุนวิจัยไปแล้ว 7 โครงการ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 5 ผลงาน ได้แก่ ชุดตรวจคัดกรองพาหะธาลัสซีเมีย ชุดน้ำยาเพื่อตรวจคัดกรองพาหะฮีโมโกลบินอี ข้าวกึ่งสำเร็จรูป ข้าวเคลือบและข้าวกล้องงอก มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติมากกว่า 200 เรื่อง สิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร 9 เรื่อง รวมถึงผลิตบุคลากรด้านการวิจัยเกือบ 200 คนในปี 2556 ผู้ที่ผ่านการพิจารณาได้รับทุนๆ ละ 20 ล้านบาท ได้แก่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศ.สมชาย วงศ์วิเศษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

รู้ทันโรค คุมได้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “บทบาทของสัตว์ แมลง ในการก่อโรค กลไกเชื้อและการรักษา” มีเป้าหมายจะศึกษาพาหะนำโรคและแหล่งรังโรค อาทิ แมลง เห็บ ริ้น ไรและสัตว์ฟันแทะอย่างหนู ลิงและค้างคาว ที่แพร่เชื้อนานาชนิดทั้ง อีโบล่า ซาร์สและนิปาห์สมองอักเสบ เพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคนิคการตรวจวินิจฉัยโรคแบบเร็ว วิธีการป้องกันและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

แผนวิจัยดังกล่าวมีระยะเวลา 5 ปีในการสร้างฐานข้อมูลเชื้อโรคในสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ที่มีความใกล้ชิดกับมนุษย์ โดยเน้นศึกษาพัฒนาการของเชื้อโรคทั้งที่ทราบชนิดและไม่ทราบชนิด แต่มีการผ่าเหล่ารหัสพันธุกรรมจนเพี้ยนไปจากเดิม การศึกษากลไกการกระจายตัวของโรคครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงเขตรอบตะเข็บชายแดน

โครงการวิจัยดังกล่าวเป็นการทำวิจัยแบบบูรณาการ โดยมีเครือข่ายนักวิจัยทั่วประเทศร่วมด้วย อาทิ แพทย์ สัตวแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่า ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศ เพื่อสร้างความตระหนักให้ทุกองค์กรรู้เท่าทันโรคจากสัตว์สู่คน สามารถป้องกันคนรอบข้างให้ห่างไกลจากโรคได้ถูกวิธี และวางแผนรับมือโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

“หากโครงการวิจัยแล้วเสร็จ ผลงานตีพิมพ์เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับนักวิจัย แต่ยังไม่ใช่อันดับหนึ่งสำหรับนักวิจัยอย่างผม เพราะที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ผลงานวิจัยนั้นต้องถูกนำไปเผยแพร่ และมีการประยุกต์ใช้งาน ซึ่งนำไปสู่การป้องกันและควบคุมโรคได้จริง” หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าว

ยกระดับพลังงานด้วย R&D

ประเทศไทยส่งออกอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนเป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี ในชีวิตประจำวันยังติดอยู่กับอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปรับอากาศ ซีพียูคอมพิวเตอร์ ตู้เย็น หม้อน้ำรถยนต์ หรือแม้แต่โรงงานอุตสาหกรรมที่มีบอยเลอร์หรือเครื่องกำเนิดไอน้ำสำหรับนำไอน้ำไปหมุนเวียนเป็นพลังงานเสริม แต่ก็ยังขาดพัฒนาการที่จะยกระดับอุปกรณ์เหล่านั้นให้ทำงานได้ดีกว่าที่ผ่านมา

โครงการวิจัยระยะเวลา 5 ปีของ ศ.สมชาย เป็นเรื่อง “การเพิ่มการถ่ายเทความร้อนเชิงนวัตกรรมสำหรับอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนในอนาคต” เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“สาเหตุที่หันมาสนใจเรื่องนี้เพราะประเทศไทยเป็นแค่ฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศให้กับบริษัทใหญ่ หากค่าแรงของประเทศเพื่อนบ้านถูกกว่าก็จะให้เกิดการย้ายฐานการผลิต ซึ่งจะทำให้แรงงานไทยต้องเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่น ทั้งนี้ได้ศึกษาการทำงานองค์ประกอบของเครื่องทำความเย็นอย่างละเอียดเพื่อพัฒนาให้อุปกรณ์มีสมรรถนะสูงขึ้น” ศ.สมชาย กล่าว

ทีมวิจัยจะออกแบบอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนด้วยวัสดุและรูปทรงที่ต่างไปจากเดิม โดยเน้นการเพิ่มพื้นที่ผิวการถ่ายเทความร้อนด้านนอก การศึกษาลักษณะเฉพาะในการไหลของสารทำความเย็น ทั้งจากการทดลองและแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ รวมถึงการถ่ายเทความร้อนด้วยหลักด้านกลศาสตร์ของไหลในขณะที่สารทำความเย็นระเหย เพื่อให้มีความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมพลังงานได้อย่างเข้มแข็ง

“สิ่งสำคัญสุดคือ องค์ความรู้ที่ได้ก็เท่ากับเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนไปได้อีกทางหนึ่งด้วย” นักวิจัยแกนนำกล่าว

รายการอ้างอิง :
2556. ‘นักวิจัยแกนนำ’ สร้างสิ่งใหม่. กรุงเทพฯ : กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). ออนไลน์. สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต, http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/science/20131124/544635/นักวิจัยแกนนำ-สร้างสิ่งใหม่.html. ค้นเมื่อวันที 26 พฤศจิกายน 2556.– ( 22 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


− eight = 1

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>