ผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นตัวจากภาวะสมองขาดเลือด จะมีอาการแขนขาอ่อนแรง ต้องเข้ารับการกายภาพบำบัดโดยเร็ว อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
ผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นตัวจากภาวะสมองขาดเลือด จะมีอาการแขนขาอ่อนแรง ต้องเข้ารับการกายภาพบำบัดโดยเร็ว อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพิ่มโอกาสที่จะเดินได้คล่องแคล่วเป็นปกติ
นพ.สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท1 กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองมีความผิดปกติทำให้สมองหยุดการทำงานไปอย่างเฉียบพลัน จากหลอดเลือดสมองอุดตัน ทำให้ไม่มีเลือดไปเลี้ยงสมอง พบได้กว่า 70 % ในขณะที่ 30% ที่เหลือจะเกิดจากหลอดเลือดสมองแตก ทำให้มีเลือดออกแทรกทับในเนื้อสมองหรือเลือดออกที่ผิวสมอง
อาการบ่งชี้ได้แก่ แขน ขา อ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ชาครึ่งซีก เวียนศีรษะร่วมกับเดินเซ ตามัวหรือมองเห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง ปวดศีรษะ อาเจียน ซึมไม่รู้สึกตัว หากเกิดอาการเหล่านี้ต้องรีบพบแพทย์ เพราะการรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดที่ขาดเลือดเฉียบพลันในระยะ 3 ชั่วโมงแรกสำคัญที่สุด
เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดเฉียบพลัน ตามมาตรฐานการรักษาปัจจุบัน แพทย์เฉพาะทางโรคหลอดเลือดสมองจะพิจารณาใช้ยาละลายลิ่มเลือดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ โดยหวังว่าเมื่อก้อนเลือดละลายแล้ว หลอดเลือดที่อุดตันจะเปิด ทำให้เลือดกลับมาเลี้ยงสมองบางส่วนที่ยังไม่ตาย ทำให้เนื้อสมองส่วนนั้นฟื้นกลับมาได้
แต่หากพบแพทย์หลัง 4.5 ชั่วโมงแรก จะไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือด แพทย์จะใช้ยาต้านเกล็ดเลือด ยาป้องกันเลือดแข็งตัว ยาลดความดัน และ/หรือ ยาป้องกันเซลล์สมองตาย
เมื่อสมองขาดเลือดไปเลี้ยงจะเกิดการบวมน้ำ ซึ่งพบได้ตั้งแต่ 12 ชั่วโมงเป็นต้นไป และจะบวมมากที่สุดในวันที่ 3-5 หลังจากนั้นจะหยุดบวม และค่อยๆ ยุบตัวลงเหลือขนาดเท่าเดิมที่ 2-3 สัปดาห์ และกลายเป็นน้ำ จะเกิดการตายของเนื้อสมองที่มีขนาดใหญ่ สมองจะบวมมากจนไปกดเบียดสมองส่วนที่ดี และยังดันเบียดสมองซีกหนึ่ง
ที่สำคัญคือ การเบียดกดก้านสมองจะทำให้ผู้ป่วยซึมลง ต่อมาจะหมดสติ โคม่า หยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้น ทำให้เสียชีวิตในที่สุด ต้องอาศัยการผ่าตัดโดยการตัดกะโหลกศีรษะด้านที่มีเนื้อสมองตายออกขนาดเท่าฝ่ามือ เพื่อให้สมองส่วนที่ตาย และบวมน้ำดันออกมานอกกะโหลกศีรษะ ลดภาวะการเบียดกดสมองส่วนที่ดีและก้านสมอง ช่วยให้อัตราเสียชีวิตผู้ป่วยลดลงเหลือเพียง 20%
ในผู้ป่วยที่สามารถรักษาและมีชีวิตอยู่ต่อไป 50% จะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่วนที่เหลือจะมีความพิการ แขนขาอ่อนแรงและต้องทำกายภาพบำบัด ซึ่งจากรายงานการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่มีภาวการณ์อ่อนแรงของกล้ามเนื้อซึ่งเกิดจากสมองขาดเลือด การกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้เริ่มหัดเดินอย่างรวดเร็ว นุ่มนวล และต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ จะส่งผลกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสที่สำคัญในการฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของสมอง
แต่ผู้ป่วยส่วนหนึ่งกลัวที่จะทำกายภาพบำบัด เพราะทุกครั้งที่ก้าวเดินหรือขยับแขน เขากังวลว่าจะล้ม หรือเจ็บปวด ทำให้การทำกายภาพบำบัดไม่ก้าวหน้า สิ่งที่เข้ามามีบทบาทคือ หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดินและหุ่นยนต์ช่วยฝึกการเคลื่อนไหวของมือและแขน
———–
หุ่นยนต์ฟื้นฟูอาการอัมพาต
พญ.วรรณวดี ลักษณ์สุรพันธุ์ แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู กล่าวว่า ในอดีตแนวทางหลังการรักษาผู้ป่วยที่เกิดจากภาวะอ่อนแรงตามแขนขา จนไม่สามารถเดินหรือใช้ชีวิตเป็นปกติ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อ และการฝึกเดิน แต่เดิมใช้นักกายภาพบำบัดเพื่อคอยช่วยเหลือคนไข้ในการพยุงเดิน
แต่เนื่องจากการฝึกเดินนั้น ต้องใช้เวลาในการฝึกนานพอสมควร เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้เเละพัฒนาทักษะการเดิน ขณะที่ผู้ป่วยเองต้องใช้แรงในการฝึกเดิน และนักกายภาพต้องออกเเรงในการช่วยพยุง ซึ่งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อจากการใช้งานมากเกินไป ขาดความสม่ำเสมอในการฝึก และไม่สามารถกำหนดความเร็วในการก้าวเดินที่เหมาะสม
หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดินและหุ่นยนต์ช่วยฝึกการเคลื่อนไหวของมือและแขน จะช่วยเสริมให้ฝึกเดินนานขึ้นอย่างเต็มที่ตามศักยภาพที่มี โดยสามารถกำหนดความเร็ว แรงพยุงตัว และแรงที่หุ่นยนต์ขาช่วยพยุงในการก้าวเดินให้ที่เหมาะสมกับคนไข้เฉพาะราย ขณะเดียวกันมีระบบคอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลการฝึกแต่ละครั้ง เพื่อนำไปพัฒนาในการรักษาต่อไป
การฟื้นฟูผู้ป่วยด้วยหุ่นยนต์นี้จะช่วยให้ผู้ป่วยที่ยังมีภาวะอ่อนแรงกล้ามเนื้อ สามารถเคลื่อนไหวร่างกายเองได้ สามารถเข้าร่วมการฟื้นฟู ลดภาวะติดเตียง ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือด สมองตีบ เช่น การเกิดแผลกดทับ กล้ามเนื้อตึงรั้งและข้อยึดติด โรคกระดูกพรุน เป็นต้น
รายการอ้างอิง :
สาลินีย์ ทับพิลา. 2556. หลอดเลือดสมอง โรคนี้ไม่เอาท์. กรุงเทพฯ : กรุงเทพธุรกิจ (Life Style : สุขภาพ). ออนไลน์. สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต,http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20131126/544602/หลอดเลือดสมอง-โรคนี้ไม่เอาท์.html. ค้นเมื่อวันที 26 พฤศจิกายน 2556.
– ( 55 Views)