ยังน่ากลัวเสมอ…สำหรับโรคไข้เลือดออก ที่แม้จะมีเกิดขึ้นมานานหลายสิบปีในประเทศไทย รวมถึงทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศเขตร้อนและร้อนชื้น
แต่…วันนี้ก็ยังไม่มีวัคซีนใดที่สามารถป้องกันได้เหมือนกับโรคอื่น ๆ ทำให้ในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อโรคนี้กว่า 100 ล้านคน
การผลิตวัคซีนไข้เลือดออกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะโรคนี้มีสาเหตุมาจากไวรัส 4-5 กลุ่มสายพันธุ์ในปัจจุบัน
“ดร.บรรพท ศิริเดชาดิลก” นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติหรือ ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บอกว่า การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกในปัจจุบัน ผู้พัฒนาส่วนใหญ่ได้มุ่งเน้นแนวทางการคัดเลือก หรือสร้างเชื้อไวรัสเด็งกี่มีชีวิตที่อ่อนฤทธิ์ โดยอาจคัดเลือกเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์เองในระหว่างการเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสเด็งกี่ ในหลาย ๆ รอบในเซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งใช้เวลานาน หรือตั้งใจสร้างเชื้อไวรัสเด็งกี่ให้มีการกลายพันธุ์รูปแบบที่ต้องการโดยใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรม
ทั้งนี้วิธีการสร้างไวรัสแบบดั้งเดิม สามารถสร้างไวรัสที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมได้ค่อนข้างน้อย ทำให้โอกาสในการค้นหาตัวเลือกสำหรับผลิตวัคซีนมีน้อยตามไปด้วย
ดังนั้นทีมวิจัยซึ่งเป็นเครือข่ายประกอบ ด้วย ไบโอเทค ศิริราชพยาบาล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ร่วมกันพัฒนาเทคนิคใหม่ในการสร้างไวรัสในระดับห้องปฏิบัติการ
โดยเป็นวิธีการเปลี่ยนพันธุกรรมไวรัสรูปแบบใหม่ ที่สามารถตัดต่อดีเอ็นเอของไวรัสได้ทันที โดยไม่ต้องใช้แบคทีเรียในการทำให้ไวรัสกลายพันธุ์ในวิธีการเดิม ๆ
ด้วยเทคนิคนี้สามารถสร้างไวรัสที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมได้มากกว่าเดิมหลายหมื่นเท่า และสามารถตัดต่อดีเอ็นเอได้อย่างแม่นยำ ใช้เวลาในการสร้างไวรัสที่ต้องการเพียง 2-3 อาทิตย์ ขณะที่แบบเดิมต้องใช้เวลานาน 4-5 เดือนและเมื่อนำมารวมกับการวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้สามารถตรวจสอบลักษณะของเชื้อกลายพันธุ์ได้มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเป็นวัคซีนตัวเลือกเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกได้รวดเร็วขึ้น
ดร.บรรพท บอกว่า งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจาก Grand Challenges Canada ด้วยงบประมาณ 100,000 ดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 3,000,000 บาท ระยะเวลาวิจัย 18 เดือนเพื่อทดสอบแนวคิดในระดับห้องปฏิบัติการ และคาดหวังว่าจะเพิ่มโอกาสในการเจอเชื้อไวรัสที่ต้องการได้มากขึ้น ซึ่งก็หมายถึงโอกาสที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกมีมากขึ้นตามไปด้วย.
รายการอ้างอิง :
นาตยา คชินทร. 2556. เทคนิคใหม่สร้างไวรัสเพื่อวัคซีนไข้เลือดออก. กรุงเทพฯ : เดลินิวส์ (ไอที-ฉลาดคิด). ออนไลน์. สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต, http://www.dailynews.co.th/Content/IT/199516/เทคนิคใหม่สร้างไวรัสเพื่อวัคซีนไข้เลือดออก. ค้นเมื่อวันที 7 ธันวาคม 2556.– ( 31 Views)