magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home Health “ใบชา” อาหารคาว
formats

“ใบชา” อาหารคาว

คุ้นเคยแต่เครื่องดื่มชา และขนมหวานที่มีส่วนผสมของชา แต่ครั้งนี้ ชาจะขออัพเกรดตัวเอง ปรุงรสขม-หอม ยวนใจในเครื่องอาหารคาว

คุ้นเคยแต่เครื่องดื่มชา และขนมหวานที่มีส่วนผสมของชา แต่ครั้งนี้ ชาจะขออัพเกรดตัวเอง ปรุงรสขม-หอม ยวนใจในเครื่องอาหารคาว

เปลี่ยนทัศนคติและความคุ้นชินไปสิ้นเชิง เมื่อรู้ว่า บั๊กแอนด์บี (Bug & Bee) ร้านอาหารฟิวชั่นฟู้ด ขอนำเสนอประสบการณ์ใหม่ด้วย “ที ไดนิ่ง” เมนูอาหารชวนน้ำลายสอที่มีส่วนผสมพิเศษ คือใบชาทั้ง เอิร์ล เกรย์ ดาร์จิลิง และชาเขียว พวกมันพร้อมแปลงร่างเป็นอาหารคาว และของหวานให้นักชิมจดจำไม่รู้ลืม

“มันเป็นความคิดสร้างสรรค์บนแนวความคิดที่สนุกและผ่อนคลาย สบาย แต่มีความสุข เราค้นพบว่าวัตถุดิบอย่าง ชา สามารถนำมาใส่ในอาหารคาวได้ ซึ่งปกติแล้วมักจะทำเป็นเครื่องดื่มหรือเป็นส่วนประกอบในขนมมากกว่า เชฟของเราจึงพยายามทดลองนำชาชนิดต่างๆมาปรุงใส่ในเมนู จนกระทั่งได้รสชาติที่กลมกล่อม และกลิ่นหอมละมุน” รสริน เจ้าหน้าที่การตลาดของร้าน เล่าที่มาให้ฟัง
เรายอมรับเลยว่า ครั้งแรกที่ได้ยินคอนเซปต์ ที ไดนิ่ง (TEA DINING) ของร้าน คิดว่าคงเป็นการ “แมชชิ่ง” ระหว่างเครื่องดื่มชาแต่ละชนิด กับอาหารแต่ละประเภทมากกว่า แต่พอไม่เห็นเครื่องดื่มชาตั้งไว้เลย ก็คิดสงสัยและเกิดคำถามว่า ไหนล่ะ …วัฒนธรรมการกินดื่มชา ก็ได้รับคำตอบเป็นอาหารหน้าตาชวนรับประทาน 3 จานตรงหน้าแทน นั่นคือ เมนูหมูกรอบชาเอิร์ลเกรย์ ตามด้วยเอิร์ลเกรย์คาโบนาร่า และที่พิเศษมากไม่แพ้กัน ยำหมูกรอบชาเอิร์ลเกรย์

ส่วนผสมหลักของอาหารจานคาวทั้งสามนี้ คือ ชาเออเกรย์ ซึ่งข้อเด่นของชาชนิดนี้ คือกลิ่นอโรม่าคล้ายคลึงกับ กลิ่นมะกรูด จึงให้ความรู้สึกหอมแบบเครื่องเทศ ขณะเดียวกันก็ยังให้กลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของชาเอิร์ลเกรย์ด้วย

ชาเอิร์ลเกรย์ (Earl Grey Tea) ชารสเบา เมื่อชงกับน้ำจะมีสีทองอ่อนผสานด้วยกลิ่นรสบางๆ ให้ความรู้สึกสดชื่นทุกครั้งที่ดื่ม ส่งผลให้นักดื่ม (ชา) เลือกที่จะดื่มในทุกช่วงเวลา

เอิร์ลเกรย์ จัดอยู่ในประเภทชาผสม (Blend Tea) โดยการนำใบชาดำมาผสมกับน้ำมันหอมระเหยของพืชตระกูลส้ม เพื่อแต่งกลิ่นให้หอมละมุนคล้ายกลิ่นมะกรูด มะนาว ซึ่งน้ำมันหอมระเหยนี้ดีต่อระบบย่อยอาหาร เพราะจะไปกระตุ้นการหลั่งเอนไซม์ในกระเพาะอาหาร ช่วยให้ระบบย่อยทำงานได้ดีขึ้น

แล้วชาชนิดนี้เข้าไปเป็นส่วนผสมในเมนูคาวอย่างไร รสริน บอกว่าเชฟจะผสมสมุนไพรหลายชนิดเข้ากับใบชาเอิร์ลเกรย์ แล้วบีบอัดเข้าไปในชิ้นหมู จากนั้นจะนำไปหมักไว้ 24 ชั่วโมงเพื่อให้รสชาติซึมเข้าเนื้อเต็มที่ พอได้ที่แล้วก็เอามานึ่ง และอบ เพื่อให้นุ่มใน กรอบนอก เวลารับประทานก็สามารถตัดกินได้ตั้งแต่ชั้นหนังกรอบลงไปยังส่วนที่มีใบชากับเครื่องเทศได้เลย ให้รสชาติเค็มนิดๆ มันหน่อยๆ กินคู่กับผักเคียงแก้เลี่ยนได้หน่อย

ด้านยำหมูกรอบชาเอิร์ลเกรย์ นั้นก็ไม่ต้องยุ่งยากเตรียมส่วนเนื้อ เพราะนำมาจากเมนูแรก แค่เพิ่มส่วนน้ำยำให้ได้กลิ่นอายอาหารไทยรสจัดจ้าน ทั้งหวานนิด เค็มหน่อย เปรี้ยวบางๆ เผ็ดเล็กๆ

ปิดท้ายอาหารคาวกับเมนูฝรั่งจ๋า อย่าง เอิร์ลเกรย์คาโบนาร่า สูตรเด็ดอยู่ที่ใช้ใบชาต้มน้ำพร้อมกับเส้นสปาเก็ตตี้ รวมทั้งต้มชากับนม ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักของคาโบนาร่า ทำให้ได้ทั้งกลิ่นหอมและรสชาขมนิดๆ ติดที่ปลายลิ้น ช่วยให้เส้นหอมและบรรเทาความเลี่ยนของซอสได้อย่างน่าอัศจรรย์

แล้วก็มาถึงเมนูอาหารหวานกันบ้าง มีทั้ง เอิร์ลเกรย์ครีมบลูเล่ย์ ต่อด้วย ดาร์จีลิง คาราเมลคัสตาร์ด และชาเขียวทิรามิสุเครปเค้ก

พูดถึง ชาดาร์จิลิง (Darjeeling Tea) หนึ่งในหมวดชาดำ หรือ Black Tea ชื่อนี้ได้มาก็เพราะมีแหล่งเพาะปลูกกันมากที่ เมืองดาร์จีลิง รัฐเบงกอลตะวันตก อินเดีย ซึ่งดาร์จิลิง มีชื่อเสียงด้านความหอม กลิ่นละมุนคล้ายกลิ่นดอกไม้ รสชาติออกฝาดเล็กน้อย แต่กลมกล่อม และเพราะกลิ่นหอมยั่วยวนนี้ เมื่อผสมกับรสชาติอันกลมกล่อม นักดื่มชาทั่วโลกจึงให้สมญานามว่าเป็น แชมเปญแห่งชา (The Champagne of Teas) เลยทีเดียว

ดาร์จีลิงอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนในการช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด และลดโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้

ส่วน ชาเขียว (Green Tea) นั้น เป็นชาที่ไม่ผ่านกระบวนการหมักเหมือนชาดำ แต่ทำให้แห้งด้วยการตากแดดโดยไม่ไห้โดนแสงแดดโดยตรง จากนั้นจึงนำมาอบหรือการคั่วบนกระทะร้อน เสร็จแล้วนำไปนวด เพื่อทำให้เซลล์แตก แล้วนำไปอบแห้งอีกครั้ง จึงช่วยเก็บรักษารสชาติและประโยชน์เอาไว้ได้มากกว่า

ชาเขียว มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน และต้านความชราอยู่ในปริมาณสูง ทั้งนี้มีการวิจัยพบว่า ชาเขียวสามารถจะช่วยป้องกันโรคได้มาก เช่น ป้องกันโรคเบาหวาน มะเร็งในกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้เป็นอย่างดี

ถ้ารู้สึกว่าเบื่อดื่มน้ำชาเมื่อไร ลองชิมอาหารคาวและขนมที่มีส่วนผสมของใบชาดูบ้าง มันอาจจะเพิ่มประสบการณ์ใหม่ให้กับลิ้นของเราได้

รายการอ้างอิง :
ดาด้า. 2556. “ใบชา” อาหารคาว. กรุงเทพฯ : กรุงเทพธุรกิจ (Life Style : สุขภาพ). ออนไลน์. สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต,  http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20131205/546415/ใบชา-อาหารคาว.html. ค้นเมื่อวันที 10 ธันวาคม.– ( 69 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


− 9 = zero

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>