เปิดตัวในวงการวิจัยไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากับโครงการ TEIN 4 (เทียน 4) ซึ่งเป็นความร่วมมือในการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาวิจัยด้วยวงจรความเร็วสูงระหว่างประเทศ
เพื่อส่งเสริมการวิจัยและความร่วมมือในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลุ่มประเทศยุโรป
ดร.เฉลิมพล ชาญศรีภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญวิจัยอาวุโส ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเครือข่าย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) บอกว่า โครงการ TEIN เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2544 โดยเริ่มจากการเชื่อมต่อระหว่างประเทศเกาหลีและฝรั่งเศส ก่อนขยายความร่วมมือไปยังประเทศต่าง ๆ ซึ่งดำเนินงานมาจนถึงโครงการ TEIN 4 ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว โดยเป็นการเข้าร่วมในโครงการ TEIN 2 ซึ่งไทยเข้าร่วมภายใต้ชื่อเครือข่ายว่า Thai REN (ไทยเรน) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเครือข่ายThaiSarn(ไทยสาน)ของเนคเทค และเครือข่าย UniNet (ยูนิเน็ต) ของสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
โดยเชื่อมต่อกับ TEIN ด้วยความเร็ว 155 Mbps
ปัจจุบันโครงการ TEIN 4 มีประเทศสมาชิกรวม 20 ประเทศ คือ จีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลี ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา ลาว ภูฏาน อัฟกานิสถาน กัมพูชา และพม่า
สำหรับบทบาทของไทยในฐานะที่เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่ระยะแรก ๆ ดร.เฉลิมพล บอกว่า ทำให้ไทยมีเครือข่ายเชื่อมต่อเพื่อการศึกษาและวิจัย ที่เป็นทั้งสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยในประเทศไม่น้อยกว่า 300 แห่ง
โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระหว่างประเทศที่มีราคาแพง
รวมถึงสามารถประยุกต์ใช้งานที่ต้องใช้วงจรความเร็วสูงได้ เช่น การทดสอบเทคโนโลยีเครือข่ายยุคใหม่ อย่าง ไอพีวี 6 การจัดระบบการเรียนการสอนทางไกล การประยุกต์ใช้งานด้านการแพทย์ หรือการนำไปใช้งานด้านการพยากรณ์สภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลเป็นจำนวนมาก
รวมถึงใช้สนับสนุนการวิจัยด้าน e-Science (อี-ซายน์) ซึ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคำนวณที่มีความจุข้อมูลสูง และมีสมรรถนะในการคำนวณที่รวดเร็วสำหรับเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมากที่เกิดจากการทดลอง
สำหรับ TEIN 4 ดร.เฉลิมพลในฐานะที่เป็นผู้ประสานงานโครงการนี้มาตั้งต้น บอกว่า เนื่องจากไทยเป็นสมาชิกมานานและมีเครือข่ายที่ค่อนข้างเสถียร จึงคาดหวังว่าจะทำให้หน่วยงานด้านการวิจัยของประเทศสามารถใช้ประโยชน์ของโครงข่ายได้อย่างเต็มที่มาก โดยเฉพาะการเชื่อมต่อการวิจัยไปยังต่างประเทศ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของงานวิจัยงานที่สำคัญ ๆ ในหลาย ๆ ด้าน
ซึ่งวันนี้แม้ไทยจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลากรให้กับประเทศเพื่อนบ้าน แต่อนาคตไทยยังสามารถที่จะก้าวไปเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อของภูมิภาคได้อีกด้วย
รายการอ้างอิง :
นาตยา คชินทร. 2556. TEIN เครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อการวิจัยข้ามทวีป. กรุงเทพฯ : เดลินิวส์ (ไอที-ฉลาดคิด). ออนไลน์. สืบค้นจากอินเทอรืเน็ต, http://www.dailynews.co.th/Content/IT/201013/TEIN+เครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อการวิจัยข้ามทวีป+-+ฉลาดคิด, ค้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556.– ( 62 Views)