magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก วว.ค้นพบ 6 พืชชนิดใหม่ของโลกวงศ์ชาฤาษี
formats

วว.ค้นพบ 6 พืชชนิดใหม่ของโลกวงศ์ชาฤาษี

วันนี้(18ธค.56)ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์   สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)แถลงข่าวเปิดตัวการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกวงศ์ชาฤาษี  จำนวน 6 ชนิด โดยนายยงวุฒิ  เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว. เปิดเผยว่า  จากการศึกษาสำรวจ และเก็บรวบรวมอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมพืชร่วมกับการพัฒนาธนาคารเชื้อพันธุ์พืช และธนาคารเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชทั้งที่เป็นของประเทศไทยและของต่างประเทศ   ในปีนี้ นักวิจัยวว.สามารถค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกที่เป็นสมาชิกของพืชในวงศ์ชาฤาษี(FamilyGesneriaceae) จำนวน 6 ชนิด คือเศวตแดนสรวง   ข้าวตอกโยนก บุหงาการะเกตุ  เนตรม่วง สุดดีดาวและมาลัยฟ้อนเล็บ  ซึ่งพืชทั้ง  6 ชนิดนี้มีศักยภาพในการนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นไม้ประดับที่สวยงามรวมถึงอยู่ระหว่างการตรวจสอบหาสารสำคัญเพื่อใช้ในการรักษาโรค

ด้าน ดร.ปราโมทย์   ไตรบุญ นักวิจัยฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว.ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยธนาคารเชื้อพันธุ์พืช ผู้ค้นพบพืชดังกล่าว   กล่าวว่าการค้นพบพืชดังกล่าวเป็นผลมาจากการเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งไทยถือเป็นศูนย์กลางที่มีความหลากหลายของพืชในวงศ์นี้อย่างมากโดยพบในไทยกว่า 250 ชนิดจากทั่วโลกที่มีการค้นพบพืชในวงศดังกล่าวประมาณ 3,900ชนิด

ดร.ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า พืชดังกล่าวค้นพบค่อนข้างน้อยและอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์  โดยเฉพาะสุดดีดาวซึ่งพบบริเวณโรงปูนในจังหวัดแพร่ และลำปาง  ซึ่งควรแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานในพื้นที่ระมัดระวังในการคุกคามพืชดังกล่าวก่อนที่จะสูญพันธุ์

อย่างไรก็ดี วว.อยู่ในระหว่างหาแนวทางการใช้ประโยชน์ของพืชชนิดใหม่ของโลกทั้ง 6ชนิดเนื่องจากมีความสวยงามของทั้งดอกและทรงต้นเหมาะสำหรับการพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับ โดยเฉพาะไม้กระถาง ทดแทนการนำเข้าพันธุ์ไม้จากต่างประเทศรวมถึงเตรียมตรวจสอบหาสารสำคัญซึ่งอาจจะมีคุณสมบัติที่สามารถใช้รักษาโรคหรือปรับสมดุลของร่างกายได้ นอกจากนั้นยังได้หาแนวทางในการขยายพันธุ์ให้ได้เป็นปริมาณมากจากการเพาะเมล็ดอีกด้วย

สำหรับ เศวตแดนสรวง   (Paraboea  middletonii Triboun)  เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปีขึ้นเกาะบนหิน ลำต้นตั้งตรง สูง 10-30 ซม.ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ชิดติดกันบริเวณส่วนปลายของลำต้นดอกสีขาวบานช่วงต้นเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ค้นพบทางภาคเหนือ ในเขตจังหวัดน่าน ขึ้นบนเขาหินปูนในร่มรำไร ที่ความสูง 1,000-1,300 ม. จากระดับน้ำทะเล

ข้าวตอกโยนก    (Microchirita  albiflora D.J.  Middleton & Triboun)   ไม้ล้มลุกปีเดียว  ลำต้นฉ่ำน้ำ สีเขียวอ่อน ใบเรียงตรงข้ามดอกสีขาวบานช่วงต้นเดือนสิงหาคมถึงปลายเดือนตุลาคม  ค้นพบทางภาคเหนือ ในเขตจังหวัดเชียงราย(อำเภอแม่ฟ้าหลวงและอำเภอแม่สาย) ที่ความสูง 500-1,000 ม.จากระดับน้ำทะเล

บุหงาการะเกตุ  (Microchirita karaketii  D.J.  Middleton& Triboun)  ไม้ล้มลุกปีเดียวสูงได้ถึง 60 ซม. ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกเกิดบนใบ ดอกสีขาวมีแต้มสีม่วงและสีเหลืองบานช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ค้นพบทางภาคเหนือ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอเชียงดาว)พบตามป่าผลัดใบแบบผสม ตามภูเขาหินปูน ที่ความสูง 530-750 ม. จากระดับน้ำทะเล

เนตรม่วง (Microchiritapurpurea D.J. Middleton & Triboun)   ไม้ล้มลุกปีเดียว สูง 0.25-1 ม. ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกเกิดบนใบ ดอกสีม่วงบานช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคมค้นพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ในเขตจังหวัดจันทบุรี (อำเภอแก่งหางแมว)พบตามหน้าผาหินปูนแบบเปิดหรือบริเวณปากถ้ำ

สุดดีดาว (Microchiritasuddeei D.J. Middleton & Triboun)   ไม้ล้มลุกปีเดียว ตั้งตรง สูงได้ถึง 40 ซม. ใบเรียงตรงข้าม แผ่นใบบางรูปไข่ ช่อดอกเกิดบนใบที่รอยต่อของก้านใบกับแผ่นใบดอกสีขาวนวลหรือสีมาวงอ่อนบานช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม  ค้นพบทางภาคเหนือ ในเขตจังหวัดแพร่(อำเภอร้องกวาง) และจังหวัดลำปาง (อำเภองาว อำเภอแจ้ห่มและบ้านสา)พบตามหินปูนในป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบแบบผสม ที่ความสูง 200-600 ม. จากระดับน้ำทะเล

และมาลัยฟ้อนเล็บ (Microchiritawoodii D.J. Middleton & Triboun)   ไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นสูงได้ถึง 50 ซม. ใบเรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปไข่  ช่อดอกเกิดบนใบ  ดอกสีเหลืองอ่อนมีแต้มสีน้ำตาลแดงบานช่วงต้นเดือนสิงหาคมถึงปลายเดือนตุลาคม ค้นพบทางภาคเหนือ ในเขตจังหวัดน่าน (อำเภอเมือง) ขึ้นตามเขาหินปูนในป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบ

รายการอ้างอิง :
2556. วว.ค้นพบ 6 พืชชนิดใหม่ของโลกวงศ์ชาฤาษี. กรุงเทพฯ : เดลินิวส์ (ไอที). ออนไลน์. สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต, http://www.dailynews.co.th/Content/IT/202721/วว.ค้นพบ+6+พืชชนิดใหม่ของโลกวงศ์ชาฤาษี, ค้นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2556.– ( 30 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


8 − three =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>