magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home ข่าววิทยาศาสตร์ ส่ง 2 นักวิจัยหญิงไทยไปขั้วโลกใต้ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ
formats

ส่ง 2 นักวิจัยหญิงไทยไปขั้วโลกใต้ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ

ผศ.ดร.อรฤทัย และ รศ.ดร.สุชนา ชวนิตย์

ส่ง 2 นักวิจัยหญิงไทยไปขั้วโลกใต้ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ โดยความร่วมมือกับจีน เป็นเวลา 45 วัน และนักวิจัยหญิงไทยในทีมจะเป็นคนแรกที่รับหน้าที่ดำน้ำสำรวจรอบสถานีวิจัยของจีน

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทในกลุ่มเครื่องดื่มกระทิงแดง เปิดตัวโครงการวิจัยขั้วโลกใต้ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.56 ณ จตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. จตุรัสจามจุรี

โครงการดังกล่าวได้คัดเลือก รศ.ดร.สุชนา ชวนิตย์ และ ผศ.ดร.อรฤทัย ภิญญาคง จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อร่วมเดินทางไปสำรวจและวิจัยขั้วโลกใต้ กับคณะนักวิจัยจีน ณ สถานีขั้วโลกใต้เกรทวอลล์ (Great Wall Station) ของจีน

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ รองประธานกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสรเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการส่งนักวิจัยหญิงไทยไปขั้วโลกใต้ร่วมกับจีนว่า เมื่อเดือน เม.ย.56 สมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จเยี่ยมชมการดำเนินงานของสำนักงานบริหารกิจการทางทะเล ณ กรุงปักกิ่ง และสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน ณ นครเซี่ยงไฮ้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในครั้งนี้

ทั้งนี้ นักวิจัยหญิงทั้งสองจะเดินทางไปวิจัยที่แอนตาร์กติการะหว่างวันที่ 1ม.ค. -15 ก.พ.57 และนับครั้งที่ 3 ที่นักวิจัยไทยมีโอกาสไปวิจัยที่ทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งมีสนธิสัญญาแอนตาร์กติกาห้ามการจับจองเป็นเจ้าของ และห้ามมนุษย์เข้าไปตั้งถิ่นฐาน รวมถึงห้ามกิจกรรมทางทหารและพาณิชย์ แต่ส่งเสริมให้มีเฉพาะการวิจัย ที่มีเฉพาะประเทศสมาชิกในสนธิสัญญาสามารถตั้งสถานีวิจัยได้

ครั้งแรกที่คนไทยมีโอกาสไปร่วมวิจัยพื้นที่ขั้วโลกใต้คือเมื่อปี 2547 ซึ่ง รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเดินทางไปกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาญี่ปุ่นที่ 46 และครั้งที่ 2 คือ รศ.ดร.สุชนา ชวนิตย์ อาจารย์จุฬาฯ จากภาควิชาเดียวกัน ได้ร่วมเดินทางไปกับคณะสำรวจแอนตาร์กติกาญี่ปุ่นที่ 51 เมื่อปลายปี 2552

รศ.ดร.สุชนา เผยว่า ในการเดินทางครั้งนี้จะได้เป็นนักวิจัยคนแรกที่ดำน้ำสำรวจรอบสถานีวิจัยเกรทวอลล์ เนื่องจากเมื่อครั้งเดินทางกับญี่ปุ่นนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้ดำน้ำสำรวจ แต่ครั้งนี้ได้เตรียมพร้อมในการดำน้ำแบบแห้ง (dry dive) เพื่อสำรวจพร้อมเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตและตะกอนดินกลับมาศึกษาด้วย

ส่วน ผศ.ดร.อรฤทัย กล่าวว่าได้เป็นตัวแทนในการเดินทางครั้งนี้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนสถานีวิจัยที่จะเดินทางไปศึกษา จึงต้องเปลี่ยนหัววิจัย ซึ่งเธอเคยนำตัวอย่างตะกอนดินที่ รศ.ดร.สุชนาเก็บมาจากสถานีวิจัยญี่ปุ่น มาศึกษา แล้วพบว่ามีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาในเชิงลึก จึงเสนอหัวข้อในการศึกษาเปรียบเทียบความหลากหลายของจุลินทรีย์ที่อยู่ในแอนตาร์กติกากับที่อยู่บนพื้นดินธรรมดา รวมถึงศึกษาหน้าที่ของจุลินทรีย์ด้วย

“จุลินทรีย์อยู่ได้ในสภาพอากาศที่เย็นจัด และมีอยู่เยอะด้วย ข้อดีของจุลินทรีย์คือปรับตัวได้ดี และมีสมบัติพิเศษที่สร้างสารป้องกันความเย็นให้แก่เซลล์ได้ จึงทำให้อยู่ได้” ผศ.ดร.อรฤทัย อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยากล่าว

พร้อมกันนี้ อพวช.และลอรีอัลยังได้เปิดตัวหนังสือ Polar Harmony ซึ่งร่วมเขียนโดย ดร.วรณพ และ รศ.ดร.สุชนา โดยเป็นหนังสือที่เน้นรูปภาพ บรรยากาศ และสิ่งมีชีวิตในแอนตาร์กติกา พร้อมทั้งมี QR Code ที่สามารถค้นข้อมูลได้เพิ่มเติม โดยนักวิจัยจะเพิ่มเติมรายละเอียดให้ค้นคว้าได้เรื่อยๆ

รายการอ้างอิง :
2556. ส่ง 2 นักวิจัยหญิงไทยไปขั้วโลกใต้ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ. กรุงเทพฯ : ผู้จัดการ. ออนไลน์. สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต, http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000155822. ค้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556.– ( 29 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


× eight = 56

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>