magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home ห้องสมุด ความท้าทายของห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษายุคใหม่
formats

ความท้าทายของห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษายุคใหม่

ความท้าทายของห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษายุคใหม่ เป็นหัวข้อของการสัมมนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ ๓๐ จัดโดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อวันที่ ๒-๓ ธันวาคม ๒๕๕๖ ณ โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่

ผลการจัดสัมมนา มีผู้เข้าร่วมงาน จำนวน ๓๓๐ คน โดยในกำหนดการ ๒ วัน มีหัวข้อการบรรยายรวมจำนวน ๖ เรื่อง คือ
๑. บทบาทของห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ
๒. เทคโนโลยีสมัยใหม่กับการพัฒนาห้องสมุด : โอกาส/ผลกระทบ/ปัญหา
๓. ทิศทางการพัฒนา Green Library : การพัฒนาห้องสมุดสีเขียวในมุมมองของผู้บริหารที่มีประสบการณ์
๔. แนวทางการพัฒนาห้องสมุดด้วยเทคโนโลยี
๕. การพัฒนาเทคนิคการให้บริการในห้องสมุดยุคใหม่ : User engagement การรับมือกับผู้ใช้บริการ การเข้าถึงผู้ใช้โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่
๖. การพัฒนาตัวบ่งชี้คุณภาพห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา : กรณีศึกษาข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULLINET)

สรุปหัวข้อการบรรยายโดยสังเขป ดังนี้

๑. บทบาทของห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ
สถาบันอุดมศึกษาต้องมีหน้าที่แสวงหาความรู้ ความรู้ที่เป็นรูปธรรมเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรม บทบาทของห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาต้องสร้างความเข้มแข็งมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่แล้วหลายเครือข่าย คือ ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (Provincial University Library Network : PULINET) ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนกลาง (Thai Library Network-Metropolitan: Thailinet) และเครือข่ายระบบห้องสมุดในประเทศไทย (ThaiLIS)

ปัจจุบันรูปแบบการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาเปลี่ยนแปลงไป ที่เรียกว่า “Flipped Classroom” เป็นรูปแบบการเรียนรู้แนวใหม่สำหรับศตวรรษที่ ๒๑ เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่อาจารย์ผู้สอนมอบหมายโจทย์หรือการบ้านให้นักเรียน นักศึกษา ได้ศึกษาเรียนรู้มาก่อนนอกห้องเรียน โดยให้สรุปเนื้อหาและนำมาอภิปรายหรือปฏิบัติจริงในห้องเรียน สำหรับเนื้อหาที่เคยถ่ายทอดผ่านการบรรยายในห้องเรียนจะเปลี่ยนไปอยู่ในสื่อที่นักเรียน นักศึกษา สามารถอ่านหรือฟังได้เองที่บ้านหรือที่ไหนๆ ก็ตามผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น วิดิโอ วิดีโอออนไลน์ หรือ พอดแคสติง (Podcasting)

๒. เทคโนโลยีสมัยใหม่กับการพัฒนาห้องสมุด : โอกาส/ผลกระทบ/ปัญหา
การพัฒนาห้องสมุดจะต้องดูเรื่องนโยบายและเทคโนโลยีสารสนเทศ
ด้านนโยบาย มีประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๔ ในมาตรฐาน ๒ ด้าน คือ
๑. มาตรฐานด้านศักยภาพและความพร้อมในการจัดการศึกษา ประกอบด้วยมาตรฐานย่อยด้านต่าง ๆ ๔ ด้าน คือ ด้านกายภาพ ด้านวิชาการ ด้านการเงิน ด้านการบริหารจัดการ ห้องสมุดเข้าเกณฑ์ที่เห็นชัดเจน ในมาตรฐานด้านกายภาพและวิชาการ ด้านกายภาพ คือ สถาบันอุดมศึกษามีอาคารที่ประกอบด้วยลักษณะสำคัญของอาคารเรียนที่ดีมีห้องครบทุกประเภท พื้นที่ใช้สอยที่ใช้ในการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมทุกประเภทมีจำนวนเพียงพอ และเหมาะสมกับจำนวนอาจารย์ประจำ จำนวนนักศึกษาในแต่ละหลักสูตร และจำนวนนักศึกษาตามแผนการรับนักศึกษา ตามเกณฑ์พื้นที่ใช้สอยอาคารโดยประมาณ รวมทั้งต้องจัดให้มีห้องสมุดตามเกณฑ์มาตรฐาน มีครุภัณฑ์ประจำอาคาร ครุภัณฑ์การศึกษา และคอมพิวเตอร์จำนวนเพียงพอต่อการจัดการศึกษา ทั้งนี้ อาคารและบริเวณอาคารจะต้องมีความมั่นคง ปลอดภัยถูกสุขลักษณะ ในด้านวิชาการ คือ สถาบันอุดมศึกษามีศักยภาพและความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจด้านวิชาการสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ ของสถาบันอุดมศึกษาและแผนการผลิตบัณฑิตที่ตอบสนองความต้องการของประเทศและผู้ใช้บัณฑิตโดยรวม มีหลักประกันว่าผู้เรียนจะได้รับการบริการการศึกษาที่ดี สามารถแสวงหาความรู้ได้อย่างมีคุณภาพ สถาบันต้องมีการบริหารวิชาการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลทั้งในด้านการวางแผนรับนักศึกษาและการผลิตบัณฑิต การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การประเมินผล การเรียนรู้ การประกันคุณภาพการเรียนการสอน และการพัฒนาปรับปรุงการบริหารวิชาการ

๒ มาตรฐานด้านการดำเนินการตามภารกิจของสถาบันอุดมศึกษา ประกอบด้วยมาตรฐานย่อยด้านต่าง ๆ ๔ ด้าน ด้านการผลิตบัณฑิต ด้านการวิจัย ด้านการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาควรศึกษาเรื่องดังต่อไปนี้
๑. เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาวิจัย เช่น UniNet, ADSL, 3G เป็นต้น
๒. เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และระบบห้องสมุดอัตโนมัติ
๓. ทรัพยากรสารสนเทศในรูปดิจิทัล
๔. ความร่วมมือเพื่อการบริการสารสนเทศทางการศึกษาร่วมกัน
โครงการพัฒนาเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ เป็นลักษณะเครือข่ายเพื่อการศึกษาวิจัยของประเทศ วัตถุประสงค์หลักเพื่อเชื่อมโยงกับเครือข่ายการศึกษาและวิจัยทั่วโลก (Research and Education Network : REN) ซึ่งเป็นเส้นทางเฉพาะแตกต่างจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั่วไป ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายเชื่อมต่อกับ UniNet รวม ๑๐,๘๑๒ แห่ง โครงการ UniNet สนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยระดับชาติ ในการใช้อินเทอร์เน็ตด้านการศึกษาวิจัยกับเครือข่ายด้านการศึกษาวิจัยทั่วโลก (National e-Science Infrastructure Consortium) ริเริ่มจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นความสำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน โดยทรงลงนามในหนังสือแสดงความสนใจศึกษางานฟิสิกส์อนุภาคพลังสูงระหว่างนักวิทยาศาสตร์ไทยกับองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (The European Organization for Nuclear Research : CERN) ซึ่งต้องการระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายความเร็วสูง ปัจจุบันมีสถาบันร่วมในโครงการเริ่มต้น 5 หน่วยงาน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และการเกษตร (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และระบบห้องสมุดอัตโนมัติ มีหลายรูปแบบ คือ เทคโนโลยีก้าวหน้าและมีให้เลือกหลากหลาย ตอบโจทย์ทุกความต้องการ คัดเลือกให้เหมาะสม การพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติ  (University Software Development) ที่ UniNet ให้การสนับสนุน ได้แก่

จากระบบห้องสมุดอัตโนมัติทั้งหมดดังกล่าวที่ UniNet ให้การสนับสนุน มีสถาบันการศึกษาติดตั้งแล้ว รวม ๘๐ แห่ง สัดส่วนประเภทระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่สถาบันอุดมศึกษาเลือกใช้ มี ๔ กลุ่ม คือ

  • Automation Software Commercial (๖๐%) : Innopac, VTLS, Horizon
  • University Software Development (๒๕%) : Walai Autolib, ALIST@PSU, Somsook@kmutt, ULibM@MSU
  • OpenSource Software (๑๐%) : Openbiblio, Koha, PMB
  • General Software (๕%) : หน่วยงานพัฒนาขึ้นเอง

ข้อมูลสารสนเทศในรูปดิจิทัล ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษามีแหล่งความรู้กระจายอยู่ทุกที่ แต่ต่างคนต่างเก็บ ต่างคนต่างให้บริการ ทำอย่างไรถึงจะรวมกันได้ แลกเปลี่ยนกันได้ สนับสนุนซึ่งกันและกัน การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในห้องสมุดยุคใหม่ มิได้เน้นการเป็นเจ้าของ (Ownership) หากแต่เป็นการแบ่งปันทรัพยากร (Resource sharing) และประเด็นเทคโนโลยีสมัยใหม่กับการพัฒนาห้องสมุด ผลกระทบหรือปัญหาข้อหนึ่งที่สำคัญ คือ เกิดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ง่าย

๓. ทิศทางการพัฒนา Green Library : การพัฒนาห้องสมุดสีเขียวในมุมมองของผู้บริหารที่มีประสบการณ์
กล่าวถึงโครงการพัฒนาห้องสมุดสีเขียว จำนวน ๒ แห่ง คือ
๑.
โครงการห้องสมุดสีเขียวของห้องสมุดประชาชน กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในสวนเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนเคหะร่มเกล้า เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร การออกแบบและก่อสร้างอาคารดำเนินการตามหลักการของ LEED ซึ่งเป็นมาตรฐานของสภาอาคารสีเขียว ประเทศสหรัฐอเมริกา
๒. สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีนโยบายการพัฒนาห้องสมุดให้เป็น Green Library ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Green University ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมุ่งเน้นการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในเรื่องการประหยัดพลังงานและการอนุรัษ์สิ่งแวดล้อม

๔. แนวทางการพัฒนาห้องสมุดด้วยเทคโนโลยี
กล่าวถึงรายงานวิจัยของ Mckinsey Quartery Report  เกี่ยวกับแนวโน้มเทคโนโลยีว่าเป็นอย่างไร
Technology usage for development in library

  • Card catalog / Print indices
  • Online catalog / Individual CD- Rom workstations
  • Networked CD-Rom + Full text + online (Direct CD-Rom)
  • ILS : Host Base, Client Server
  • Web based OPAC
  • Online Database

หลังปี ๒๕๔๖ – ๒๕๔๘

  • Single search : ILS, Local database, Online database, Metadata, Archive (รวม Freeware ด้วย)
  • Single search with comprehensive indices
  • ILS – DB Search – Metadata – Archive – Adhoc -  Single search

๕. การพัฒนาเทคนิคการให้บริการในห้องสมุดยุคใหม่ : User engagement การรับมือกับผู้ใช้บริการ การเข้าถึงผู้ใช้โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่
ปัจจุบันภารกิจห้องสมุด ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่การจัดเก็บและให้บริการหนังสือเท่านั้น บางหน่วยงานมีการปรับเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วย จึงทำให้แนวทางการให้บริการเปลี่ยนไป ที่เรียกว่า New service model ซึ่งมี 3 ข้อ คือ

  • Experience base services เป็น Consultant content
  • Download transfer
  • Infographics เป็นรูปแบบใหม่ในการสื่อสารของห้องสมุด

นอกจากนี้ยังมีการจัดประชุม User engagement ในกลุ่มห้องสมุดประเทศอาเซียน ตัวแทนของประเทศไทยที่เข้าร่วมประชุม มี ๔ สถาบัน คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยบูรพา พร้อมยกตัวอย่างห้องสมุดในแต่ละประเทศที่จัดกิจกรรมในเรื่อง User engagement คือ

ประเทศฟิลิปปินส์

  • Faculty, student involvement
  • Social media : facebook, twitter
  • Friends of the library
  • Game, contests, fairs, movies
  • Face to face reference
  • Digital reference service, chat
  • Radio broadcast
  • Library website

ประเทศสิงคโปร์

  • Content creation service
  • Course blog (e-learning, online chat service)
  • Repository platforms
  • Library automation system
  • Social media tools, blogs etc.

ประเทศมาเลเซีย

  • Personal consultation services
  • Enhancing library space
  • Utilization of information technology
  • Web 2.0 application
  • Library services via mobile technology
  • Supporting research & publication
  • Engaging university community through community outreach programmes

ประเทศอินโดนีเซีย

  • Move forward to m (mobile) – library from digital library
  • Mobile website
  • Mobile app.

ประเทศไทย กิจกรรมในส่วนของประเทศไทย คือ

  • Interacting with faculty members students and researchers
  • Partnering in research
  • Partnering with the university community : research support
  • Accessing user needs : user surveys, focus group

การสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้ ไม่เพียงพอแล้ว ห้องสมุดต้องดูความสัมพันธ์ของผู้ใช้ ว่าใช้แล้ว กลับมาใช้ใหม่อีกครั้งหรือไม่ มีการบอกต่อ มีการแก้ต่างให้เมื่อมีข้อสงสัย รวมทั้งนึกถึงห้องสมุดก่อนกูเกิ้ล

๖. การพัฒนาตัวบ่งชี้คุณภาพห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา : กรณีศึกษาข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULLINET)
ทางทีมงานได้ศึกษาโมเดลของ SIPOC (Stakeholder Input Process Output Customer) model management process โดยกล่าวว่าเป็นการยากในการทำงาน แต่เป็นความท้าทายของห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งหากสำเร็จจะเป็นต้นแบบให้กับห้องสมุดทุกระดับในประเทศ ได้ยกตัวอย่างตัวชี้วัดใน ๒ งาน คือ

  • CP1 กระบวนการจัดการทรัพยากรสารสนเทศ : กระบวนการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ กระบวนการจัดซื้อหนังสือ
  • CP2 กระบวนการให้บริการของห้องสมุด (Library services) : กระบวนการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า (Reference services)

ตัวอย่าง
CP1 กระบวนการจัดการทรัพยากรสารสนเทศ : กระบวนการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ กระบวนการจัดซื้อหนังสือ

Stakeholder (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) : ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารห้องสมุด ผู้ปฏิบัติงานจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศ ผู้ปฏิบัติงานวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ผู้ปฏิบัติงานบริการ ผู้ปฏิบัติงานคอมพิวเตอร์ ผู้ปฏิบัติงานพัสดุ ผู้ปฏิบัติงานการเงินบัญชี ตัวแทนจำหน่าย ผู้ใช้บริการที่เสนอรายการหนังสือเพื่อการสั่งซื้อ
KPI : ร้อยละของหนังสือที่จัดซื้อสอดคล้องกับหลักสูตร หนังสือที่จัดซื้อมีการใช้งานในช่วงกี่ปีหลังการจัดซื้อ ระยะเวลาในการได้รับหนังสือหลังจากการเสนอแนะ

Input (ปัจจัยนำเข้า) : งบประมาณ นโยบายการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ แผนการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ คู่มือการปฏิบัติงานจัดซื้อ มาตรฐานห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาด้านทรัพยากรสารสนเทศ หลักสูตรการเรียนการสอน ผู้ปฏิบัติงานจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศ ระเบียบการเงินและพัสดุ รายชื่อตัวแทนจำหน่ายและข้อมูล/ประวัติการให้บริการรายการหนังสือที่ต้องการจัดซื้อ รายชื่อหนังสือของสำนักพิมพ์/ตัวแทนจำหน่าย ข้อมูลความต้องการหนังสือของผู้ใช้บริการ ข้อมูลประเภทและจำนวนของผู้ใช้กลุ่มเป้าหมาย ฐานข้อมูลบรรณานุกรมของห้องสมุด ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ
KPI :
๑. มีนโยบายการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ (Collection development policy) / แนวปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรและมีการทบทวนทุก ๓ ปี
๒. มีแผนในการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ (Collection development plan) และมีการทบทวนทุกปีตามความก้าวหน้าของวิทยาการแต่ละศาสตร์
๓. ไม่มีข้อร้องเรียนเรื่องความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อ
๔. ระดับสมรรถนะ (KSA) : ความรู้ (K-knowledge) ทักษะ (S-skill) และคุณลักษณะ (A-attribute) ที่พึงประสงค์ของผู้ปฏิบัติงานจัดซื้อหนังสือ
๕. จำนวนช่องทางในการเสนอแนะการจัดซื้อหนังสือ
๖. ความถี่ในการตรวจสอบฐานข้อมูลบรรณานุกรมของห้องสมุด
๗. ความถี่ในการตรวจสอบระบบ

Process (กระบวนการจัดซื้อหนังสือ) : รวบรวมและคัดเลือกรายการหนังสือที่ต้องการจัดซื้อ ตรวจสอบรายชื่อหนังสือกับฐานข้อมูลบรรณานุกรมของห้องสมุด พิจารณารายการและจำนวนหนังสือที่จัดซื้อ แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้เสนอแนะทราบ ขอใบเสนอราคาของรายชื่อหนังสือที่จะจัดซื้อจากผู้แทนจำหน่าย จัดซื้อตามระเบียบพัสดุ ตรวจรับ ประทับตราห้องสมุด บันทึกข้อมูลในระบบห้องสมุดอัตโนมัติ แจ้งผลการซื้อให้ผู้เสนอแนะ/สั่งซื้อทราบ ส่งตัวเล่มให้งานวิเคราะห์สารสนเทศ
KPI :
๑. ความถูกต้องของกระบวนการจัดซื้อ (ร้อยละ ๑๐๐)
๒. ระยะเวลาการแจ้งผลการพิจารณาการสั่งซื้อให้ผู้เสนอแนะ สั่งซื้อทราบ หลังจากได้รับการเสนอแนะ
๓. ระยะเวลาการแจ้งผลการสั่งซื้อให้ผู้เสนอแนะ/สั่งซื้อทราบ หลังจากได้รับตัวเล่ม
๔. ร้อยละของหนังสือที่จัดซื้อได้ตามแผนการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ
๕. มีระบบและกลไกการพัฒนาความรู้และทักษะของผู้ปฏิบัติงานจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศ
๖. จำนวนนวัตกรรม/แนวปฏิบัติที่ดีด้านการจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศในแต่ละปี

0utput (ชิ้นงาน/บริการ) : หนังสือที่จัดซื้อ บริการจัดซื้อหนังสือ ข้อมูลหนังสือใหม่ในระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ซึ่งเป็น Pre cataloging
KPI :
๑. ร้อยละของหนังสือที่จัดซื้อตรงกับรายการที่สั่งซื้อ
๒. ร้อยละของหนังสือที่จัดหาได้ทันเวลาที่กำหนด
๓. ร้อยละของความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลหนังสือใน Pre cataloging

Customer (ผู้ใช้บริการ) : ผู้ใช้บริการที่เสนอรายชื่อหนังสือเพื่อการสั่งซื้อ ผู้ปฏิบัติงานวิเคราะห์สารสนเทศ
KPI :
๑. ร้อยละความพึงพอใจของผู้ใช้บริการต่อกระบวนการจัดซื้อหนังสือ
๒. ร้อยละความพึงพอใจของผู้ปฏิบัติงานวิเคราะห์ต่อข้อมูลหนังสือ Pre cataloging รายชื่อและตัวเล่มที่ได้รับ

CP2 กระบวนการให้บริการของห้องสมุด (Library services) : กระบวนการบริการผู้ใช้ (User services) กระบวนการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า (Reference services)

Key stakeholder : ผู้บริหารห้องสมุด ผู้ปฏิบัติงานวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ผู้ปฏิบัติงานคอมพิวเตอร์ ผู้ปฏิบัติงานบริการยืมระหว่างห้องสมุด ตัวแทนจำหน่าย คณะทำงาน ผู้ใช้บริการที่ขอใช้บริการตอบคำถาม
KPI :
๑. ระยะเวลาในการได้รับข้อมูลหลังจากการร้องขอ
๒. ความถูกต้องและตรงกับความต้องการของข้อมูลที่ได้รับ
๓. จำนวนช่องทางการขอใช้บริการ

Key input : นโยบายหรือแนวปฏิบัติการบริการตอบคำถามของห้องสมุด คำถาม คู่มือการปฏิบัติบริการตอบคำถาม ฐานข้อมูลบรรณานุกรมห้องสมุด ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ทรัพยากรสารสนเทศ เว็บไซต์ห้องสมุด แหล่งสารสนเทศบนอินเทอร์เน็ต Search engine ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ คู่ความร่วมมือ ผู้ปฏิบัติงานบริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า
KPI :
๑. แนวปฏิบัติในการบริการตอบคำถามเป็นลายลักษณ์อักษรและมีการทบทวนทุก ๒ ปี
๒. ระดับสมรรถนะ (KSA) ของผู้ปฏิบัติงานบริการตอบคำถาม
๓. ความถี่ในการตรวจสอบฐานข้อมูลบรรณานุกรมของห้องสมุด
๔. ความถี่ในการตรวจสอบระบบห้องสมุดอัตโนมัติและเครือข่ายคอมพิวเตอร์

Sub Process : รับคำถาม วิเคราะห์คำถาม พิจารณาการใช้แหล่งข้อมูลและเครื่องมือ (Tools) ในการตอบคำถาม ให้คำตอบ (ชี้แหล่งให้ข้อมูล) พัฒนาความรู้และทักษะของผู้ปฏิบัติงานบริการตอบคำถาม
KPI :
๑. ระยะเวลาในการตอบคำถาม (คำถามง่ายหรือยาก) ตั้งแต่รับคำถามจนถึงให้คำตอบ
๒. ความถูกต้องและตรงกับความต้องการของข้อมูลที่ให้บริการ
๓. มีระบบและกลไกการพัฒนาความรู้และทักษะของผู้ปฏิบัติงานบริการตอบคำถาม
๔. จำนวนนวัตกรรม / แนวปฏิบัติที่ดีด้านการบริการตอบคำถาม

Key output : คำตอบตามคำขอใช้บริการ บริการตอบคำถาม
KPI :
๑. ความถูกต้องและตรงกับความต้องการของข้อมูลที่ให้บริการ
๒. ระยะเวลาในการตอบคำถาม (คำถามง่ายหรือยาก) ตั้งแต่รับคำถามจนถึงให้คำตอบ

Key customer : ผู้ใช้ห้องสมุดที่ใช้บริการตอบคำถาม
KPI : ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการต่อกระบวนการบริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า

แหล่งที่มา : การสัมมนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ ๓๐. ความท้าทายของห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษายุคใหม่. วันที่ ๒-๓ ธันวาคม ๒๕๕๖. เชียงใหม่ : โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง.

 

 

 

 

 

 

 

 – ( 305 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


− eight = 1

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>