magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก สู้ตลาดโลกด้วยงานวิจัย
formats

สู้ตลาดโลกด้วยงานวิจัย

เวทีประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยประจำปีของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นอีกเวทีหนึ่งที่นำเสนอผลงานที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการจนถึงขั้นนำไปใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจอื่นๆ เกิดไอเดียที่จะลุกขึ้นมาสู้ด้วยงานวิจัย

:ไอทีกับไหมไทย

โจทย์การนำไอทีเข้าไปใช้กับอุตสาหกรรมไหมไทยเกิดขึ้นราว 1 ปีก่อนโดยความร่วมมือระหว่าง ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร รองผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) นักวิจัยเนคเทคและทีม กับ นายวัชรพงษ์ แก้วหอม ผู้อำนวยการ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สระบุรี ซึ่งเป็นผู้เสนอโจทย์และร่วมโครงการวิจัยนำร่องผู้อำนวยการ วัชรพงษ์ กล่าวว่า การทำธุรกิจหม่อนไหมทุกวันนี้ไม่ง่าย ต้องต่อสู้กับอุปสรรคหลายอย่าง ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกพ่อแม่พันธ์ การคัดแยกเพศ การเพิ่มปริมาณไข่ การผลิตใบหม่อนสำหรับเลี้ยงไหม ไปจนถึงขั้นตอนการสาวไหมก่อนที่จะนำไปทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม ทำให้ปริมาณเกษตรกรที่ทำอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมลดลงเรื่อยๆ

“ปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมลดลงจาก 4,000 กว่ารายทั่วประเทศเหลือเพียง 2,000 กว่าราย โดยส่วนใหญ่หันไปปลูกพืชเศรษฐกิจที่ภาครัฐส่งเสริมให้ปลูกมากขึ้น ทำให้ทางศูนย์ฯ มองว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้สืบต่อไป”เจ้าของโจทย์ กล่าว

นักวิจัยเนคเทค กล่าวว่า หลังได้โจทย์มาแล้ว ทีมวิจัยได้พัฒนาระบบบริหารจัดการ อาทิ สถานีวัดอากาศ ความเร็วลม ความชื้น อุณหภูมิ เพื่อการบริหารจัดการน้ำและปุ๋ย พัฒนาระบบการผลิตหม่อนและเพิ่มคุณภาพในกระบวนการเลี้ยงไหม เครื่องคัดเพศ เครื่องฟักไข่ เครื่องนับไข่ ตลอดจนระบบมาตรฐานการวัดคุณภาพเส้นไหมหลังสาวเสร็จ และโปรแกรมเก็บข้อมูลและออกแบบลายผ้า เพื่อให้ธุรกิจปลูกหม่อนเลี้ยงไหมสามารถเดินหน้าต่อได้อย่างครบวงจรและยั่งยืน

“ในปีหน้าเนคเทคจะร่วมกับกรมหม่อนไหม นำงานวิจัยไปขยายผลยังศูนย์หม่อนไหม 21 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ภาคเกษตรกรสามารถประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้อย่างมีคุณภาพ รวมถึงเพิ่มจำนวนรอบการเลี้ยง จาก 8-12 รอบ เป็นเกือบ 20 รอบต่อปี โดยเกิดรายจากการขายไหมที่ยั่งยืนกว่าที่ผ่านมา”รองผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าว

:อิเล็กทรอนิกส์ในคลังเลือด

เฉลิมชัย เอี่ยมสอาด ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ทีเม็กซ์) กล่าวว่า ปัญหาการควบคุมอุณหภูมิในการเก็บรักษาเลือด และเวชภัณฑ์เป็นอีกโจทย์ที่ทีมวิจัยได้รับจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ในปี 2554 เพราะอุปสรรคในการเก็บรักษาโลหิตและเวชภัณฑ์ที่ขาดระบบเฝ้าระวังและติดตามอุณหภูมิ ทำให้บางครั้งเกิดความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิฉับพลันได้

ทีมวิจัยโดยดร.อัมพร โพธิ์ใย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อรับโจทย์ได้เข้าไปเก็บข้อมูลด้านปัญหาและอุปสรรคการทำงาน พร้อมกับพัฒนาระบบติดตามอุณหภูมิและสัญญาณเตือน สำหรับนำไปติดตั้งที่บริเวณตู้แช่ เพื่อให้รายงานผลอุณหภูมิตู้แช่แบบเรียลไทม์ และผู้ดูแลสามารถแก้ไขปัญหาจากเซิร์ฟเวอร์ หรือเข้าไปดูแลด้วยตัวเองได้ทันก่อนที่จะเกิดความเสียหาย

“ตอนนี้อุปกรณ์ดังกล่าวถูกนำไปติดตั้งใช้งานที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยแล้ว โดยในปีหน้าจะมีการขยายผลไปยังสถานพยาบาลอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บรักษาโลหิตและเวชภัณฑ์ รวมถึงการประยุกต์ใช้งานในอุตสาหกรรมอาหาร และผลผลิตทางการเกษตร”ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กล่าว

:หนังสืออิเล็กทรอนิกส์

ดร.ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล นักวิจัยห้องปฏิบัติการเสียงพูด ศูนย์เนคเทค กล่าวว่า โจทย์ที่ตนได้คือการพัฒนาหนังสือที่สามารถอ่านได้ทั้งคนตาดีและผู้ที่มีปัญหาทางสายตา เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้พิการทางสายตาในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ไม่ต่างจากคนตาปกติ

โจทย์ดังกล่าวทำให้เกิดการพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ภายใต้มาตรฐานอีผับ (EPUB) ซึ่งเอกสารที่ได้จากไฟล์สกุลอีผับนั้น ส่วนของเนื้อหาจะสามารถปรับ หรือจัดเรียงข้อความได้อัตโนมัติเพื่อให้สอดรับกับขนาดหน้าจอของผู้ใช้งาน ทั้งยังแปลงเนื้อหาเป็นเสียงแม้จะเป็นไฟล์ภาพสกุล PDF โดยทำงานร่วมกับโปรแกรมรีดเดอร์และโหมดการสั่งการด้วยเสียงของโทรศัพท์ ทำให้สื่อนั้นๆ สามารถใช้งานได้ทั้งคนตาดีและผู้พิการทางสายตาในเวลาเดียวกัน

“ตอนนี้เนคเทคมีโนฮาวน์ที่จะพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวแล้ว เฟสต่อไปตั้งเป้าจะเริ่มงานกับหน่วยงานของภาครัฐเป็นรายแรก เพื่อให้เริ่มต้นจากการพัฒนาสื่อการเรียนรู้พื้นฐานก่อนที่จะ ขยับไปพัฒนาสื่อการเรียนการสอน รวมถึงหนังสือทั่วไปในอนาคต โดยประโยชน์ที่เกิดขึ้นคือ ผู้พิการทางสายตาจะเข้าถึงหนังสือและตำราได้เหมือนคนปกติ”นักวิจัย กล่าว

เหล่านี้เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เนคเทคนำมาเสนอในเวทีประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยประจำปีของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ประจำปี 2556 ซึ่งพร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ โดยผู้สนใจสามารถเข้าไปดูผลงานอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.nectec.or.th

รายการอ้างอิง :
กานต์ดา บุญเถื่อน. 2556.สู้ตลาดโลกด้วยงานวิจัย. กรุงเทพฯ : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต, http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/innovation/20131226/552359/สู้ตลาดโลกด้วยงานวิจัย.html. ค้นเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2556.– ( 33 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


× 9 = eighty one

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>