โลหิต วัคซีน เซรุ่ม รวมถึงยาราคาแพง ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ต้องเก็บรักษาภายใต้สภาวะอุณหภูมิที่กำหนด และเสี่ยงต่อการเสียหาย โดยเฉพาะเมื่อไฟดับ หรืออุปกรณ์จัดเก็บอย่างตู้เย็นมีการทำงานที่ผิดพลาด
เพื่อลดความเสียหายดังกล่าว ทีมวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ทีเมค) หน่วยงานภายใต้เนคเทคหรือศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงร่วมกับสภากาชาดไทย พัฒนาระบบติดตามอุณหภูมิพร้อมสัญญาณเตือน (Temperature Monitoring System (TMS) with Alerting Signal) ขึ้น
“เฉลิมชัย เอี่ยมสะอาด” ฝ่ายการตลาดศูนย์ทีเมค บอกว่า ทีเมคพัฒนาระบบดังกล่าวขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยนำเซ็นเซอร์ที่ทีเมคผลิตได้เองมาต่อยอดใช้งานกับการตรวจจับเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และสามารถแจ้งเตือนได้แบบเรียลไทม์เมื่อมีอุณหภูมิเปลี่ยนไปจากที่กำหนดไว้
อุปกรณ์หลักของระบบ ประกอบด้วย ทรานสมิตเตอร์ (Transmitter) และเซนเซอร์ เบส สเตชั่น (Base Station) ซอฟต์แวร์ คอมพิวเตอร์ และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
ทรานสมิตเตอร์และเซนเซอร์ จะทำหน้าที่อ่านค่าและบันทึกค่าอุณหภูมิ แสดงสถานะเชื่อมต่อกับ เบส สเตชั่น แสดงระดับพลังงานแบตเตอรี่สำรองเมื่อไฟฟ้าดับ แจ้งเตือนด้วยแสงและเสียง เมื่ออุณหภูมิอยู่นอกค่าควบคุม จะมีฟังก์ชั่นการปรับค่าอุณหภูมิในการสอบเทียบอุณหภูมิ ส่งข้อมูลไปที่ เบส สเตชั่นแบบไร้สาย
ส่วนเบส สเตชั่น จะทำหน้าที่รับข้อมูลจากทรานสมิตเตอร์ ได้ถึง 20 เครื่อง บันทึกค่าอุณหภูมิ แสดงสถานะเชื่อมต่อกับทรานสมิตเตอร์ แสดงระดับพลังงานแบตเตอรี่สำรองเมื่อไฟฟ้าดับ แจ้งเตือนด้วยแสง เสียงและส่งเอสเอ็มเอสเมื่ออุณหภูมิอยู่นอกค่าควบคุม ส่งข้อมูลไปที่คอมพิวเตอร์แม่ข่ายด้วยสายแลน
ซอฟต์แวร์และคอมพิวเตอร์ มีหน้าที่กำหนดการทำงานของระบบ แสดงผลอุณหภูมิเป็นแบบตัวเลขและกราฟ ประวัติการแจ้งเตือน กำหนดค่าอุณหภูมิที่ควบคุมและแจ้งสัญญาณเตือน มี ฟลอร์ แพลน (Floor Plan ) แสดงตำแหน่งการติดตั้งเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ ที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิและอุปกรณ์ระบบ รวมถึงภาพถ่ายเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิ รวมถึงกำหนดขอบเขตการใช้งาน สำหรับผู้ใช้งานต่าง ๆ ได้
คุณเฉลิมชัย บอกว่า หากระบบเสียหาย ผู้ดูแลสามารถดูสถานะการทำงานและแก้ไขระบบจากภายนอกผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ทันที
ทั้งนี้ระบบดังกล่าวได้มีการทดสอบใช้งานแล้วกับตู้เก็บโลหิตของสภากาชาดไทยรวมถึงในโรงพยาบาลบางแห่งและกำลังขยายไปสู่การใช้งานทั่วประเทศ
ซึ่งจุดเด่นของระบบ นอกจากจะเสถียรเหมาะกับลูกค้าทั้งในกลุ่มโรงพยาบาล และภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีราคาถูกกว่าระบบที่นำเข้าจากต่างประเทศกว่า 50% ขณะที่มีฟังก์ชั่นการทำงานเทียบเท่าหรือดีกว่า โดยเฉพาะมีระบบซอฟต์แวร์ที่สามารถปรับปรุงได้ตามความต้องการอีกด้วย
และนี่ก็คือ..ผลงานและฝีมือของนักวิจัยไทย ที่ยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนในการต่อยอดและย่อมนำไปใช้จริง ๆ ไม่ใช่แค่ทดสอบแล้วซื้อแต่ของนอกอีกต่อไป.
รายการอ้างอิง :
นาตยา คชินทร. ตรวจจับอุณหภูมิด้วยเซ็นเซอร์ฝีมือนักวิจัยไทย. (2557). กรุงเทพฯ : เดลินิวส์. ค้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557. จาก http://www.dailynews.co.th/Content/IT/206882/ตรวจจับอุณหภูมิด้วยเซ็นเซอร์ฝีมือนักวิจัยไทย.– ( 20 Views)