รายงานข่าวจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ แจ้งว่า คณะนักวิจัยไทย นำโดย ศ.ดร. ทิมโมที ฟลีเกล ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือของศูนย์พันธุวิศวกรรมและ เทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติและคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับคณะนักวิจัยไต้หวันนำโดย Prof. Chu Fang Lo จาก National Cheng Kung University (NCKU)) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวิธีการตรวจแบคทีเรียสาเหตุกุ้งตายด่วน EMS ด้วยเทคนิคพีซีอาร์ (PCR) ซึ่งการตรวจแบคทีเรียก่อโรคได้นี้จะช่วยลดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของ เชื้อก่อโรค EMS ลงได้ และลดความเสี่ยงในการระบาดของแบคทีเรียชนิดนี้ต่อไปทั้งนี้ปัญหากุ้งตายด่วน หรือกุ้ง EMS เริ่มมีการระบาดครั้งแรกในประเทศจีน ในปี 2552 และมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วสู่ประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และไทย ในปี 2553-2555 จากตัวอย่างกุ้งตายด่วนที่ทำการศึกษา พบว่ามีตัวอย่างที่มีโรคของตับและตับอ่อนวายฉับพลัน เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังการปล่อยลูกกุ้งลงบ่อดินไม่เกิน 35 วัน ในต้นปี 2556 พบว่าแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคนี้คือแบคทีเรียในกลุ่ม Vibrio parahaemolyticus ในขณะนั้นถึงแม้จะทราบสาเหตุของโรค แต่การควบคุมและป้องกันแบคทีเรียสาเหตุนี้เป็นไปได้ยาก เนื่องจากยังขาดวิธีการตรวจวินิจฉัยเชื้อก่อโรคที่มีความจำเพาะและรวดเร็ว ที่สามารถจะนำไปใช้ตรวจหาเชื้อก่อโรคในพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และคัดกรองลูกกุ้งก่อนปล่อยลงบ่อดินได้
อย่างไรก็ดีด้วยเล็งเห็นถึงผลกระทบของโรคระบาดนี้ต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยง กุ้งในระดับโลก และความเร่งด่วนที่จะต้องควบคุมการระบาด คณะนักวิจัยจึงได้เปิดเผยข้อมูลต่างๆ ทั้งวิธีการ และลำดับเบสในการออกแบบไพรเมอร์สำหรับตรวจหาเชื้อดังกล่าวสู่สาธารณะ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำวิธีการไปใช้เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของโรค ได้อย่างกว้างขวางต่อไป.
รายการอ้างอิง :
ไทย-ไต้หวันพัฒนาวิธีตรวจสาเหตุกุ้งตายด่วน. (2557). กรุงเทพฯ : เดลินิวส์. ค้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557. จาก http://www.dailynews.co.th/Content/IT/207149/ไทย-ไต้หวันพัฒนาวิธีตรวจสาเหตุกุ้งตายด่วน.– ( 58 Views)