แม้ลมหนาวจะเริ่มคลายตัวจากคนไทยแล้ว แต่หลายพื้นที่ของโลกยังประสบภัยหนาวแสนสาหัส โดยเฉพาะพื้นที่ได้รับอิทธิพลของมวลอากาศจากขั้วโลกเหนือ หรือ “โพลาร์วอร์เทกซ์” ที่มีอุณหภูมิติดลบไปหลายสิบองศาเซลเซียส เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เราสรุปได้หรือไม่ว่า เราไม่ได้ประสบภาวะโลกร้อน?
“ไม่” คือคำตอบ โดยรายงานของไลฟ์ไซน์อธิบายว่า สิ่งสำคัญที่เราต้องเข้าใจคือ “สภาพอากาศ” ไม่ใช่ “ภูมิอากาศ” และการเกิดพายุเพียงลูกเดียวไม่ใช่หลักฐานแย้งเรื่องโลกร้อน (global warming) ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ สทอภ. พยายามอธิบายแก่ผู้สื่อข่าวและสังคมอยู่บ่อยครั้ง
“เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้าใจว่า สภาพอากาศก็เหมือนการแข่งฟุตบอลสักเกม ส่วนภูมิอากาศก็เหมือนประวัติการแข่งขันลีกฟุตบอลระดับชาติ” ไลฟ์ไซน์ระบุความเห็นของ ไมค์ เนลสัน (Mike Nelson) นักอุตุนิยมวิทยาอาวุโสประจำสถานีโทรทัศน์ KMGH ในเดนเวอร์ สหรัฐฯ ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก
แม้ว่าตอนนี้สหรัฐฯ และแคนาดาจะเผชิญอากาศหนาวเหน็บยิ่งกว่าตู้แช่แข็งจากอิทธิพลของมวลอากาศจากขั้วโลกเหนือ (Polar Vortex) แต่ข้อมูลที่บันทึกโดยสำนักบริการสภาพอากาศระดับชาติ (National Weather Service) ของสหรัฐฯ ตั้งแต่กลางศตวรรษ 1800 เผยว่าในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา อุณหภูมิในช่วงหน้าหนาวของประเทศโดยเฉลี่ยนั้นอุ่นขึ้น
ตัวอย่างที่ชี้ว่าอากาศอุ่นขึ้น เช่น ทะเลสาบในมิดเวสต์นั้นแข็งตัวช้ากว่าปกติ และแผ่นน้ำแข็งยังบางกว่าที่เคย ทำให้การตกปลาบนแผ่นน้ำแข็งเป็นเรื่องอันตรายมากขึ้น หรือฤดูใบไม้ผลิก็มาเยือนสหรัฐฯ เร็วกว่าเมื่อ 20 ปีก่อนเกือบครึ่งเดือน ต้นไม้และดอกไม้ก็ผลิบานเร็วขึ้น ขณะที่นกและแมลงก็มาเร็วกว่าปกติด้วย เป็นต้น
รายการอ้างอิง :
หนาวจริง…แต่โลกยังร้อนอยู่. (2557). กรุงเทพฯ : ผู้จัดการ. ค้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2557. จาก http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9570000002652.
– ( 11 Views)