ลายของม้าลาย เป็นปริศนาที่บรรดานักชีววิทยาพยายามไขมานานแล้ว ตั้งแต่ยุคของชาร์ลส์ ดาร์วินส์ และอัลเฟรด รัสเซล วอลเลส สองนักชีววิทยาชื่อก้องโลก แต่ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน เพียงเป็นการตั้งทฤษฎีกว้างๆ ว่า มีไว้ใช้เป็นสัญญาณการสื่อสารทางสังคม เพื่อพรางตัวในตอนกลางคืนในแหล่งอาศัยที่เต็มไปด้วยสีเขียว หรือหลอกตาศัตรูหรือแมลงดูดเลือดทำให้ตาพร่ามัว
ล่าสุด มีผลศึกษาของนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ในออสเตรเลีย ตีพิมพ์ในวารสารสัตว์วิทยา ที่ได้คำตอบนี้แล้วว่า ลายขาว-ดำพาดตามตามเนื้อตัว เป็นการสร้างภาพลวงตาเวลาเคลื่อนไหว เพื่อทำให้ผู้ล่าสับสน คล้ายกับชุดพรางที่ทหารใช้ในสนามรบเพื่อสร้างสถานการณ์พร่ามัวล่อหลอกฝ่ายตรงข้าม
จากการวิเคราะห์ภาพถ่าย คลิปวิดีโอม้าลาย และแบบจำลองคอมพิวเตอร์ ทีมนักวิจัยพบว่า ริ้วลายพาดขาว-ดำ คือการให้ข้อมูลลวงแก่สายตาของสัตว์ชนิดอื่น ซึ่งหมายถึงการป้องกันตัวจากนักล่าตัวเล็กตัวน้อยตั้งแต่แมลงจิ๋วดูดเลือด จนถึงเสือ สิงโต
ดร.มาร์ติน ฮาว นักวิจัยที่ศึกษาประเด็นนี้กล่าวว่า ลายแนวตั้งแคบๆ ด้านหลังและคอของม้าลาย กับริ้วทแยงมุมพาดขวางด้านข้างลำตัว เป็นการส่งสัญญาณการเคลื่อนไหวอย่างคาดการณ์ไม่ได้ และสัญญาณนี้จะยิ่งแรงขึ้นเวลาเคลื่อนที่กันเป็นฝูง การหลอกตาเช่นนี้ ทำให้แมลงและสัตว์นักล่าอื่นๆ เข้าใจทิศทางการเคลื่อนไหวของม้าลายผิด ทำให้ฝ่ายที่จ้องทำร้ายกะเวลาโจมตีผิดพลาด ลักษณะการลวงตาแบบนี้จะว่าไปก็คล้ายกับเสาที่ตั้งตามหน้าร้านทำผม เรามองเห็นริ้วสีแดงเคลื่อนที่ขึ้นไปด้านบนเวลาที่เสากำลังหมุนรอบ
สัตว์จำนวนมากรวมทั้งมนุษย์ มีสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า กลไกตรวจจับความเคลื่อนไหว โดยที่กลไกและกระบวนการเบี่ยงเบน ดูเหมือนจะขึ้นกับการเคลื่อนไหวตามลักษณะของสัตว์นั้นๆ นอกจากม้าลายแลัว ยังมีปลา ฮัมบัค แดมเซล หรืองูลายปล้อง ที่มีลาดพาดดำสลับขาว ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าอาจทำหน้าที่อย่างเดียวกัน
รายการอ้างอิง :
ไขปริศนาม้าลาย..ลายขาว-ดำเพื่อ? เวิลด์วาไรตี้ : ไขปริศนาม้าลาย ..ลายขาว-ดำเพื่อ? . (2557). กรุงเทพฯ : คม ชัด ลึก (ต่างประเทศ : คอลัมน์เด็ด). ค้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2557. จาก http://www.komchadluek.net/detail/20131221/175221.html.– ( 8 Views)