ดร.สมพร จองคำ ผอ.สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า สทน.ส่งผลงานของนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ ได้แก่ ดร.กนกพร บุญศิริชัย และ ดร.สุวิมล เจตะวัฒนะ ชื่อว่า Radiationinduced DNA Double Strand Breaks and Their Modulations by Herbal Treatments : A Cancer Cell Culture Model ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสมุนไพรไทย เพื่อประกวดผลงานวิจัยในระดับนานาชาติประเภทรางวัล Atom Indonesia Best Paper Award ซึ่งเป็นรางวัลที่พิจารณาให้กับผู้เข้าร่วมเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการ International Conference on Sources, Effects and Risks of Ionizing Radiation (SERIR) จัดโดยองค์การพลังงานนิวเคลียร์แห่งประเทศอินโดนีเซีย (BATAN) ที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีผู้ส่งงานวิจัยเข้าร่วมประกวดมากกว่า 50 ผลงาน โดยผลการประกวดผลงานวิจัยปรากฏว่านักวิจัยของ สทน.ได้รับรางวัลดีเด่น ในกลุ่มงานวิจัยประเภทผลกระทบของรังสีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Health and Environmental Effects of Radiation)
ด้าน ดร.กนกพรกล่าวว่า ผลงานวิจัยดังกล่าวเพื่อศึกษาว่า สารสกัด สมุนไพรโดยเฉพาะมะรุม สมุนไพรซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภคเพราะเชื่อว่าสามารถต้านมะเร็งบางชนิด และต้านอนุมูลอิสระ จะมีผลกระทบอย่างไรต่อการตอบสนองของเซลล์มะเร็งต่อรังสีแกมมาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ฉายรังสีแกมมารักษา ทั้งนี้การทดลองเริ่มต้นโดยสกัดสมุนไพรสารสกัดหยาบจากใบมะรุม และเซลล์มะเร็งที่ใช้ คือเซลล์มะเร็งเต้านม ผลกระทบที่ทำการตรวจวัด คือ การแตกหักของดีเอ็นเอภายในเซลล์มะเร็ง ผลการทดลองพบว่าสารสกัดหยาบจากใบมะรุมมีผลลดการแตกหักของดีเอ็นเอในเซลล์มะเร็งเต้านมที่ได้รับรังสีแกมมา หมายความว่าสารจากใบมะรุมจะไปลดการทำลายเซลล์มะเร็งของรังสีแกมมา ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมหากต้องรักษาด้วยการฉายรังสี แต่รับประทานสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งหรือต้านอนุมูลอิสระ จะทำให้การฉายรังสีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร เซลล์มะเร็งจะถูกทำลายจากรังสีได้น้อยลง อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ครอบคลุมการทดลองกับเซลล์ที่เพาะเลี้ยงในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น.
รายการอ้างอิง :
วิจัยพบมะรุมต้านรังสีรักษามะเร็ง. (2557). กรุงเทพฯ : ไทยรัฐ (การศึกษา). ค้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2557. จาก https://www.thairath.co.th/content/edu/393321.– ( 48 Views)