หากมองย้อนไปในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นว่า โลกเรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลานะครับ แรก ๆ ก็เป็นยุคโบราณ (Ancient Age) จนเปลี่ยนถ่ายมาเป็น
ยุคเกษตรกรรม (Agriculture Age) ที่การเพาะปลูกและการใช้แรงงานในภาคเกษตร กรรมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโลก ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาเครื่องจักรต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกเพิ่มมากขึ้น ก็เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม (Industrial Age) และในที่สุดก็เปลี่ยนถ่ายเข้ามาสู่ปัจจุบัน ยุคสารสนเทศ (Information Age) หรือบางคนก็เรียกว่ายุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ที่มีการขับเคลื่อนโลกของเราด้วยข้อมูลข่าวสาร เกิดอินเทอร์เน็ต เกิดเครือข่ายสังคมออนไลน์ขึ้น เกิดปรากฏ การณ์ที่ข้อมูลข่าวสารปริมาณมหาศาลไหลสู่กันอย่างรวดเร็วกว่าสมัยก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญมาก เช่น เกิดเหตุสึนามิที่ญี่ปุ่น คนที่อยู่ลาตินอเมริกาในอีกซีกโลกก็สามารถรับรู้ข่าวนี้ได้ในเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่วินาที เรียกว่าเป็นยุคที่เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของโลกเราอย่างมากจริง ๆ
แต่คำถามคือเมื่อหมดยุคข้อมูลข่าวสารนี้แล้ว ยุคอะไรจะมาต่อ? เรื่องนี้มีนักวิชาการทั่วโลกพยากรณ์เอาไว้แตกต่างกันครับ บ้างก็บอกน่าจะเป็นยุคแห่ง
เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology Age) บ้างก็ว่าน่าจะเป็นยุคแห่งนาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology Age) ที่ทุกอย่างจะเล่นกันไปถึงระดับที่เล็กมากในระดับนาโน ทั้งสองยุคที่ผมกล่าวไปก็น่าสนใจครับ แต่มีอีกยุคหนึ่งที่นักวิชาการทางคอมพิวเตอร์ท่านหนึ่งได้ทำนายเอาไว้ แต่หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยนัก ใช่ครับ วันนี้ผมจะพาคุณผู้อ่านมารู้จักยุคที่เรียกกันว่า Experience Age
Experience Age อาจจะฟังดูเป็นคำใหม่ หลายคนอาจไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร ผมเองก็บอกตรง ๆ นะครับว่ายังไม่รู้จะแปลคำนี้ออกมาเป็นภาษาไทยอย่างไรให้สละสลวยและได้ความหมายครบถ้วน แต่ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ยุคที่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือการสื่อสารกัน ไม่ได้ถูกจำกัดแค่การอ่านและการฟังอย่างที่เป็นอยู่ แต่หมายรวมถึงการเสพข้อมูลหรือสื่อสารกันผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าอื่น ๆ ด้วย เช่น การสัมผัส หรือแม้แต่การได้รับกลิ่น ส่วนการ
มองเห็นก็อาจจะไม่ใช่เพียงแค่เห็นในหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่อาจจะมีกราฟิกคอมพิวเตอร์โผล่ออกมาให้ข้อมูลเราที่ข้างนอกจอเลย เป็นต้น
เมื่อก่อนเวลาเราจะติดต่อกับใครที่อยู่ไกล เราก็ใช้โทรศัพท์ 2G ได้ยินแต่เสียงไป จนปัจจุบันก็พัฒนามาใช้ 3G/4G ใช้ FaceTime ใช้ LINE คุยกันได้ยินทั้ง
เสียงเห็นทั้งหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ในอนาคตเราอาจสามารถส่งความรู้สึกอย่างอื่นไปด้วยได้ เช่น ความรู้สึก “กอด” ใช่ครับ กอดกันนี่ล่ะครับ เรื่องนี้เป็นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเคโอ ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยทีมวิจัยได้สร้างระบบสำหรับส่งกอดไปให้คนรักเราผ่านทางอินเทอร์เน็ต เช่น คุณแม่กับลูกต้องการที่จะกอดกันแต่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน โดยระบบนี้อาศัยเสื้อแบบพิเศษที่มีเซ็นเซอร์สามารถเก็บข้อมูลตำแหน่งการกอด เพราะฉะนั้นเวลาที่คุณแม่อยากจะกอดลูกก็ให้กอดตุ๊กตาที่บ้านแทน แล้วระบบก็จะส่งข้อมูลการกอดจากตัวตุ๊กตาไปให้ลูกที่เป็นผู้รับปลายทางที่ใส่เสื้อชนิดพิเศษนี้ เพราะฉะนั้นก็จะทำให้ลูกมีความรู้สึกเหมือนคุณแม่กำลังกอดเขาอยู่ตรงหน้าเลย เป็นต้น
นอกจากส่งการกอดแล้ว การส่ง “กลิ่น” ก็มีแนวโน้มที่เป็นไปได้มากในอนาคต แต่ผมไม่ได้หมายถึงส่งกลิ่นเหม็น ๆ นะครับ ผมหมายถึงส่งข้อมูลกลิ่นซึ่งอาจจะหอมหรือเหม็นก็แล้วแต่ เช่น คุณแม่บ้านคุยกับคุณพ่อบ้านพร้อมส่งกลิ่นหอมของอาหารที่ทำรอไว้ไปพร้อมกันด้วย ให้ช่วยเร่งให้คุณพ่อบ้านอยากรีบบินกลับบ้านมาทานอาหารเลย หรือเวลาดูโฆษณาน้ำหอม นอกจากขวดสวย ๆ แล้วถ้าเราสามารถได้กลิ่นของน้ำหอมนั้นได้ด้วย ก็ยิ่งทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เป็นต้น ถ้าถามว่ามีคนทำระบบเรื่องกลิ่น ๆ อย่างนี้ออกมาใช้นอกห้องทดลองบ้างหรือยัง ก็ต้องบอกว่าเริ่มมีให้เห็นแล้วครับ เช่น เกมทำข้าวโพดป๊อปคอร์นบนมือถือ ที่สร้างโดยผู้ผลิตเมล็ดข้าวโพดยี่ห้อ Pop Secret ที่มีการออกแบบอุปกรณ์ชื่อว่า Pop Dongle ขึ้นมาไว้เสียบเข้ากับช่องหูฟังของไอโฟน พอเสียบเสร็จ อุปกรณ์นี้ก็จะสามารถส่งกลิ่นหอม ๆ ของข้าวโพดคั่วออกมาขณะเล่นเกมได้
แต่ประเด็นคือตัวอุปกรณ์เสริมสำหรับดมกลิ่นหรือ Pop Dongle ตัวนี้ราคาอยู่ที่ 150 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,500 บาท เรียกว่าแพงมากนะครับถ้าเทียบกับการไปซื้อข้าวโพดคั่วของจริงที่ราคาไม่กี่สิบบาท เพราะฉะนั้นอุปกรณ์นี้เลยยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรในปัจจุบัน แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นให้สามารถเอาไอเดียไปประยุกต์ใช้กับการสื่อสารสมัยใหม่ได้
อนาคตเป็นเรื่องยากที่จะหยั่งรู้ได้อย่างชัดเจน หรือทำนายได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับ เพราะมีตัวแปรที่ควบคุมได้ยากอยู่หลายตัว สุดท้ายแล้วต่อจากยุคสารสนเทศจะเข้าสู่ยุคไหนจริง ๆ อาจจะยังไม่มีใครในโลกให้คำตอบฟันธงที่แน่ชัดได้ เราคงต้องมาติดตามไปพร้อม ๆ กันครับ แต่ไม่ว่าจะเข้าสู่ยุคไหน ผมเชื่อว่าถ้าเราเรียนรู้ เข้าใจ และปรับตัวไปกับมัน เราก็สามารถนำประโยชน์จากสิ่งใหม่ ๆ เหล่านั้นมาใช้กับตัวเรา องค์กรของเรา และสังคมของเราได้อย่างแน่นอน
รายการอ้างอิง :
ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช. เมื่อจบยุคสารสนเทศ อะไรจะมาต่อ. (2557). กรุงเทพฯ : เดลินิวส์ (รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี). ค้นเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557. http://www.dailynews.co.th/Content/IT/210244/เมื่อจบยุคสารสนเทศ+อะไรจะมาต่อ%09-+รอบรู้ไอที+รอบโลกเทคโนโลยี.
– ( 29 Views)