นักวิจัยสิงคโปร์พัฒนาเทคโนโลยีจำลองรสชาติอาหารช่วยผู้ที่มีปัญหารับรู้รสชาติเพื่อกินได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
วันนี้(26ม.ค.57)นักวิจัยสิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีจำลองรสชาติอาหาร เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยที่มีปัญหารับรู้รสชาติอาหาร สามารถรับประทานอาหารได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนมีความสุขกับการรับประทานอาหาร เนื่องจากรสชาติอันแสนเอร็ดอร่อยของอาหารแต่ละจาน แต่สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือผู้ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะแล้ว ปุ่มรับรสบนปลายลิ้นของพวกเขาอาจได้รับความกระทบกระเทือน จนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเคโอ-เนชั่นแนลของสิงคโปร์ จึงพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา โดยเทคโนโลยีพัฒนาการรับรู้รสชาตินี้ สามารถจำลองรสชาติต่างๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นรสขม รสเปรี้ยว และรสเค็ม ระบบจำลองรสชาตินี้ ทำงานผ่านกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ที่ส่งไปยังปุ่มรับรสบริเวณปลายลิ้น ขณะที่อุณหภูมิระดับต่างๆ บนขั้วไฟฟ้า ยังทำให้ผู้ใช้งานได้รับรสชาติที่แตกต่างกันออกไปด้วย เครื่องจำลองรสชาติอาหารดังกล่าวประกอบไปด้วยอุปกรณ์สำคัญอย่างคอมพิวเตอร์ ตัวจ่ายไฟฟ้า และเครื่องจำลองรสชาติระบบดิจิตอล ซึ่งต่อเข้ากับขั้วไฟฟ้าที่ทำจากเงิน
มาห์รูนิสา ฟาติยะห์ ผู้จัดการด้านการกีฬา ซึ่งรับอาสาทดลองใช้เครื่องจำลองรสชาติอาหารนี้เปิดเผยว่า เธอรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติของรสชาติที่ได้รับจากการสัมผัสช้อนพลาสติกที่ติดตั้งเครื่องจำลองรสชาติ ส่วนการดื่มน้ำผ่านกระบอกน้ำที่ติดตั้งเครื่องนี้ ทำให้เธอรู้สึกได้ถึงแผ่นโลหะ และรสชาติเปรี้ยวปนขมมากไปหน่อย
ล่าสุด นักวิจัยของสิงคโปร์สามารถจำลองรสชาติหลักๆได้แล้ว 3 รส ได้แก่ เปรี้ยว เค็ม และขม แต่หากทำให้ขั้วไฟฟ้ามีความร้อนขึ้น หรือเย็นลง อุปกรณ์ที่คิดค้นขึ้นใหม่ อาจช่วยให้เกิดรสชาติเผ็ดร้อน หรือรสมิ้นต์ได้เช่นกันเอลเลน โด ผู้อำนวยการร่วมของสถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยเคโอ-เนชั่นแนล ระบุว่า นักวิจัยกำลังพยายามพัฒนาเครื่องจำลองรสชาติอาหารนี้ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างรสชาติอื่นๆเพิ่มเติม ขณะเดียวกันความสำเร็จดังกล่าวยังถือเป็นย่างก้าวสำคัญทางการแพทย์ในอนาคต เนื่องจากนวัตกรรมนี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาการรับรู้รสชาติ แต่ต้องการพลังงานจากอาหารเพิ่มขึ้น สามารถรับประทานอาหารได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ หากอุปกรณ์ชนิดนี้สามารถผลิตรสหวานจำลองขึ้นมาได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานในอนาคต ยังอาจไม่ต้องตัดขาดจากรสหวานอีกต่อไป เนื่องจากพวกเขาจะสามารถรับรู้รสหวานได้ โดยไม่ทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
รายการอ้างอิง :
“เครื่องจำลองรสชาติ’”เพื่อการกินที่อร่อยยิ่งขึ้น. (2557, 26 มกราคม). TNN24. ค้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม, จาก http://www.tnnthailand.com/news_detail.php?id=21013&t=news.
– ( 13 Views)