โรคที่มากับคอมพิวเตอร์ในที่นี้ไม่ใช่ “ไวรัสคอมพิวเตอร์” หรือ “โปรแกรมตัวหนอน” ซึ่งเป็นบ่อนทำลายข้อมูลในคอมพิวเตอร์ แต่หมายถึงความเจ็บป่วยที่อาจเกิดจากการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ในปัจจุบันคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำงานเกือบทุกอย่าง รวมทั้งใช้เพื่อความเพลิดเพลิน การศึกษาและการติดต่อสื่อสารต่างๆ ในอนาคตคอมพิวเตอร์จะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวันจนแทบขาดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งใดที่มีประโยชน์มากก็อาจมีโทษมหันต์ ในแง่สุขภาพของเราการใช้คอมพิวเตอร์อาจมีพิษภัยต่อสุขภาพได้ถ้าใช้ไม่ถูกวิธี ซึ่งความเจ็บป่วยที่ว่าอาจเกิดจากการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์นานเกินไป โดยเกิดขึ้นได้กับอวัยวะต่างๆ และทำให้เกิดโรคได้
ตา ในขณะที่จ้องดูจอคอมพิวเตอร์จะมีส่วนของนัยน์ตาอย่างน้อย 2 ส่วนที่ต้องทำงานส่วนแรกคือ กล้ามเนื้อตาที่จะต้องคอยหดเกร็งตัวเพื่อปรับเลนส์ตาให้มีความหนาเหมาะสมให้แสงจากจอไปตกบนฉากรับภาพด้านหลังตาหรือที่เรียกว่า เรตินา (retina) เพื่อให้ได้ภาพคมชัด ดังนั้น ถ้าดูจอคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องกันนานๆ กล้ามเนื้อตาจะต้องทำงานหนักจนกล้ามเนื้ออาจเกิดอาการล้าได้นานวันก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงของสายตา เช่น สายตาสั้นหรือสายตายาว อีกส่วนที่ต้องทำงานหนักคือ จอรับภาพด้านหลังตาหรือเรตินา ซึ่งประกอบด้วยเซลล์รับแสง 2 ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นแท่ง ทำหน้าที่รับแสงไม่สว่างมากเช่น ภาพดำขาว อีกชนิดหนึ่งเป็นรูปโคนรับแสงที่สว่าง เช่น ภาพสีต่างๆ แล้วส่งสัญญาณไปยังสมอง สองส่วนนี้ หากใช้งานหนักหรือจ้องจอนานเกิน 2 ชั่วโมงบ่อยๆ อาจทำให้การทำงานของเรตินาเสื่อมก่อนเวลาอันควร ดังนั้น การใช้คอมพิวเตอร์ที่ถูกต้องจึงไม่ควรใช้สายตาดูหน้าจอนานเกินไป และควรมีการพักสายตา โดยการเปลี่ยนไปมองระยะไกลๆ บ้างสัก 10-15 นาที จึงค่อยกลับมาใช้คอมพิวเตอร์ใหม่
สมอง ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์นานๆ อาจเกิดอาการมึนหรือปวดศีรษะได้ แต่บางครั้งอาจไม่รู้ตัวเนื่องจากทำงานเพลิน ทำให้อาการเตือนของสมองไม่ว่าจะเป็นอาการมึนหรือปวดศีรษะไม่ได้รับการรับรู้และอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสมองในภายหลัง ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น จึงไม่ควรใช้สมองทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานเกินไป
คอ การใช้งานคอมพิวเตอร์โดยการนั่งมองจอต่อเนื่องกันนานๆ ศีรษะจะอยู่ในตำแหน่งและมุมเดิมเป็นเวลานาน คอซึ่งเป็นอวัยวะที่ตั้งของศีรษะก็จะอยู่นิ่งๆ กล้ามเนื้อของคอต้องเกร็งตัวเพื่อรักษาท่าและตำแหน่งของศีรษะเป็นเวลานานโดยที่เราไม่รู้ตัว และจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อมีอาการปวดเมื่อยคอ คอตึงจากอาการเกร็งของกล้ามเนื้อคอ หากมีการใช้งานลักษณะนี้หลายปีโดยไม่มีการบริหารคอที่เหมาะสม อาจทำให้กระดูกคอเสื่อมก่อนเวลาอันควร ดังนั้น จึงควรขยับศีรษะและคอไปมา ขยับกล้ามเนื้อคอหรือหมุนศีรษะไปมาขณะทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์จะช่วยให้อาการปวดเมื่อยคอหรือโอกาสเกิดกระดูกคอเสื่อมน้อยลง
ปวดไหล่ สำหรับท่านที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก หรือคอมพิวเตอร์ชนิดพกพา โดยส่วนมากจะใส่เครื่องคอมพิวเตอร์ในกระเป๋าที่สามารถถือหรือสะพายไหล่ได้ ซึ่งแต่ละเครื่องก็มีขนาดและน้ำหนักต่างกัน ตั้งแต่เครื่องเล็กน้ำหนักเบาประมาณ 1 กิโลกรัม จนถึงเครื่องค่อนข้างใหญ่น้ำหนักมากถึง 4 กิโลกรัม ซึ่งถ้าพกพาโดยการสะพายไหล่เป็นเวลานานอาจทำให้ปวดไหล่เพราะกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นบริเวณไหล่อักเสบ รวมถึงกล้ามเนื้อหลังที่ต้องเกร็งตัวตลอดเวลาด้วย วิธีที่ช่วยได้คือการเปลี่ยนมาเป็นใส่ในกระเป๋าที่มีล้อลากหรือพยายามลดให้น้ำหนักเบาลงด้วยใช้เครื่องที่มีน้ำหนักเบาหรือนำของไปด้วยเท่าที่จำเป็นก็อาจช่วยหลีกเลี่ยงการอักเสบของไหล่ได้ระดับหนึ่ง
ปวดหลัง หลายท่านที่นั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์นานๆ จะรู้สึกปวดหลัง ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ทั้งนี้ เนื่องจากการนั่งในท่าเดิมเป็นเวลานานโดยไม่ได้ขยับเปลี่ยนท่า กล้ามเนื้อหลังตั้งแต่บ่า สะบักและกล้ามเนื้อ 2 ข้างของกระดูกสันหลังจะมีการหดเกร็งตัวเพื่อรักษาร่างกายให้อยู่ท่าเดิมตลอดเวลา โดยปกติเวลาเรานั่งท่าเดิมระยะหนึ่งจะรู้สึกปวดเมื่อย แล้วเราก็มักจะขยับเปลี่ยนท่าเอง แต่ระหว่างการใช้คอมพิวเตอร์ เรามักจะให้ความสนใจหรือมีสมาธิกับสิ่งที่อยู่ในจอจนละเลยความรู้สึกปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อหลังจนลืมเปลี่ยนอิริยาบถของร่างกาย กว่าจะรู้ตัว กล้ามเนื้อหลังซึ่งมีการเกร็งตัวเป็นเวลานานจะรู้สึกปวดมาก การแก้ไขคือพยายามเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ในระหว่างการทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์
อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าแม้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สมัยใหม่ที่ประกอบไปด้วยหน้าจอจะมีประโยชน์มากและกำลังกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน แต่โทษของการใช้งานมากเกินไปโดยไม่ระมัดระวังก็อาจก่อให้เกิดโทษมหันต์ในสัปดาห์หน้าเราจะกลับมาว่ากันต่อว่ามีอวัยวะส่วนใดอีกที่จะได้รับผลกระทบจากการใช้อุปกรณ์สารพัดประโยชน์นี้นานๆ
รายการอ้างอิง :
ผศ.นพ.กิตติ โตเต็มชัยการ. ภัยเงียบจากการใช้คอมพิวเตอร์ (1). (2557, 30 มกราคม). ไทยรัฐออนไลน์. ค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม, จาก http://www.thairath.co.th/column/life/healthyfriday/399914.– ( 26 Views)