ในคดีฆาตกรรมที่ผู้ต้องหาได้พยายามปกปิดซ่อนเร้นหลักฐาน โดยเฉพาะคราบเลือดในสถานที่เกิดเหตุ การตรวจสอบคราบเลือดด้วยตาเปล่าจึงอาจไม่สามารถมองเห็นได้เลย ซึ่งเลือดเป็นชีววัตถุพยานที่สำคัญที่สุดในการใช้เป็นหลักฐานในการเชื่อมโยงผู้เสียหาย ผู้ต้องสงสัย และสถานที่เกิดเหตุเข้าไว้ในเหตุการณ์เดียวกัน การตรวจสอบคราบเลือดจึงต้องใช้เทคนิคทางเคมีเข้าช่วยในการสืบสวนสอบสวน
ล่าสุด รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ผศ. ดร. วยา พุทธวงศ์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ร่วมพัฒนาการวิธีสังเคราะห์สารวาวแสงสำหรับตรวจสอบคราบเลือดชื่อ ลูมินอล (luminol) เป็นผลสำเร็จ ซึ่งสารวาวแสงชนิดนี้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น งานวิจัยนี้ได้พัฒนาเตรียมขึ้นใช้เองในประเทศ และยังได้พัฒนาอนุพันธุ์ของสารวาวแสงเพื่อหาสารตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม แต่ต้นทุนการสังเคราะห์ถูกลง
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันพัฒนาสูตรการเตรียมสารละลาย ลูมินอล (luminol) เพื่อให้การวาวแสงในที่มืด มีระยะเวลาที่นานขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ได้มีระยะเวลาในการเก็บบันทึกภาพ หรือค้นหาคราบเลือดในปริมาณที่น้อยได้ง่ายขึ้น ในการทดลอง ยังสามารถใช้สารละลายดังกล่าว แยกประเภทคราบเลือดของมนุษย์และสัตว์ได้ชัดเจน โดยผลจากการสเปรย์ลงบนคราบเลือดมนุษย์ สารมีการวาวแสงสีอมม่วงเกิดขึ้นทันทีหลังจากสารทำปฏิกิริยากับเลือดประมาณ 2.30 นาที ส่วนการทดสอบกับเลือดสุนัข การวาวแสงไม่สว่างมาก แต่วาวแสงนานประมาณ 3.40 นาที และเลือดแมวปรากฎว่ามีการวาวแสงน้อย ระยะเวลาแค่ 50 วินาที งานวิจัยนี้มีนิสิตที่ร่วมทำวิทยานิพนธ์ในโครงการ 2 ท่านคือ น.ส. อาริษา ศรีดวงใจ และ นายอัครพนธ์ เอี้ยวรัตนวดี ผู้สนใจรายละเอียด โปรดติดต่อหลักสูตรนิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
รายการอ้างอิง :
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1391841724&grpid=&catid=19&subcatid=1903 , ค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2556.– ( 22 Views)