วานนี้ (9ก.พ.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้คนทั่วโลกนิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทาง อิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สำรวจการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ในปี 2556 พบว่า ทั่วโลกมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กกว่า 1 พันล้านคนต่อเดือน ใช้งานอินสตาแกรมมากกว่า 1 ร้อยล้านคนต่อเดือน ส่วนในประเทศไทยพบว่ามีประชาชน ใช้เฟซบุ๊กถึง 19 ล้านคน ใช้อินสตาแกรม ถึง 8 แสนคนต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นเดือนละ 10 ล้านคน
พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า เรื่องที่น่าห่วงขณะนี้ พบว่าประชาชนทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะวัยรุ่นนักเรียน นักศึกษา นิยมพฤติกรรมที่เรียกว่า เซลฟี่ (selfie) กันมาก คือถ่ายรูปตัวเองในอิริยาบถต่าง ๆ แล้วนำไปเผยแพร่บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไม่ว่าจะทำอะไร ไปที่ไหน หรือกินอะไร เพื่อให้เพื่อนในสังคมออนไลน์ทั้งที่รู้จักจริง และรู้จักในสังคมออนไลน์ได้รับรู้มากดไลค์ (Like) ถูกใจในรูปภาพ พฤติกรรมเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตได้โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่นหรือความมั่นใจในตนเอง ซึ่งจะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และส่งผลต่ออนาคต การงาน และการพัฒนาประเทศอย่างคาดไม่ถึง“เซลฟี่ จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล การลงรูปเพราะอยากได้การตอบรับจากสังคม และการได้ยอดกดไลค์ ถือว่าเป็นรางวัล ซึ่งเป็นหลักปกติของมนุษย์ทั่วไป ถ้าอะไรที่ทำแล้วได้รางวัลก็จะทำซ้ำแต่ว่ารางวัลของแต่ละบุคคลมีผลกระทบต่อความรู้สึกไม่เท่ากันบางคนลงรูปไปแล้วได้แค่สองไลค์เขาก็มีความสุขแล้วเพราะถือว่าพอแล้ว แต่บางคนต้องให้มียอดคนกดไลค์มาก ๆ พอมากแล้วก็ยิ่งติดเพราะถือว่าเป็นรางวัล ในทางตรงกันข้ามหากได้รับการตอบรับน้อยไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ ทำใหม่แล้วก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจะส่งผลต่อความคิดของตัวเอง บุคคลนั้นสูญเสียความมั่นใจและส่งผลต่อทัศนคติด้านลบของตัวเองได้ เช่น ไม่ชอบตัวเอง ไม่พอใจรูปลักษณ์ตัวเอง แต่หากบุคคลนั้นสามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้เป็นปกติได้ เซลฟี่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต” พญ.พรรณพิมล กล่าว
พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า นักจิตวิทยาในสหรัฐอเมริกาได้ให้ข้อคิดว่า เซลฟี่ สามารถกัดกร่อนความมั่นใจความภาคภูมิใจในตัวเองได้ หากถ่ายรูปตัวเองเผยแพร่บนโลกออนไลน์เป็นบางโอกาส ถือเป็นการมีส่วนร่วมในสังคมออนไลน์ แต่หากมากไปและคาดหวังจดจ่อว่าจะมีใครเข้าดู เข้ามาแสดงความคิดเห็น แสดงว่าเซลฟี่กำลังสร้างปัญหา และเป็นสัญญาณหนึ่งบอกถึงการขาดความมั่นใจในตัวเอง ล่าสุดสาธารณสุขประเทศอังกฤษได้ออกมาประกาศว่า อาการเสพติดโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ถือเป็นโรคอย่างหนึ่ง ในแต่ละปีมีชาวอังกฤษเข้ารับการบำบัดมาก กว่า 100 ราย
พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า ความมั่นใจในตัวเองเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกคน เพราะจะทำให้คนพอใจในตัวเอง มีความสุข มีสมาธิ ไม่กังวล ไม่โหยหาความรักและความสนใจจากคนอื่น ๆ กล้าทำในสิ่งใหม่ที่เหมาะสม มีความเป็นผู้นำกล้าเผชิญความจริง มีบุคลิกภาพดีเป็นมิตรกับคนทุกคน หากขาดความมั่นใจในตนเองแล้วจะเกิดความกังวล ลังเล ชีวิตไม่มีความสุข เมื่อมีความคิดสะสมไปเรื่อย ๆ อาจมีความผิดปกติทางจิตใจอารมณ์ได้ง่าย เช่น หวาดกลัวหวาดระแวง เครียดอิจฉา ชอบจับผิดคนอื่น ซึมเศร้า อาจทำพฤติกรรมแปลก ๆ มีลักษณะตรงข้ามกับความมั่นใจตัวเอง เช่น การแต่งกาย การใช้คำพูด หรือประชดชีวิต เช่น ดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด เป็นต้น
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวด้วยว่าหากเยาวชนไทยเป็นผู้ที่ขาดความมั่นใจ จะทำให้ไม่กล้าลงมือทำสิ่งใหม่ในชีวิต มักทำตามคนอื่น เป็นผู้ลอกเลียนแบบ หรือทำซ้ำ ๆ ในสิ่งที่ทำมาแล้ว พัฒนาตนเองยาก มีผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ทำให้จำนวนผู้นำน้อยลง ครอบครัวขาดเสาหลักที่มั่นคง โอกาสการสร้างหรือพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ เป็นไปได้ยากขึ้น ส่วนวิธีป้องกันการเสพติดเซลฟี่ และการสร้างความมั่นใจตัวเองบนโลกความเป็นจริง ต้องให้ความสำคัญกับคนรอบข้างที่เป็นสิ่งแวดล้อมจริงในชีวิตประจำวัน หากิจกรรมยามว่างทำกับคนในครอบครัว เพื่อน ๆ เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง และข้อสำคัญให้ยอมรับในความแตกต่างของคน ที่ไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน และที่สำคัญต้องฝึกความอดทนให้กับตัวเอง เพราะการถ่ายเซลฟี่ไม่สามารถที่จะทำได้ตลอดเวลา ครั้งไหนที่ทำไม่ได้ต้องยอมฝืนใจที่จะไม่ทำ หากผ่านจุดนั้นไปได้ ในครั้งต่อ ๆ ไป ก็จะสามารถควบคุมพฤติกรรมการถ่ายเซลฟี่ได้เช่นกัน
รายการอ้างอิง :
(2557, 10 กุมภาพันธ์). โรค‘เซลฟี่’โจ๋ไทยเสพติด โพสต์รูปแลกกดไลค์ แฉขาดความมั่นใจ. เดลินิวส์. ค้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557, จาก http://www.dailynews.co.th/Content/regional/214985/โรค‘เซลฟี่’โจ๋ไทยเสพติด+โพสต์รูปแลกกดไลค์+แฉขาดความมั่นใจใ– ( 14 Views)