ฮิปโปเครติส บิดาทางการแพทย์ของชาวกรีกได้บัญญัติไว้ในการรักษาเมื่อประมาณ 2,500 ปีที่แล้วว่า “จงใช้อาหารเป็นยาในการรักษาโรค” ซึ่งกลายมาเป็นปรัชญาในการรักษาโรคยุคต่อๆ มา และได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อ.ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า อาหารเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงานของร่างกายในการให้พลังงาน และสารอาหารที่จำเป็นในการดำรงชีวิต แต่ปัจจุบันมีหลักฐานเพิ่มเติมที่พบว่า องค์ประกอบของอาหารบางชนิดไม่จัดเป็นสารอาหารแต่อาจให้ประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพ
ดังนั้น องค์ประกอบหลักในอาหารจึงแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นสารอาหาร (nutrients) และส่วนที่ไม่ใช่สารอาหาร (non-nutritive) องค์ประกอบทั้งสองส่วนมีความสัมพันธ์ต่อการป้องกัน หรือช่วยส่งเสริมการรักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคกระดูกพรุน เป็นต้น ดังนั้นเมื่อพูดถึงอาหารเราไม่ได้หมายถึงองค์ประกอบในรูปสารอาหารขนาดใหญ่ (macronutrient) และสารอาหารขนาดจิ๋ว (micronutrient) เท่านั้น แต่เราจะมองถึงองค์ประกอบที่มีฤทธิ์ต่อสรีรวิทยาหรือสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (Bioactive compound) และให้ผลในการลดหรือป้องกันโรค
แนวทางการพัฒนาอาหารฟังก์ชั่น ก็มาจากแนวคิดของการใช้อาหารเป็นยา (Food as medicine) นั่นเอง ในอดีตอาหารเป็นสิ่งที่ใช้รักษาโรคขาดสารอาหาร แต่ปัจจุบันเป็นที่เข้าใจว่าอาหารฟังก์ชั่นเป็นสุขภาพ’ class=’anchor-link’ target=’_blank’>อาหารสุขภาพ ที่อาจให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าแค่สารอาหารหลักๆ ที่มีอยู่ เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามินและเกลือแร่ เท่านั้น
ปัจจุบันสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งสหรัฐอเมริกา (Academy of Nutrition and Dietetics หรือ AND) ได้ให้คำจำกัดความอาหารฟังก์ชั่นเป็น “อาหารธรรมชาติที่มีการแต่งเติมสารอาหารให้มีปริมาณมากขึ้นเพื่อเพิ่มประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพ เมื่อบริโภคเป็นส่วนหนึ่งของอาหารหลากหลายสม่ำเสมอในชีวิตประจำวันและบริโภคในปริมาณที่เพียงพอที่จะส่งผลดีต่อสุขภาพ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ ประธานวิชาการ ชมรมโภชนวิทยามหิดล ให้ข้อมูลว่า จากกระแสอาหารเพื่อสุขภาพนี้เองส่งผลให้นักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร นักวิทยาศาสตร์การอาหาร แพทย์ เภสัชกร พยาบาล และนักการตลาดทางด้านอุตสาหกรรมอาหาร หันมาทำการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ทำให้เกิดการค้นพบคุณประโยชน์และสรรพคุณทางยาของอาหารมากขึ้น กอปรกับความต้องการของผู้บริโภคในเรื่องความสะดวกและรวดเร็วในการนำไปใช้ โดยให้คงคุณค่ารวมถึงคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและบำบัดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ไว้เหมือนเดิมที่มีในธรรมชาติด้วย
ประโยชน์ของอาหารฟังก์ชั่น คือ เป็นอาหารที่รับประทานร่วมกับมื้ออาหารได้ ไม่ใช่รับประทานในรูปของยา ซึ่งให้ผลต่อระบบการทำงานของร่างกายในการป้องกันโรค เพิ่มภูมิคุ้มกัน ชะลอความเสื่อมของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายและส่งเสริมสุขภาพ สำหรับอาหารที่ถูกปรับเปลี่ยนไป รวมทั้งอาหารที่ถูกเสริมด้วยสารพฤกษเคมี หรือสมุนไพร เพื่อเพิ่มคุณค่าและคุณประโยชน์ให้กับอาหาร ก็ถูกจัดอยู่ในประเภทอาหารฟังก์ชั่นด้วยเช่นกัน ตัวอย่างอาหารฟังก์ชั่นที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น
งา เป็นแหล่งของแคลเซียม มีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพกระดูก และยังมีสารเซซามินซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยในกระบวนการกำจัดสารพิษ
พรุน นอกจากจะประกอบด้วยใยอาหารจำนวนมากมีส่วนช่วยในเรื่องระบบขับถ่ายแล้ว พรุนยังมี กรดนีโอโคลโรเจ็นนิค (neochlorogenic acid) และ กรดโคลโรเจ็นนิค (chlorogenic acid) ซึ่งเป็นสารพฤกษเคมีที่มีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งป้องกันกระดูกพรุนได้
ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ อย่าง บิลเบอร์รี่ ที่มีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ คือ สารแอนโธไซยานิน ซึ่งเป็นสารที่มีสีแดงม่วงจนไปถึงน้ำเงิน มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยป้องกันดวงตาจากการทำลายของอนุมูลอิสระ ป้องกันอาการอ่อนล้าของตา และปกป้องเลนส์แก้วตาถูกทำลาย หรือขุ่นมัว อันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต้อกระจก และจอประสาทตาเสื่อม รวมถึงช่วยป้องกัน หรือ ชะลอความเสื่อมที่ก่อให้เกิดโรคทางสายตาได้ แต่ต้องได้รับในปริมาณที่มากพอและเหมาะสมที่จะส่งผลต่อสุขภาพตา
ชาอู่หลง มีสารชื่อ OTPP (Oolong Tea Polymerized Polyphenol) ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยเพิ่มระบบเผาผลาญได้ 10% นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยทางคลินิกยืนยันว่า OTPP ช่วยลดการดูดซึมไขมันและเพิ่มการขับไขมันทางอุจจาระได้
น้ำมันปลา ประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง หรือโอเมก้า-3 ที่สามารถลดระดับไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต ต้านการอักเสบ และช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
โสม มีสารจินเซนโนไซด์ ที่ทำให้ร่างกายมีการปลดปล่อยพลังงานมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยลดความเมื่อยล้า ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดและปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้สามารถทนต่อความเครียดได้
ส่วนซุปไก่ของชาวจีนที่ถูกแปรรูปไปเป็น ซุปไก่สกัด ซึ่งให้โปรตีนและเปปไทด์ รวมทั้งสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพอื่นๆ บางชนิดที่เกิดจากการตุ๋นซึ่งไม่พบในการกินเนื้อไก่โดยตรง ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาคนจีนมีการใช้ซุปไก่ป็นอาหารฟังก์ชั่นกันมานานแล้ว โดยการแพทย์จีนใช้ซุปไก่ตุ๋นช่วยในการบำรุงร่างกาย ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า จึงมักจะเห็นว่ามีการตุ๋นซุปไก่เพื่อบำรุงสุขภาพในคนทั่วไป รวมถึงผู้ป่วย คนท้อง ผู้ที่เตรียมตัวสอบจอหงวน
ซึ่งปัจจุบันมีผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์กว่า 20 ชิ้น พบว่า ซุปไก่สกัดช่วยลดความเครียด เสริมสมาธิและการเรียนรู้ ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า ซุปไก่สกัด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองและลดอาการเหนื่อยล้าจากการทำงาน เช่น งานวิจัยของ ศ.ดร.ไกส์สเลอร์ จากประเทศอังกฤษ พบว่า ซุปไก่สกัดช่วยกระตุ้นประสิทธิภาพด้านการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน
มีรายงานการวิจัยในการประชุมวิชาการประจำปี ค.ศ. 2001 ของสมาคมนักโภชนาการแห่งสหรัฐอเมริกา พบว่า ซุปไก่สกัดเป็นอาหารเสริมที่มีผลต่อการทำงานของสมอง โดยเฉพาะในเรื่องของการช่วยลดความเครียด เพิ่มสมาธิ ปัจจุบันซุปไก่สกัดจึงเป็นอาหารฟังก์ชันที่ได้รับความนิยมในหมู่คนรักสุขภาพอย่างแพร่หลาย และนักวิจัยก็ยังคงดำเนินการศึกษาให้เห็นผลของการบริโภคซุปไก่สกัดอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อศึกษาถึงกลไกการออกฤทธิ์ของซุปไก่สกัดมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมี “เห็ดทางการแพทย์” (Medicinal Mushrooms) ซึ่งเป็นอาหารฟังก์ชั่นที่นอกจากให้คุณค่าทางโภชนาการแล้วยังมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ให้ประโยชน์ในการส่งเสริมภูมิคุ้มกันและสุขภาพอีกด้วย เช่น เห็ดไมตาเกะ เห็ดยามาบูชิตาเกะ เห็ดฮิเมะมัตสึทาเกะ ถั่งเฉ้า เห็ดหลินจือ หรือเรอิชิเห็ดชิตาเกะ และเห็ดแครง เป็นต้น
แต่ทั้งนี้ อาหารฟังก์ชั่นไม่ใช่อาหารหลัก จึงไม่สามารถทดแทนอาหารหลักได้ แต่เป็นอาหารที่รับประทานเพื่อเสริมจากอาหารหลัก ที่อาจได้รับไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ในการส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง และการใช้อาหารฟังก์ชั่นควรพิจารณาถึงความปลอดภัยด้วย โดยดูจากระดับปริมาณที่เหมาะสมของสารอาหารและ องค์ประกอบของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีผลต่อสุขภาพ
และสิ่งสำคัญต้องได้รับการยืนยันถึงคุณประโยชน์ ด้วยวิธีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการทดลองทางคลินิก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเป็นที่ยอมรับ หากเรารู้จักเลือกบริโภคอย่างถูกต้อง เหมาะสมตามความจำเป็นต่อความต้องการของร่างกาย เราก็จะได้รับการเสริมอาหารที่ให้ประโยชน์คุ้มค่าต่อร่างกายได้มากที่สุด และที่สำคัญเราต้องรับประทานอาหารหลักให้หลากหลาย ครบทุกหมู่ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส และพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อการมีสุขภาพที่ดี
รายการอ้างอิง :
กินอาหารให้เป็นยา. (2557). กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. ค้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557. จาก http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20140220/564626/กินอาหารให้เป็นยา.html.
– ( 200 Views)