สำนักข่าวไทย นำเสนอข่าวสังคม
กรุงเทพฯ 20 ก.พ. 2557-นักวิจัย ม.มหิดล ค้นพบสนามไฟฟ้าที่บ่งชี้ถึงการเชื่อมต่อใหม่ของสนามแม่เหล็ก เตรียมสำรวจร่วมกับนาซาเก็บข้อมูลรับมือกับพายุสุริยะพุ่งผ่านกระทบชั้นบรรยากาศของโลก
ดร.กิตติพัฒน์ มาลากิจ นักวิจัยหลังปริญญาเอก และ ศ.ดร.เดวิด รูฟโฟโล (Prof.Dr.David Ruffolo) อาจารย์ด้านฟิสิกส์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าห้องปฏิบัติการฟิสิกส์อวกาศและอนุภาคพลังงานสูง ผู้ค้นพบสนามไฟฟ้าที่บ่งชี้ถึงการเชื่อมต่อใหม่ของสนามแม่เหล็ก เปิดเผยว่า สนามแม่เหล็กโลกเป็นพลังงานแม่เหล็กที่อยู่บริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้แผ่ออกไปไม่มีที่สิ้นสุด แม้ว่าความเข้มของสนามแม่เหล็กจะอ่อนลงเรื่อยๆ เมื่ออยู่ห่างจากแหล่งกำเนิด ขอบเขตสนามแม่เหล็กโลกกินพื้นที่หลายหมื่นกิโลเมตรในห้วงอวกาศ เมื่อแผ่ออกไปพบกับสนามแม่เหล็กจากดวงอาทิตย์จะเกิดการเชื่อมต่อกันของสนามแม่เหล็ก เป็นกระบวนการทางธรรมชาติ
การเชื่อมต่อใหม่ระหว่างสนามแม่เหล็กโลกกับสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์ เมื่อเกิดขึ้นจะทำให้อนุภาคมีประจุที่มากับพายุสุริยะสามารถพุ่งผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกได้ ซึ่งโดยปกติโลกมีสนามแม่เหล็กที่สามารถป้องกันพายุสุริยะไว้ แต่หากมีการเชื่อมต่อของสนามแม่เหล็กโลกและดวงอาทิตย์จะทำให้อนุภาคมีประจุส่งผลกระทบกับดาวเทียม ทำให้ระบบโทรคมนาคมและการสื่อสารระยะไกลเสียหาย รบกวนการใช้งานจีพีเอส และโทรศัพท์มือถือใช้งานไม่ได้ รวมทั้งระบบการบิน เนื่องจากเครื่องบินไม่สามารถติดต่อหอบังคับการได้ และระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่อยู่ใกล้บริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2532 ที่ประเทศแคนาดา กระแสไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างนาน 9 ชั่งโมง ในตอนนั้นพายุสุริยะรุนแรงทะลุช่องว่างเข้ามาก่อกวนกระแสไฟฟ้าบนโลก ทำให้การขับเคลื่อนกระแสไฟไม่สม่ำเสมอจนหม้อแปลงระเบิด
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2554 ดาวเทียมไทยคม 5 เกิดขัดข้องนาน 4 ชั่วโมง ส่งผลกระทบต่อสัญญาณโทรทัศน์ รวมทั้งเคยเกิดเหตุการณ์ 10 กว่าครั้งที่ดาวเทียมเสียหายจนใช้งานไม่ได้หลังจากเกิดพายุสุริยะ โดยแต่ละดวงมีมูลค่าหลายพันล้านบาท
(พายุสุริยะ : solar storm) เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดจากผิวดวงอาทิตย์ระเบิดขึ้นมา ทำให้อนุภาคประจุไฟฟ้าพุ่งออกมาจำนวนมหาศาล)
ด้าน ศ.ดร.เดวิด รูฟโฟโล กล่าวว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือนาซา (NASA) มีความกังวลในเรื่องนี้ และต้องการศึกษาเพิ่มเติม จึงเตรียมส่งดาวเทียม Magnetospheric Multiscale Mission (MMS) เพื่อศึกษากระบวนการเชื่อมต่อใหม่ของสนามแม่เหล็กโลกโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายในภารกิจนี้คือ การบ่งชี้ว่าการเชื่อมต่อใหม่ของสนามแม่เหล็กโลกนั้นจะเกิดขึ้นบริเวณไหนในอวกาศ ซึ่งพบยากมาก ปัญหานี้ทีมนักวิจัยไทยและอเมริกันแก้ไขได้โดยจำลองสถานการณ์ด้วยคอมพิวเตอร์จนค้นพบว่าเมื่อมีการเชื่อมต่อใหม่ที่มีความไม่สมมาตรของสนามแม่เหล็ก และ/หรือความหนาแน่นของอนุภาคที่มากพอจะมีสนามไฟฟ้าเกิดขึ้น ดังเช่นสนามแม่เหล็กจากดวงอาทิตย์ที่แผ่มาปะทะกับสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับโครงการ MMS ที่จะช่วยระบุตำแหน่งและช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะให้มีการบันทึกข้อมูลโดยละเอียดเมื่อดาวเทียม MMS อยู่ใกล้สถานที่ที่เกิดการเชื่อมต่อใหม่ของสนามแม่เหล็ก
ผลงานการค้นพบสนามไฟฟ้าที่บ่งชี้ถึงช่องว่างในสนามแม่เหล็กโลกครั้งนี้ ดร.กิตติ และ ศ.ดร.เดวิด ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในวารสาร Physical Review Letters ซึ่งจะทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจพบและเข้าใจปรากฏการณ์การเชื่อมต่อใหม่ในสนามแม่เหล็กได้ดีขึ้น ซึ่งความเข้าใจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนี้จะสามารถนำไปสู่การพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดการเล็ดรอดของอนุภาคมีประจุเข้ามาในสนามแม่เหล็กโลกเมื่อใด เพื่อวางแผนรับมือกับพายุสุริยะ และเตรียมความพร้อมไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อทุกชีวิตบนโลก
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักข่าวไทย อสมท. -
http://www.mcot.net/site/content?id=5305b7ddbe0470ba168b456d#.Uwar_IWDjGg– ( 27 Views)