magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก พลาสติกชีวภาพ
formats

พลาสติกชีวภาพ

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มีคำตอบให้ว่า พลาสติกธรรมดาเป็นสารประกอบพวกไฮโดรคาร์บอนที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง เป็นพอลิเมอร์ที่ประกอบด้วยธาตุต่างๆ คือ คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน นอกจากนี้อาจมีธาตุอื่นๆ เช่น ไนโตรเจน ฟลูออรีน คลอรีน และกำมะถัน เป็นต้น

แต่เนื่องจากพลาสติกก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อนำไปฝังดินจะย่อยสลายยากและใช้เวลานาน ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ หรือถ้านำไปเผาทำลายจะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และมลสารที่ปนเปื้อนในอากาศอาจเป็นสารก่อมะเร็ง

ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงศึกษาค้นคว้าและผลิตพลาสติกชนิดใหม่ขึ้นมาทดแทน เพื่อลดปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม โดยเรียกพลาสติกชนิดใหม่นี้ว่าพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) เป็นสารประกอบอินทรีย์ หรือพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ (Biodegradable plastic)

ผลิตขึ้นจากวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายได้ด้วยกระบวนการทางชีวภาพ วัสดุธรรมชาติที่นำมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพมีหลายชนิด ส่วนใหญ่ได้มาจากพืช เช่น เซลลูโลส คอลลาเจน เคซีน โพลีเอสเตอร์ แป้ง และโปรตีนจากถั่ว เป็นต้น

แป้งเป็นวัสดุธรรมชาติที่นิยมนำมาผลิตพลาสติกชีวภาพมากที่สุด เพราะหาได้ง่าย มีปริมาณมากและราคาถูก เนื่องจากผลิตแป้งได้จากพืชหลายชนิด เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี มันฝรั่ง มันเทศ มันสำปะหลัง

สำหรับประเทศ ไทยพืชที่นิยมนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกชีวภาพ คือข้าวโพดและมันสำปะหลัง โดยพลาสติกชีวภาพเมื่อย่อยสลายหมดแล้วจะได้ผลิตภัณฑ์เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำ ซึ่งพืชสามารถนำไปใช้ในการเจริญเติบโตและดำรงชีวิตได้

ปัจจุบัน พลาสติกชีวภาพใช้ประโยชน์ในหลายด้าน

1.ด้านการแพทย์ นำผลิตเป็นวัสดุทางการแพทย์ เช่น ผิวหนังเทียม ไหมละลาย อุปกรณ์ประเภทสกรู และแผ่นดามกระดูก ที่ฝังอยู่ในร่างกายที่สามารถย่อยสลายได้เอง

2.ด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อการบริโภค เช่น สารเคลือบกระดาษสำหรับห่ออาหาร แก้วน้ำชนิดใช้แล้วทิ้ง ถุง ถ้วยหรือถาดย่อยสลายได้สำหรับบรรจุอาหาร ฟิล์มและถุงพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพสำหรับใช้ใส่ขยะเศษอาหาร โฟมเม็ดกันกระแทก เป็นต้น

3.ด้านการเกษตร ผลิตเป็นแผ่นฟิล์มคลุมดิน และวัสดุสำหรับการเกษตร เช่น แผ่นฟิล์มป้องกันการเติบโตของวัชพืชและรักษาความชื้นในดิน รวมทั้งถุงหรือกระถางสำหรับเพาะต้นกล้า

กลไกการย่อยสลายของพลาสติก แบ่งเป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1.การย่อยสลายได้โดยแสง

2.การย่อยสลายทางกล

3.การย่อยสลายผ่านปฏิกิริยาออกซิเดชัน

4.การย่อยสลายผ่านปฏิกิริยาไฮโดรไลซิส

5.การย่อยสลายทางชีวภาพ

สำหรับประเทศไทย มีหน่วยงานทดสอบคุณสมบัติการสลายตัวได้ของพลาสติกชีวภาพ 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1.ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ 2.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และ 3.สถาบันค้นคว้าและผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ปัจจุบันพลาสติกชีวภาพได้รับความสนใจเนื่องจากผลิตมาจากพืชหรือวัตถุดิบในธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้นทุนต่ำ และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ กระแสอนุรักษ์ธรรมชาติและความตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกัน ส่งผลให้พลาสติกชีวภาพเป็นวัสดุแห่งอนาคตที่มีความต้องการมากขึ้น

รายการอ้างอิง :
น้าชาติ ประชาชื่น. (2557). พลาสติกชีวภาพ. ข่าวสด (รู้ไปโม้ด). ฉบับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557, หน้า 24.– ( 46 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


four × = 24

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>