magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก เปิด 6 โครงการวิจัยทุนสำนักงานพัฒนาวิจัยการเกษตรดีเด่นนวัตกรรม ที่นำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้จริง
formats

เปิด 6 โครงการวิจัยทุนสำนักงานพัฒนาวิจัยการเกษตรดีเด่นนวัตกรรม ที่นำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้จริง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้จัดงานแสดงความยินดีให้กับคณะนักวิจัย 5 ท่าน จาก 6 โครงการวิจัย ที่ สวก.ให้ทุนสนับสนุนในโอกาสที่นำโครงการวิจัยไปคว้ารางวัลต่าง ๆ ตลอดปีที่ผ่านมาทั้งในประเทศและต่างประเทศ งานจัดขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว

รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร หรือ สวก. เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากในปี 2556 ที่ผ่านมา ได้มีนักวิจัยและโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สวก. ได้รับรางวัลจากการคัดเลือกของสถาบันและหน่วยงานต่าง ๆ จากการเข้าร่วมประกวดโครงการวิจัยจากทั้งในและต่างประเทศ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความก้าวหน้าทางวิชาการของไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับนักวิจัยไทย รวมถึง สวก.ในฐานะหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัยด้วย ทำให้ภาพลักษณ์ ของ สวก. เป็นที่รู้จักต่อกลุ่มเป้าหมายและประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น สวก.จึงจัดงาน “ARDA Hall of Fame and Press Meeting” เพื่อแสดงความยินดีและ เชิดชูเกียรติให้กับนักวิจัยที่ได้รับรางวัล เหล่านี้“สวก.มุ่งเสริมสร้างระบบการวิจัยการเกษตรของประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อผลักดันผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยสนับสนุนการวิจัยการเกษตรเชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบาย การพัฒนาบุคลากร ด้านการวิจัยการเกษตร รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลด้านการวิจัยการเกษตร เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการเกษตรของไทย อย่างยั่งยืน สำหรับรางวัลต่าง ๆ ที่นักวิจัยไทยได้รับในครั้งนี้ ถือเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจสำหรับนักวิจัยไทยทุกคน และเป็นอีกก้าวหนึ่งของความสำเร็จของนักวิจัยไทยที่ผ่านการสนับสนุน ของ สวก. ซึ่งได้สร้างผลงานวิจัยที่มี คุณภาพและยอมรับในระดับนานาชาติ เราหวังว่านักวิจัยไทยเหล่านี้จะเป็นแบบ อย่างที่ดี และเป็นแรงกระตุ้นในการทำงานวิจัยให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ได้อย่างดี”

สำหรับโครงการวิจัยทุนสนับสนุนจาก สวก.ที่ได้รับรางวัลทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ ในปี 2556 นี้ มีนักวิจัยจำนวน 5 ท่าน รวม 6 โครงการ ประกอบด้วย

1.โครงการพัฒนาแผ่นโปรตีนเส้นไหมเคลือบด้วยสารมีฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อใช้ในการรักษาแผล โดยรองศาสตราจารย์ ภ.ญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยโครงการนี้เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบวัสดุปิดแผลแบบแอ็กทีฟ โดยใช้วัสดุหลักซึ่งผลิตได้ในประเทศคือไหมไทยและ คอลลาเจน ซึ่งมีคุณสมบัติในการกระตุ้น การซ่อมแซมและลดการหดตัวของ บาดแผล รวมทั้งประเมินศักยภาพของวัสดุท้องถิ่นทั้งสองชนิดนี้สำหรับใช้ด้านการแพทย์ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตผลทางการเกษตรของประเทศ ลดการนำเข้าและส่งเสริมการส่งออก ทำให้ประเทศไทยมีวัสดุปิดแผลที่ช่วย ส่งเสริมการรักษาแผลใช้เองด้วยต้นทุนที่ต่ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในประเทศให้ดีขึ้น

2.โครงการไบโอเซลลูโลสมาสก์สำหรับรักษาผิวหลังการทำเลเซอร์ โดยรองศาสตราจารย์ ภ.ญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการนี้เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบมาสก์ ไบโอเซลลูโลสจากน้ำมะพร้าว ที่สามารถปลดปล่อยสารยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน และสารต่อต้านอนุมูลอิสระสู่ผิวหนัง เพื่อป้องกันการเกิดสีผิวเข้มผิดปกติหลัง การรักษาผิวหน้าด้วยเลเซอร์ โดยตัวมาสก์ใช้วัสดุหลักซึ่งผลิตได้ในประเทศคือมะพร้าว ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบและให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง และเพิ่มประสิทธิภาพโดยการเติมสารมาตรฐานที่มีความสามารถในการยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินและต่อต้านอนุมูลอิสระ

อีกทั้งมีการทดสอบความเป็นพิเศษและประสิทธิภาพเบื้องต้นในเซลล์ผิวหนังเพาะเลี้ยง รวมถึงประเมินผลทางคลินิกของ มาสก์ในผู้ป่วยหลังการใช้เลเซอร์ โครงการนี้ จึงเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเหลือใช้ทางการเกษตรได้อย่างดี อีกทั้งช่วยลดรายจ่ายของประเทศอันเนื่องมาจากการนำเข้าเวชภัณฑ์จากต่างประเทศที่มีราคาสูงอีกด้วย

3.โครงการชุดทดสอบไบโอเซ็นเซอร์ชนิดวัดค่าสีเพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยเชื้อซัลโมเนลล่า โดยรองศาสตราจารย์ ดร.โกสุม จันทร์ศิริ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ซึ่งเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลล่า (Salmonella Spp.) เป็นเชื้อก่อโรคทางเดินอาหาร การปนเปื้อน เชื้อนี้ในสัตว์ที่มนุษย์ใช้เป็นอาหาร เช่น สุกร ไก่ วัว และสัตว์น้ำ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ และเชื้อจะอาศัยคนเป็นพาหะได้เป็นเวลานาน อีกทั้งเชื้อซัลโมเนลล่ายังสามารถปรับตัว ได้ดีและเข้าไปปนเปื้อนอาหารที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิต เช่น อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง ฯลฯ ดังนั้นวิธีการตรวจสอบเชื้อซัลโมเนลล่าที่ง่ายและรวดเร็ว มีความแม่นยำสูง และนำไปใช้ในพื้นที่ทดสอบได้ง่าย จึงเป็นกุญแจสำคัญในการตรวจสอบและควบคุมปนเปื้อนตั้งแต่ฟาร์มถึงผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การป้องกันและการแพร่ระบาดของเชื้อ

โครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาชุด Test Kit สำหรับตรวจเชื้อซัลโมเนลล่าในอาหารที่สามารถอ่านผลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

4.โครงการชุดทดสอบสังกะสีภาคสนาม (Zinc Field Test Kit) เพื่อตรวจสอบการมีสังกะสีเกิน 10 PPM ในน้ำยางพารา โดยผู้ช่วย ศาสตราจารย์ ดร.วรากร ลิ่มบุตร สถานวิจัย การวิเคราะห์สารปริมาณน้อยและไบโอเซ็นเซอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นชุดทดสอบสังกะสีภาคสนามด้านการเกษตรที่ใช้ได้ง่ายทั้งในและนอกสถานที่ สะดวกในการพกพา ใช้สารเคมีน้อย ราคาถูก รู้ผลรวดเร็วและสามารถทดสอบสังกะสีเชิงคุณภาพที่ระดับความเข้มข้นต่าง ๆ ตามความต้องการ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ ทางการเกษตร เช่น ในน้ำยางพารา ยางธรรมชาติ อุตสาหกรรมการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพืช อาทิ ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด มะนาว มะกรูด แอปเปิล ฝรั่ง สับปะรด หรืออุตสาหกรรม ผลิตปุ๋ย เป็นต้น ซึ่งผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้ยื่นขอจดอนุสิทธิบัตรแล้ว เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552

5.การพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว และสายการผลิตสำหรับมะพร้าวน้ำหอมสดเพื่อการส่งออก ได้รับรางวัล Silver Medal ในกลุ่มงานด้านพืชสวนและเกษตรกรรม จากการประกวดผลงาน สิ่งประดิษฐ์นานาชาติในงาน 41 International Exhibition of Inventions of Geneva โดยรองศาสตราจารย์วรภัทร ลัคนทินวงศ์ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญไชย ไทยเจียม ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ในการผลิตมะพร้าวน้ำหอมส่งออก ยังไม่มีเครื่องจักรทั้งสายการผลิตที่เต็มรูปแบบ จึงยังใช้แรงงานทุกขั้นตอน ผู้ประกอบการยังขาดการนำเทคโนโลยีหลังจาก เก็บเกี่ยวผลสดที่เหมาะสมจึงทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น อายุการเก็บผลไม่เหมาะสม ขนาดของผลไม่เท่ากัน เชื้อราที่ผิว สารเคมีที่ใช้ ฯลฯ

โครงการนี้มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาเครื่องจักรในสายการผลิต พร้อมกับการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตมะพร้าวให้รองรับ GMP และ HACCPs และลดการสูญเสียขณะการเตรียมผลมะพร้าวเพื่อการส่งออกโดยพัฒนาเครื่องจักรรองรับระบบการผลิต คือเครื่องปอกมะพร้าวที่ใช้ใบมีดไม่เกิน 2 ชุด ไม่ก่ออันตรายต่อผู้คุมเครื่องและเครื่องเจียนผลมะพร้าวพร้อมชุดสายพานการผลิต ชุดทำ Blanching ชุดแช่สารละลาย ชุดทำให้แห้ง ชุดทำเคลือบ Wax และ ชุดหุ้มฟิล์มหดด้วยฟิล์มซึ่งสามารถแก้ปัญหาและส่งเสริมการส่งออกมะพร้าวน้ำหอม ของประเทศได้อย่างมาก ผลงานวิจัย ชิ้นนี้ได้จดสิทธิบัตรแล้ว เลขที่ 22595 DIP (TH)

เครื่องจักรชุดนี้เฉพาะต้นทุนการผลิตไม่ต่ำกว่า 11 ล้านบาท ปอกและห่อด้วยฟิล์มได้มะพร้าวน้ำหอม 1.8 หมื่นลูกภายใน 10 ชม. หรือได้ผลผลิต 1 ตู้คอนเทนเนอร์ (ขนาด 40 ฟุต) ทดแทนแรงงานได้เกือบ 100 คน สามารถคืนทุนได้ภายใน 1 เดือน

6.โครงการต้นแบบในการขยายผลปาล์มน้ำมันไปสู่เกษตรกร (โครงการขยายผลมาจากโครงการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันแบบก้าวกระโดด) เป็นโครงการที่ สวก.ภาคภูมิใจอย่างมากและตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยของ สวก. เป็นอย่างดี นอกจากจะประสบความสำเร็จจากการที่ได้ระดมสมองนักวิชาการ เพื่อทำการวิจัยร่วมกันแบบบูรณาการ ในการปรับปรุงสายพันธุ์ปาล์มน้ำมันให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น โดยที่เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง และสามารถปลูกได้ผลผลิตดีในทุกภาคของประเทศไทย แล้ว

สิ่งสำคัญที่สุดคือ นักวิจัยของ สวก.จากโครงการนี้ คือ ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการสถาบันจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประเภททีม ประจำปี 2556 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย

ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง และคณะได้นำเทคโนโลยีจีโนมิกส์มาใช้ในการพัฒนาพันธุ์พืชหรือสัตว์อย่างก้าวกระโดด เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีจีโนมปาล์มน้ำมัน ในโครงการต้นแบบการขยายผลปาล์มน้ำมันไปสู่เกษตรกร เพื่อร่นระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันจากปกติ 15-20 ปี เหลือเพียง 5-8 ปี เพื่อให้ได้พันธุ์ปาล์มที่สามารถปลูกได้ดีในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยให้ผลผลิตเฉลี่ยมากกว่า 5 ตันต่อไร่ต่อปี ผลมีลักษณะเนื้อหนากะลาบาง ลักษณะลำต้นสูงปานกลาง ความสูงเฉลี่ย 40-50 ซม./ปี ซึ่งสะดวกแก่การเก็บเกี่ยวและดูแลรักษา สามารถปรับตัวได้ดี และให้ผลผลิตสม่ำเสมอตลอดปีใน ทุกพื้นที่ ในทุกสภาพอากาศ ทนแล้งนาน 90 วัน ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่เกษตรกรไทย

เครื่องจักรชุดนี้เฉพาะต้นทุนการผลิตไม่ต่ำกว่า 11 ล้านบาท ปอกและห่อด้วยฟิล์มได้มะพร้าวน้ำหอม 1.8 หมื่นลูกภายใน 10 ชม. ได้ผลผลิต 1 ตู้คอนเทนเนอร์ (ขนาด 40 ฟุต) ทดแทนแรงงานได้เกือบ 100 คน

รายการอ้างอิง :
เปิด 6 โครงการวิจัยทุนสำนักงานพัฒนาวิจัยการเกษตรดีเด่นนวัตกรรม ที่นำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้จริง . (2557). ประชาชาติธุรกิจ. ฉบับวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557, หน้า 7.– ( 99 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


× 6 = forty eight

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>