magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก เริ่มต้นการอ่าน (อีกครั้ง)
formats

เริ่มต้นการอ่าน (อีกครั้ง)

เริ่มต้นการอ่าน (อีกครั้ง)

โดย ศรีดา ตันทะอธิพานิช

ปกติดิฉันไม่ใช่คนชอบเขียนอะไรแนวนี้ และไม่เคยเขียนมาก่อน แต่ที่ดิฉันเขียนเรื่องนี้ก็เนื่องจากมีพี่ที่รักนับถือคนหนึ่งบอกว่าไหนๆ ก็อ่านหนังสือจบเล่มหนึ่งแล้วก็เขียนสรุปออกมาหน่อยว่าได้อะไรมาบ้าง ชอบอะไรในหนังสือเล่มนี้บ้าง เผื่อจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการแนะนำหนังสือดีๆ หรือเป็นแรงบันดาลใจให้คนไม่ชอบอ่านหนังสือได้เริ่มคิดที่จะอ่านหนังสือบ้าง

แรงบันดาลใจในการอ่านหนังสือของดิฉันไม่ได้กลับมาเอง หลังจากที่หยุดอ่านหนังสือไปนานหลายปีเพราะไม่ค่อยมีเวลา คำว่าอ่านหนังสือของดิฉันในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการอ่านบทความหรือสกู๊ปสั้นๆ ในนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือการอ่านตำราเรียนเพื่อสอบนะคะ แต่หมายถึงการอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ ของนักเขียนคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนร่วมกัน อ่านตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้ายอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

เมื่อไม่นานมานี้ มีโอกาสได้ไปฟังการบรรยายที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ “อ่านอย่างไรให้สนุก” โดย คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย (https://www.facebook.com/danai.chanchaochai) นักเขียน นักคิด นักบรรยายที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งในยุคนี้ ได้ยินชื่อท่านมานาน เห็นออกสื่อบ่อยๆ เพิ่งมีโอกาสได้ไปฟังตัวจริงเสียงจริง ไม่ผิดหวังจริงๆ แรงบันดาลใจในการอ่านหนังสือของดิฉันก็กลับมา

คนไทยมีสถิติอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยเพียงปีละ 7 บรรทัด ดิฉันตอบคำถามคุณดนัยไปอย่างนั้น แต่คุณดนัยบอกว่า เราพัฒนาแล้ว ตอนนี้ขยับขึ้นเป็น 12 บรรทัด เรียกเสียงฮาปนทุกข์ให้กับผู้ฟังในห้องซึ่งเป็นนิสิตครุศาสตร์ที่จะจบออกไปเป็นครูบาอาจารย์หรือนักบริหารการศึกษา เมื่อเทียบกับประเทศเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์แล้ว ประชากรเขาอ่านหนังสือเฉลี่ยถึงปีละ 40-60 เล่ม คุณดนัยบอกว่าสมองคนเรามีศักยภาพมาก รู้ไหมว่ามนุษย์เราใช้สมองกี่เปอร์เซ็นต์ของศักยภาพของมัน เดาไม่ถูกกันแน่ๆ ค่ะ คุณดนัยบอกว่า 3-5% เท่านั้น อัจฉริยะอย่างไอสไตน์ใช้สมอง 7%  เรียกเสียงฮือฮาในห้องบรรยายอีกครั้ง พวกเราคิดเหมือนกันว่ามนุษย์ช่างได้รับพรอันประเสริฐจากพระเจ้าผู้สร้างเราด้วยการให้สมองอันเลิศล้ำมาด้วย และนี่คือเหตุผลที่เราควรฝึกฝนและใช้สมองให้มากๆ การอ่านหนังสือเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตรงนี้แหล่ะ เพราะการอ่านหนังสือทำให้คนเราฉลาดขึ้น สมองที่ได้เติมความรู้ ได้คิดวิเคราะห์ ได้ทบทวนและเรียกใช้ความรู้บ่อยเท่าใดก็ยิ่งเฉียบคมขึ้นเท่านั้น วิทยากรยังหยิบยก “7 เหตุผลที่คนต้องอ่าน” (http://www.dhamdee.com/?p=5831) ของน้อง “ขุนเขา” (http://www.facebook.com/KhunkhaoWriter)    นักเขียนนักคิดรุ่นเยาว์อีกท่านหนึ่ง น้องบอกว่าทุกอย่างมีอยู่ในหนังสือ หนังสือทำให้เราฉลาดขึ้น ทั้งเราอยู่ในยุคข้อมูลสารสนเทศ อินเทอร์เน็ต วันๆ มีข้อมูลข่าวสารถาโถมส่งต่อมาหาเรามากมาย ถ้าเราไม่อ่าน หรืออ่านอย่างไม่ฉลาดรู้เท่าทัน ก็อาจตกเป็นเหยื่อ เหตุผลอีกข้อที่ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งคือ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่อ่านได้ (แอบหยิกแกมหยอกในใจ ก็แน่ล่ะน้องจ๋า เพราะเราเป็นคนประดิษฐ์ตัวอักษรเอาไว้สื่อสารอ่านเขียนเองนี่จ๊ะ ฮา…) ขณะฟังบรรยาย ตัวเองพลันนึกถึงข้อความสีแดงที่เห็นมาหลายปี มันปรากฏอยู่บนผนังสีขาวของอุทยานการเรียนรู้ทีเคพาร์ค (http://www.tkpark.or.th) ที่ Central World ที่ว่า  The Readers today, the Leaders tomorrow นักอ่านในวันนี้ คือผู้นำ (ที่ดี) ในวันข้างหน้า มาถึงตอนนี้ เริ่มสนใจการอ่านกันหรือยัง…

แรงบันดาลใจในการอ่านหนังสือของดิฉัน กลับมาแล้ว … เย้… !!

หลังจากวันนั้น ดิฉันตั้งใจจะอ่านหนังสือ เพื่อเติมอาหารให้สมอง ร่วมสร้างสถิติใหม่การอ่านหนังสือของคนไทย เชิญชวนให้คนมาอ่านหนังสือโดยเริ่มจากคนใกล้ตัวก่อน และเท่าที่จำได้ ดิฉันเคยมีช่วงเวลาที่สนุกกับการอ่านหนังสือ ที่บ้านก็มีหนังสือที่ซื้อมาอ่านเก็บรวบรวมไว้ได้ตู้สองตู้เหมือนกัน แล้วจะเริ่มอย่างไรดีล่ะ ?

ดิฉันคิดทบทวนไปเมื่อครั้งเริ่มอ่านหนังสือใหม่ๆ เราเริ่มจากหนังสือที่เราอยากอ่าน แนวเรื่องที่เราชอบ สิ่งที่เราอยากรู้ เล่มไหนก็ได้ที่เราพลิกดูสารบัญพลิกสแกนดูเนื้อในแล้วเรารู้สึกอยากอ่านต่อ นั่นแหล่ะ วิธีเริ่มอ่านหนังสือของดิฉัน ถ้าอย่างนั้นเราคงจะต้องหาเวลาไปร้านหนังสือ เพื่อเลือกสักเล่มสองเล่มมาเริ่มต้นเส้นทางการอ่านครั้งนี้สินะ

ผ่านไป 1 สัปดาห์หลังจากฟังคุณดนัย เมื่อ 2 วันก่อน (วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557) จึงได้ชวนพี่ที่รักคนเดียวกับที่ชวนดิฉันเขียนเรื่องนี้ไปร้านหนังสือด้วยกัน ดิฉันเลือกหนังสือตามแนวทางข้างต้น ได้มา 5 เล่ม เล่มแรกที่ดิฉันหยิบคือ “ความสุข โดยสังเกต” นอกจากชื่อหนังสือที่เตะตา ด้วยความรู้สึกของตัวเองที่ว่าความสุขในชีวิตยุคปัจจุบันของคนกรุงเทพนี่ช่างหายากสิ้นดี รวมถึงตัวเองที่รู้สึกไม่ค่อยมีความสุขเท่าใดนักในช่วงเวลานั้น กับชื่อนักเขียนนิ้วกลมนั้นก็โด่งดังเสียจนต้องหยิบหนังสือมาพลิกดูว่ามีอะไรน่าสนใจข้างในมากพอที่จะทำให้ดิฉันอ่านจนจบเล่มได้หรือไม่ ที่แน่ๆ คือมันเล่มเล็ก เบาๆ อ่านง่ายสบายๆ คงจะอ่านจบได้ไม่ยาก ดีสำหรับการเริ่มต้นอ่านหนังสืออีกครั้ง ^__^  วันนั้น ดิฉันจึงเป็นเจ้าของหนังสือเพิ่มอีก 5 เล่ม หอบกลับบ้านด้วยความตั้งใจว่าจะต้องอ่านให้จบในเดือนนี้

ดิฉันใช้เวลาอ่าน “ความสุข โดยสังเกต” อยู่ 2 วันๆ ละ 1-2 ชั่วโมงในช่วงเช้าและก่อนนอน ก็จบเล่ม ไม่ผิดหวังเลย เพราะมีความสุขตั้งแต่เริ่มอ่าน ขณะอ่าน จนกระทั่งอ่านจบ และต่อไปนี้คือเศษเสี้ยวเล็กๆ ที่ได้จากหนังสือเล่มนี้

ทุกคนต้องการมีความสุข และนิ้วกลมก็รู้ถึงจุดนี้ จึงพยายามสังเกตความสุขที่เกิดขึ้นในชีวิตแต่ละวัน ทั้งของตัวเองและคนรอบข้าง จดบันทึกไว้แล้วนำมาเล่า เผื่อผู้อ่านจะได้รู้จักสังเกตความสุขหลายๆ รูปแบบที่อยู่ล้อมรอบตัว ผู้เขียนหยิบยกเรื่องราวของเพื่อนฝูงมาเล่าได้อย่างน่าสนใจ ทำให้ผู้อ่านยิ้มมีความสุขไปด้วย อย่างเช่นเรื่องงานแต่งงานธรรมดาๆ ของเพื่อนคนหนึ่งที่จัดในบรรยากาศทุ่งข้าวโพด มีอาหารเลี้ยงคือ ปลาหมึกปิ้ง กุยช่าย ผัดไท หอยทอด ที่เรียกแม่ค้ามาตั้งเต็นท์บริการในงาน ไม่ต้องมีประธานที่บ่าวสาวไม่รู้จักมากล่าวยืดยาวตอนเปิดงาน มีแต่พรจากพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ที่รักเคารพ กับการพูดคุยยิ้มหัวเราะระหว่างเพื่อนฝูงพี่น้อง งานแต่งงานน่ารักเพราะถูกจัดขึ้นมาด้วยความรักของญาติพี่น้อง เพลงบรรเลงที่แต่งแบบบ้านๆ พรีเซ็นเตชั่นเส้นทางรักของเจ้าบ่าวเจ้าสาวที่เพื่อนรักอดหลับอดนอนทำให้พร้อมมุขตลกสมัยมัธยม แม้ไม่เลิศเลอเหมือนจ้างมืออาชีพมาทำให้ แต่สวยงามในความเป็นมือสมัครเล่นที่ทุกคนลงมือทำให้น้อง ให้เพื่อน ให้พี่ด้วยความรัก ความสุขเกิดขึ้นเมื่อทำสิ่งธรรมดาให้กับคนพิเศษ

อีกเรื่องที่ชอบคือประสบการณ์ “ช่วงเสร่อ” ของแสตมป์-อภิวัชร นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดัง ช่วงเสร่อ คือ เสร่อคิดว่าตัวเองเก่ง แต่แทนที่จะเก่งแต่กลับเกร็งแทน ห่วงโน่นห่วงนี่ ตั้งใจมากเกินไป จนทำให้งานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร  อันนี้ตัวดิฉันเองก็มีประสบการณ์คืองานไม่ดี ความสุขความสำเร็จไม่เกิด เพราะเสร่อ นิ้วกลมสรุปว่า ความสุขคนเราจะเกิดขึ้นได้หากเป็นอิสระจากความคาดหวัง

หากใครเคยดู “เดี่ยวไมโครโฟร 8” ของโน้ส อุดม แต้พานิช คงจะอ่านเรื่องนี้ได้อย่างมีอรรถรส เพราะนึกถึงลีลาและน้ำเสียงของพี่โน้สตอนเล่าเรื่องการขับถ่ายตั้งแต่ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย จนกลับมาเมืองไทย ดิฉันเคยดูเดี่ยว 8 เหมือนกัน ชอบตอนเดียวกันกับนิ้วกลมคือตอนที่พี่โน้สเล่าเรื่องเพื่อนสาวชาวฝรั่งที่ชื่อเอมิลี่ กับประสบการณ์การใช้ “ขัน” ตักน้ำเพื่อชำระล้างหลังเสร็จกิจส่วนตัว ที่ทำเอาเอมีลี่เปียกโชกไปทั้งตัวเหมือนไปเล่นสงกรานต์มา เอมิลี่เคยใช้ตั้งแต่ขันธรรมดา ขันผูกเชือก ไปจนถึงขันเจาะรู พี่โน้สได้เงินมากมายจากการทำเดี่ยวไมโครโฟนหลายชุด ชุดละหลายๆ รอบ แถมขายแผ่นซีดีและดีวีดีได้อีกมากโข แต่นอกจากเงินแล้วเข้าใจว่าเสียงหัวเราะของพวกเราคนดูนี่เองที่ทำให้พี่โน้สอยากทำเดี่ยวไมโครโฟน ช่วงที่หยุดงานเดี่ยว พี่โน้สคงจะไม่มีความสุขเท่าไหร่ ความสุขที่สุดอย่างหนึ่งของคนเราคือการได้ทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ ในโลกนี้นั่นเอง

เรื่องเล่าของคานธีทำให้ดิฉันน้ำตาคลอ ชาวฮินดูคนหนึ่งที่กำลังจมกับความทุกข์จากการฆ่าเด็กชาวมุสลิมคนที่เพิ่งฆ่าลูกชายของเขา คำแนะนำของคานธีเพื่อให้ชายคนนั้นพ้นทุกข์คือการไปหาเด็กชาวมุสลิมที่พ่อแม่ถูกฆ่าตาย เอามาเลี้ยงและดูแลให้เหมือนลูกแท้ๆ ให้เติบโตเป็นคนดีคนหนึ่งให้ได้ เรื่องนี้อ่านแล้วประทับใจ เพราะการให้อภัยกับคนที่ทำร้ายเราเป็นสิ่งที่ทำได้ยากที่สุด แต่ถ้าทำได้ คุณก็จะมีความสุขที่สุดเช่นกัน

ยังมีเรื่องราว รอยยิ้ม และความสุขอีกมากมายที่จะหาได้จากหนังสือ “ความสุข โดยสังเกต” หากเล่าไปเรื่อยๆ นิ้วกลม คงจะเคืองพี่คนนี้แน่ๆ จึงขอทำหน้าที่เชียร์ให้ไปซื้อหาหนังสือมาอ่านเองกันดีกว่าค่ะ แล้วจะรู้ว่าทุกคนมีความสุขผ่านเข้ามาในชีวิตอยู่แล้ว เกือบทุกวัน เพียงแค่สังเกต ไม่มองข้าม และเมื่อรู้ว่าอะไรคือความสุขของตัวเรา ทำให้เราหัวเราะได้ ยิ้มได้ ก็จะได้หาวิธีทำให้ตัวเองมีความสุขมากขึ้น

การอ่านหนังสือดีอย่างนี้นี่เอง จะอ่านอะไรเป็นเล่มต่อไปดีนะ…  ^__^

ขอขอบคุณคุณดนัยและน้องขุนเขา สำหรับแรงบันดาลใจในการอ่านอีกครั้ง
ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการอ่าน และอย่าลืมไปร่วมแคมเปญ อ่านล้านเล่มประเทศไทย ด้วยนะคะ http://www.onemillionreadthailand.com/– ( 65 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


− eight = 1

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>