magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home Uncategorized พื้นที่ตรงไหน น้ำประปา‘เค็ม’
formats

พื้นที่ตรงไหน น้ำประปา‘เค็ม’

“น้ำเค็ม” เป็นปัญหาที่คงไม่มีใครคาดคิดว่า ในเมืองกรุงที่มีความเจริญในด้านต่าง ๆ และมีระบบสาธารณูปโภคครบครัน จะต้องมาประสบกับภาวะน้ำทะเลหนุนเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา จนทำให้ประปามีรสชาติ “กร่อย” ไปจนถึงขั้น “เค็ม”

ปีนี้ภัยแล้งในเมืองหลวงมาเร็ว และรุนแรงกว่าทุกปี เริ่มตั้งแต่ต้นปีเดือน ก.พ. การประปานครหลวง (กปน.) เริ่มประชาสัมพันธ์ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่ให้บริการถึงคุณภาพน้ำประปา ที่หากนำไปใช้บริโภคจะมีรสชาติเปลี่ยนไป โดยมีรสชาติกร่อยจนถึงขั้นเค็ม ทั้งนี้เนื่องจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสายหลักที่ใช้ผลิตน้ำประปาประสบปัญหาภัยแล้ง ในเขื่อนหลักทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนศรีนครินทร์มีปริมาณน้ำน้อยกว่าทุกปี และยังน้อยกว่าในปี พ.ศ. 2553 ที่เคยประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้กรมชล ประทานไม่สามารถปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำสายต่าง ๆ เข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างเพียงพอ
ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลยกตัว หนุนเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงกว่าทุกปี โดยหนุนเลยจุดสูบน้ำดิบสำแลเข้าคลองประปาที่อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ไปกว่า 10 กม. ไปไกลถึงอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรี อยุธยา ถือเป็นปัญหาน้ำเค็มรุกหนักในรอบ 100 ปีเลยทีเดียว ทำให้ กปน. ต้องสูบน้ำที่มีลิ่มความเค็มสูงเกินค่ามาตรฐานมาผลิตน้ำประปาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา มีค่าคลอไรด์ในน้ำประปาสูงถึง 800 มิลลิกรัมต่อลิตร และวันที่ 15-16 ก.พ.ที่ผ่านมา ค่าคลอไรด์พุ่งสูงถึง 1,800 มิลลิกรัมต่อลิตร จากค่ามาตร ฐานอยู่ที่ 250 มิลลิกรัมต่อลิตร ทำให้ผู้บริโภคน้ำประปารับรู้ได้ถึงความเค็มแม้จะผ่านการต้มแล้ว ส่วนการกรองทั่วไปก็แก้รสชาติของน้ำไม่ได้ ยกเว้นการกรองด้วยระบบ RO ซึ่งเป็นกรรมวิธีเทียบเท่ากับการกลั่นน้ำเลยทีเดียว

“แต่ปัญหานี้จะมีผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำประปาในพื้นที่ที่รับน้ำที่ผลิตจากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำส่วนใหญ่ อยู่ในพื้นที่ทางด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีจำนวน 1.46 ล้านราย จากผู้ใช้น้ำทั้งหมด 2.12 ล้านราย ส่วนน้ำที่ผลิตจากแม่น้ำแม่กลองในพื้นที่ฝั่งตะวันตกมีผู้ใช้น้ำ 6.6 แสนราย เป็นผู้ใช้น้ำในพื้นที่อยู่ด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จะไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้”

สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้ำประปาเค็ม เกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่อยู่ฝั่งพระนคร หรือทางด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่ในพื้นที่ฝั่งธนบุรี เพียง 4 เขต รวมทั้งสิ้น 39 เขต ได้แก่ 1.เขตพระนคร 2.ดุสิต 3.หนองจอก 4.บางรัก 5.บางเขน 6.บางกะปิ 7.ปทุมวัน 8.ป้อมปราบศัตรูพ่าย 9.พระโขนง 10.มีนบุรี 11.ลาดกระบัง 12.ยานนาวา 13.สัมพันธวงศ์ 14.พญาไท 15.ห้วยขวาง 16.ดินแดง 17.บึงกุ่ม 18.สาทร 19.บางซื่อ 20.จตุจักร 21.บางคอ แหลม 22.ประเวศ 23.คลองเตย 24.สวน    หลวง 25.ดอนเมือง 26.ราชเทวี 27.ลาดพร้าว 28.วัฒนา 29.หลักสี่ 30.สายไหม 31.คันนายาว 32.สะพานสูง 33.วังทองหลาง 34.คลองสามวา 35.บางนา 36.บางพลัด 37.ตลิ่งชัน 38.บางกอก น้อย และ 39.เขตทวีวัฒนา เป็นบางส่วน

สำหรับเขตจังหวัดสมุทรปราการจะได้รับผลกระทบน้ำเค็มเฉพาะพื้นที่ทางด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนจังหวัดนนทบุรี ได้รับผลกระทบน้ำเค็มในพื้นที่ด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ด้านฝั่งขาออกของถนนรัตนาธิเบศร์ตลอดสาย

นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการ กปน. เปิดเผยว่า ขณะนี้ กปน.ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน โดยเพิ่มการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  รวมถึงมีการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ผ่านทางคลองพระยาบรรลือ และคลองท่าสารวังปลา คลองจระเข้สามพัน เข้าสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้สามารถผลักดันลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา จากที่เคยขึ้นสูงถึงอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไล่จนลงต่ำกว่าจุดสูบน้ำสำแล จังหวัดปทุมธานี ไปได้แล้ว จึงสามารถควบคุมค่าคลอไรด์ในน้ำประปาจนอยู่ในค่ามาตรฐาน แต่หลังจากนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ไปตลอดจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน     โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งได้ประสานกรมชลฯ ให้ปล่อยน้ำเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง และได้รับการยืนยันว่าน้ำในเขื่อนใหญ่ทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จะมีเพียงพอใช้ได้ถึงสิ้นเดือน พ.ค.นี้ นอกจากนี้ยังมีน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ที่มีน้ำ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ผันข้ามมาช่วยได้อีก

’หากจะเกิดปัญหาน้ำประปากร่อยอีกครั้ง ก็อาจจะอยู่ในภาวะดังกล่าว 2-3 วัน ก็จะดีขึ้น ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์น้ำกันต่อไปจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งหากเกิดปัญหาน้ำเค็มรุกสูงถึงสำแลอีก จะใช้วิธีการบริหารจัดการกระบวนการผลิตน้ำประปาใหม่ เช่น หยุดการสูบน้ำดิบเข้าคลองประปา ในช่วงที่ค่าคลอไรด์สูง และรอจนกว่าลิ่มความเค็มจะลดต่ำลงจึงจะทำการสูบน้ำดิบตามปกติ รวมถึงการยกระดับน้ำในคลองประปาให้สูงขึ้น เพื่อสำรองน้ำดิบที่มีค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์นำมาผลิตน้ำประปาให้ได้มากที่สุด” ผู้ว่าการ กปน. กล่าว

ธรรมชาติเริ่มลงโทษมนุษย์ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติกันอย่างฟุ่มเฟือย แบบหนักหน่วงขึ้นทุกปี หากยังไม่รู้จักหวงแหนดูแลรักษาธรรมชาติ ต่อไปคนรุ่นลูกรุ่นหลาน  คงต้องอยู่กันอย่างลำบากมากขึ้น.

ใช้น้ำประปาเค็มอาจผื่นขึ้น-ส่งผลต่อผู้ป่วย

พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงกรณีน้ำทะเลหนุนสูงจนเกิดปัญหาน้ำเค็ม รุกล้ำเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาว่า ปัญหาน้ำเค็มที่กระทบต่อการผลิตน้ำประปาจะทำให้น้ำมีรสชาติที่เปลี่ยนไป มีความเค็มเพิ่มมากขึ้นนั้น ประชาชนที่ใช้น้ำในการอุปโภคและบริโภคอาจเกิดผลกระทบบ้าง โดยการใช้น้ำที่มีความเค็มในการอุปโภค เช่น การซักล้าง อาบน้ำ อาจไม่ส่งผลกระทบโดยตรง แต่หากประชาชนที่มีลักษณะผิวแพ้ง่าย การอาบน้ำที่มีความเค็มอาจเกิดผื่นคันได้ ส่วนการใช้น้ำในการบริโภค อาจเกิดผลกระทบต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น คนที่มีภาวะความดันโลหิตสูง และเป็นโรคไต การได้รับความเค็มเพิ่มขึ้นอาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ ซึ่งควรหลีกเลี่ยง แต่หากประชาชนนำน้ำที่จะใช้ในการบริโภคมาผ่านการต้มให้เดือด และตั้งทิ้งไว้ก็จะช่วยทำให้เกิดการตกตะกอนของสิ่งที่ปนเปื้อนทำให้น้ำมี ความสะอาดปลอดภัยมากขึ้น.

รายการอ้างอิง :
ประพิม เก่งกรีฑาพล. (2557). พื้นที่ตรงไหน น้ำประปา‘เค็ม’.  เดลินิวส์. วันจันทร์ 24 กุมภาพันธ์ 2557. จาก http://www.dailynews.co.th/Content/bangkok/218296/พื้นที่ตรงไหน+น้ำประปา‘เค็ม’.– ( 13 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


four × 3 =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>