magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก ปรากฏการณ์ ‘พายุหิมะ’เชื่อมโยงวิกฤติธรรมชาติเปลี่ยน!
formats

ปรากฏการณ์ ‘พายุหิมะ’เชื่อมโยงวิกฤติธรรมชาติเปลี่ยน!

ช่วงนี้มีพายุหิมะเกิดขึ้นซํ้าแล้วซํ้าเล่าในหลายประเทศ ระลอกใหม่ถล่มสหรัฐอเมริกาทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 ศพ รวมทั้ง โหมกระหนํ่าหลายเมืองของญี่ปุ่น ทั้งกรุงโตเกียวและพื้นที่ตะวันออกทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 23 ศพ ส่วนในพื้นที่ทางตอนเหนือของเวียดนามก็มีหิมะตกโปรยปราย ลงมา…เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้?

ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงการเกิดพายุหิมะให้ฟังว่า พายุหิมะเป็นลักษณะพิเศษของอากาศในเขตอบอุ่น ซึ่งจะตั้งอยู่ที่ละติจูด 30 องศาเหนือ ไปจนกระทั่งถึง 60 องศาเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเกิดในบริเวณรอยต่อระหว่าง 60 องศาเหนือ ที่เรียกว่า แนวปะทะอากาศ (Front) ซึ่งบริเวณแนวปะทะอากาศจะเป็นอากาศเย็นจัดจากขั้วโลกเคลื่อนที่มาเจอกับอากาศอุ่นชื้นที่มาจากบริเวณภาคพื้นสมุทร หรือภาคพื้นทวีปที่ไหลขึ้นไปทางเหนือ

โดยอากาศ 2 ตัวนี้ จะมีอุณหภูมิที่แตกต่างกันมาก ความหมายของคำว่าที่ต่างกันมาก คือ อุณหภูมิด้านหนึ่งจะตํ่ากว่า 0 องศาเซลเซียส ส่วนอีกด้านหนึ่งจะมีอุณหภูมิประมาณ 10-20 องศาเซลเซียส เมื่อเวลาที่อุณหภูมิตํ่ากว่ากันมากอากาศเย็นที่เข้ามาสอดใต้ตัวอากาศอุ่นจะทำให้อากาศอุ่นลอยตัวขึ้นแล้วเกิดการกลั่นตัว
แต่เนื่องจากว่าเกิดในละติจูดที่ 60 องศาเหนือ ประกอบกับมีอากาศเย็นจัดจากขั้วโลก ซึ่งเงื่อนไขของการเกิดหิมะ คือ จะต้องมีอุณหภูมิตํ่าตั้งแต่ 0 องศาเซลเซียส ตั้งแต่พื้นดินขึ้นไปตลอด รวมทั้งมีความชื้นสูง ฉะนั้น จะพบหิมะอยู่ทางด้านฝั่งอากาศอุ่นของแนวปะทะอากาศ และเมื่อเกิดหิมะตกมาก ๆ จะตกหนักอยู่ที่แนวเส้นปะทะอากาศนั่นเอง

“เวลาที่เกิดแนวปะทะอากาศแรง ๆ จะมีหิมะตกเกิดขึ้นเห็นได้ชัดเจน โดยลักษณะอากาศอย่างนี้จะสามารถทำนายได้แน่นอน จึงทำให้ประเทศทางยุโรปตอนเหนือจะรู้วันที่หิมะตกแน่นอนจากการติดตามสภาพอากาศ คือ แนวปะทะอากาศจะเคลื่อนไปอย่างช้า ๆ ทำให้สามารถมีการแจ้งเตือนกันได้ว่าวันนี้หรือพรุ่งนี้จะเกิดหิมะขึ้น หากหิมะตกหนักก็จะกลายเป็นพายุหิมะ คือ จะมีหิมะตกลงมาสูงกว่า 30 เซนติเมตร ในเรื่องของการป้องกัน คือ ให้คนอยู่ในบ้าน ในที่ปลอดภัย มีการเก็บเสบียงอาหารไว้ ซึ่งเป็นสภาพปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในประเทศที่มีพื้นที่อยู่ช่วงละติจูดใกล้ ๆ 60 องศาเหนือ อย่าง แถบตอนเหนือของแคนาดาถึงตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา หรือในประเทศญี่ปุ่น”

ด้านความรุนแรงของพายุหิมะ จะขึ้นอยู่กับว่าผลต่างของอุณหภูมิกับความชื้นมากแค่ไหน เพราะหิมะจะตกขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยนี้เป็นหลัก ถ้าใกล้แนวปะทะอากาศมากก็จะตกมาก อย่างในประเทศแคนาดาจะเจอบ่อยโดยจะมีหิมะตกสูงเป็นเมตร รวมทั้งทางด้านขั้วโลกเหนือหรือใกล้ขั้วโลกซึ่งอากาศจะต่างกันมาก

สำหรับปรากฏการณ์พายุหิมะที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ดร.สธน กล่าวว่า จะเกิดขึ้นบ่อยหรือไม่นั้นยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่ปัจจุบันเริ่มเข้าใจกระบวนการของการเกิดของปรากฏการณ์อย่างนี้มากขึ้น ซึ่งปีนี้จะมีคำศัพท์ว่า โพลาร์ วอร์เท็กซ์ (Polar Vortex) เกิดขึ้น ก็คือ ปกติขั้วโลกเหนือจะมีลมหมุนอยู่โดยรอบทางด้านอากาศชั้นบน โดยลมหมุน คือ อากาศอุ่นจากทางด้าน 60 องศา จะวิ่งไปที่ขั้วโลกเหนือแล้วตกลงมาในลักษณะคล้าย ๆ เซลล์ ซึ่งลมหมุนจะมีเหมือนเกราะเป็นเหมือนหูรูดไว้ ในขณะที่ตรงกลางจะเป็นอากาศเย็นจัด

นอกจากนี้ ยังมีกระแสลมอีกชุดหนึ่ง เรียกว่า เจ็ท สตรีม (Jet Stream) ภาษาไทยเรียกว่า ลมกรด เป็นลมที่อยู่ชั้นบนพัดด้วยความเร็วสูงมากพัดรอบโลก โดยด้านบนของลมกรดจะเป็นรอยต่อระหว่างเขตอากาศขั้วโลกกับอากาศอบอุ่น ซึ่งความเร็วของกระแสลมโพลาร์ วอร์เท็กซ์ จะขึ้นอยู่กับผลต่างของอุณหภูมิด้านในกับด้านนอก ยิ่งถ้าอุณหภูมิต่างกันมาก กระแสลมก็จะวิ่งเร็ว โดยประเด็นที่เกิดขึ้นแต่ยังไม่มีคำอธิบายว่าเกิดเพราะอะไร แต่มีการสังเกตนั้นก็คือ พบว่า ถ้าอุณหภูมิด้านในกับด้านนอกต่างกันน้อยลง คือ ผลต่างของอุณหภูมิเกิดขึ้นน้อยลง กระแสอากาศที่หมุนวนขั้วโลกหรือกระแสลมขั้วโลกจะอ่อนกำลังลง เมื่ออ่อนกำลังให้อากาศอุณหภูมิที่เย็นจัดที่กักไว้ด้านในก็จะไหลออกมา เมื่อทะลักออกมาก็จะมาดันกระแสลมกรดให้เกิดอาการโค้งงอ ซึ่งจะเรียกว่า โพลาร์ วอร์เท็กซ์

“โดยอาการโค้งงอนั้น ด้านที่ยื่นลงไปด้านล่างจะเป็นอากาศเย็นจัด ส่วนด้านที่สวนขึ้นไปจะเป็นอากาศอุ่นชื้น ฉะนั้น ชั้นที่เกิดการปะทะกันระหว่างอากาศเย็นจัดกับอากาศอุ่นชื้นที่เข้ามา บริเวณนั้นก็จะเกิดหิมะ เกิดพายุหิมะขึ้น ส่วนฝั่งที่เป็นอากาศอุ่นชื้น เมื่อกระทบอากาศเย็นตรงนั้นก็จะเกิดฝนตกหนัก จะเกิดสลับกัน โดยกระแสคลื่นอากาศนี้จะมีลักษณะการวนอยู่ 2-3 ลูก”

ดร.สธน กล่าวต่อว่า ในปีนี้บังเอิญเป็นปีที่มีสภาพปรากฏการณ์ของโพลาร์ วอร์เท็กซ์ เกิดขึ้นบ่อย นั้นคือ หากมองแผนที่สหรัฐอเมริกาในพื้นที่ที่อยู่ในส่วนโค้งลงของโพลาร์ วอร์เท็กซ์ ที่ยื่นลงซึ่งมีอากาศเย็นจัดที่ลงมาจากแคนาดาจะเกิดพายุหิมะตามเส้นโค้ง บริเวณนั้นก็คือ นิวยอร์ก เวอร์จิเนีย ซึ่งจะเป็นฝั่งตะวันออกของอเมริกา

แต่ขณะเดียวกัน ลมชื้นจากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกก็เข้าไปที่ประเทศอังกฤษส่งผลให้เกิดนํ้าท่วม ฉะนั้น ปรากฏการณ์นํ้าท่วมที่อังกฤษก็เกิดจากสาเหตุเดียวกัน นั้นคือ เพราะอยู่ในเส้นโค้งของโพลาร์ วอร์เท็กซ์ เส้นเดียวกัน ซึ่งทำให้ส่วนที่เป็นอากาศเย็นตกลงที่อเมริกาส่งผลให้เกิดพายุหิมะ ขณะที่อากาศอุ่นที่พัดจากเส้น ศูนย์สูตรจากเขตอบอุ่นก็พัดขึ้นไปที่อังกฤษซึ่งตั้งอยู่บนเส้นละติจูดที่ 60 องศาเหนือพอดี จึงทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นอย่างมาก เมื่อถัดมาที่ทางด้านยุโรปก็จะมีหิมะตก แล้วถ้าหากไล่ไปอีกฝั่งหนึ่ง ก็จะมีคลื่นอีกลูกหนึ่งที่ผ่านไปที่ญี่ปุ่นซึ่งก็จะโดนพายุหิมะเช่นกัน โดยทั้งหมดเกิดจากการอ่อนกำลังลงของกระแสลมขั้วโลก

’มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า กระแสลมขั้วโลกอ่อนกำลังลงเพราะอะไร ปัจจุบันพยายามจะเชื่อมโยงกับเรื่องของการละลายของนํ้าแข็งที่ควีนส์แลนด์ คือ อาจจะเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่ทำให้กระแสลมขั้วโลกเกิดการอ่อนกำลังลง เพราะนํ้าแข็งที่ละลายมานั้นมีความเย็น เวลาไหลลงทะเลจะไปทำให้อุณหภูมิของนํ้าทะเลลดลง พออุณหภูมินํ้าทะเลลดลง เมื่อขั้วโลกเย็นอยู่แล้ว ปกติลมจะอาศัยผลต่างของอุณหภูมิ บริเวณเหนือนํ้าทะเลที่จะลงมาอุณหภูมิก็ตํ่าซึ่งไม่ต่างกับขั้วโลกมากก็เลยเกิดกระแสลมที่อ่อนกำลังลง

อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจในเรื่องของอากาศจะไม่เหมือนคอมพิวเตอร์หรือรถยนต์ที่มีความชัดเจน แต่สำหรับเรื่องของอากาศ เป็นอะไรที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มีความซับซ้อนมาก จึงทำให้เงื่อนไขเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ถ้าจะสังเกตในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงจะต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูล คือ ไม่ใช่ดูแค่ปีนี้หรือปีหน้า แต่ต้องเฝ้าดูไปอีกประมาณ 4- 5 ปี หากยังมีปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในทุก ๆ ปี นั้นก็อาจหมายความว่า มีประเด็นในเรื่องของภาวะโลกร้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง”

ในส่วนของประเทศไทยจะเกิดหิมะตกได้หรือไม่นั้น ดร.สธน ให้ความกระจ่างว่า ประเทศไทย อยู่ในเขตร้อนประมาณจาก 30 องศาเหนือล่างมาถึง 0 องศาเหนือ โดยในเขตร้อนลักษณะอากาศจะไม่มีอุณหภูมิตํ่าหรือปัจจัยที่จะทำให้เกิดหิมะตกได้ เหมือนกับประเทศในเขตอบอุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านเราอยู่ในเขตล่างของโซนด้วย

ในส่วนทางด้านตอนเหนือ 30 หรือประมาณ 25 องศา ขึ้นไปนั้น มีโอกาสที่จะเจอหิมะได้แต่ไม่บ่อยครั้ง ตัวอย่างจากที่ผ่านมา บริเวณสะฮาราในประเทศอียิปต์มีหิมะตกนั้นเพราะตั้งอยู่ที่ละติจูดที่ 30 องศาเหนือ ในขณะที่เวียดนามมีหิมะตกเช่นกัน ซึ่งก็เป็นไปได้ เพราะเวียดนามตั้งอยู่ที่ละติจูดประมาณ 25 องศา ซึ่งทำให้มีช่วงอากาศหนาวเย็นเพียงพอที่จะทำให้เกิดหิมะตกได้

สำหรับ ประเทศไทย ช่วงที่มีอุณหภูมิ ตํ่ากว่า 0 องศาเซลเซียส จะเกิดขึ้นเฉพาะในยอดเขา แล้วก็มักจะเกิดขึ้นไม่นาน คือ ไม่เย็นจัดนานพอที่จะเกิดการก่อตัวของหิมะ แต่มีโอกาสเกิดนํ้าค้างแข็งหรือผลึก เกิดหยดนํ้าที่แข็งตัวได้ ฉะนั้น ประเทศไทยยังไม่มีโอกาสเกิดหิมะขึ้นได้.

………………………………………………………………….

ติดตามข่าวสาร ลดความสูญเสีย

ปรากฎการณ์พายุหิมะที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศที่ผ่านมา คงจะเป็นเรื่องของการรับรู้ข่าวสารว่าตอนนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในโลก แต่อาจจะไม่จำเป็นต้องไปวิตกกังวลว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย เพราะอยู่คนละช่วงกัน แต่ถ้าใครมีญาติพี่น้องอยู่ในประเทศที่เกิดพายุหิมะหรือจะเดินทางไปในประเทศนั้นๆ ในระหว่างที่มีสถานการณ์อย่างนี้ อาจจะต้องระวังให้มากขึ้น ซึ่งในลักษณะนี้ ควรจะสนใจ รับฟังข่าวสารการแจ้งเตือนจากทางหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด

แต่ต่อจากนี้ไปอีกไม่นานประเทศไทยก็จะเข้าช่วงหน้าร้อน การเกิดพายุฝนฟ้าคะนองก็จะมีมากขึ้นในบริเวณประเทศไทยตั้งแต่ตอนล่างขึ้นมา ควรต้องมีการตรวจสอบความแข็งแรง ทนทานของหลังคาบ้าน ที่อยู่อาศัย เพราะอาจมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ ร่วมกับฟ้าร้องและฟ้าฝ่า หากไม่มีการป้องกันอาจเกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินขึ้นได้ แต่ถ้ามีการป้องกันที่ดีก็จะช่วยลดการสูญเสียลงไปได้

รายการอ้างอิง :
ปรากฏการณ์ ‘พายุหิมะ’เชื่อมโยงวิกฤติธรรมชาติเปลี่ยน!. (2557). เดลินิวส์. วันจันทร์ 24 กุมภาพันธ์ 2557. จาก http://www.dailynews.co.th/Content/Article/218124/ปรากฏการณ์+‘พายุหิมะ’เชื่อมโยงวิกฤติธรรมชาติเปลี่ยน!.– ( 92 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


8 × = eight

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>