สำนักข่าวไทย นำเสนอข่าวเทคโนโลยี
สำนักข่าวไทย 24 ก.พ. 2557 -เทคโนโลยีมือเทียมรุ่นใหม่ล่าสุดที่ช่วยให้คนพิการรู้สึกได้ถึงความแตกต่างของสิ่งของที่สัมผัส เป็นอย่างไร
การรับรู้สัมผัสสิ่งของที่จับต้อง เป็นสิ่งที่ผู้พิการมือเทียมรอคอยมานาน ขณะนี้นักวิจัยยุโรปได้ประดิษฐ์คิดค้นมือกลที่ช่วยให้คนพิการรับรู้ได้ถึงความแตกต่างของสิ่งของที่สัมผัส
เดนนิส อาโบ โซเรนเซน ชาวเมืองอัลบอร์ก ประเทศเดนมาร์ก สูญเสียมือซ้ายไปจากอุบัติเหตุดอกไม้ไฟระเบิดเมื่อสิบปีก่อน เขาอาสาเข้าร่วมโครงการนำร่องการวิจัยมือเทียมรุ่นใหม่ที่ใช้งานได้เหมือนมีชีวิตจริงที่โรงพยาบาลเจเมลลี่ในกรุงโรมของอิตาลี โซเรนเซนบอกว่า เหลือเชื่อจริงๆที่เขากลับมารับรู้สิ่งของที่สัมผัสได้อีกครั้ง และหวังว่ามือเทียมนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่มีปัญหาเหมือนเขา ผลการวิจัยพบว่ามือเทียมของโซเรนโซสามารถรับรู้ความแตกต่างของวัตถุที่สัมผัสได้ และยังตอบสนองในทันทีที่เขาสัมผัสสิ่งของด้วย
ผู้พิการที่ใช้มือเทียมทั่วไปจะต้องจับตาดูการขยับเคลื่อนไหวมืออย่างระมัดระวัง ต้องใช้สายตาพิจารณาแทนการรับรู้สัมผัสว่าสามารถจับยึดสิ่งของได้แน่นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งอาจทำให้ดูเหมือนงุ่มง่าม และอาจทำจานชามข้าวของร่วงแตกได้
ในการทดลองใช้มือเทียมรุ่นใหม่นี้ แพทย์ได้ฝังขั้วไฟฟ้าเล็กๆไว้ในเส้นประสาทที่มือของผู้พิการสองเส้นคือ เส้นประสาทอัลนาและเส้นประสาทมีเดียน ซึ่งปกติจะเป็นตัวรับสัมผัสต่างๆที่มือ เมื่อนักวิจัยใช้กระแสไฟฟ้าอ่อนๆกระตุ้น โซเรนโซบอกว่า รู้สึกเหมือนนิ้วมือของเขาขยับได้ ซึ่งนั่นหมายถึงเส้นประสาทสามารถส่งข้อมูลไปยังสมองได้
ขณะเดียวกัน นักวิจัยได้ติดอุปกรณ์เซ็นเซอร์ไว้บนนิ้วสองนิ้วของมือเทียม เพื่อตรวจจับวัตถุที่มือเทียมสัมผัส แล้วเชื่อมสายไฟไปที่มือเทียม เมื่อขั้วไฟฟ้ากระตุ้นเส้น ประสาทในระดับที่เซ็นเซอร์ตรวจจับได้ ก็จะเกิดวงจรที่ทำให้มือกลสามารถสื่อสารกับสมองของโซเรนโซ่ได้ และเพื่อให้มั่นใจว่าโซเรนโซรับรู้สัมผัสจริง ไม่ใช่เพราะมองเห็นหรือได้ยินเสียง จึงให้เขาสวมหูฟังและใช้ผ้าปิดตาไว้
อย่างไรก็ตาม ยังต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมอีกหลายปี กว่าจะผลิตมือเทียมรุ่นใหม่นี้ออกมาวางจำหน่ายให้คนพิการทั่วไปใช้ได้
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมและชมภาพข่าวได้ที่เว็บไซต์ สำนักข่าวไทย อสมท. -
http://www.mcot.net/site/content?id=530ad078be04706bcc8b45a6#.Uw1fa4WDjGg– ( 13 Views)