magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home NSTDA มหกรรมตบยุงเมื่อ’น้ำน้อย-น้ำนิ่ง’เปลี่ยนเป็น’น้ำเน่า’
formats

มหกรรมตบยุงเมื่อ’น้ำน้อย-น้ำนิ่ง’เปลี่ยนเป็น’น้ำเน่า’

“หวี่ๆ” เสียงจากวายร้ายจอมยุ่ง ชื่อว่า “ยุงรำคาญ” หรือชื่อแบบอินเตอร์ว่า Urban Mosquito วายร้ายตัวเล็ก แต่มีฤทธิ์ไม่ธรรมดา ที่สำคัญเป็นพาหะของโรคไข้สมองอักเสบ โรคเท้าช้างในคน และโรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข

บ่นกับใคร ต่างก็เห็นด้วย พยักหน้ากันหงึกหงัก

ช่วงนี้ยุงชุมเหลือเกิน บินไปบินมาให้ว่อนไปหมด ทั้งตบ ทั้งตีกันมือระวิง และเป็นอานิสงส์ให้ไม้พิฆาตยุงขายดิบขายดีจนขาดตลาด

อย่าง “พี่แมน” พ่อค้าขายไม้ชอร์ตยุงไฟฟ้าย่านอนุสาวรีย์ที่บอกว่า สินค้าขายดีกว่าเดือนที่แล้วมาก จนต้องรับมาขายเพิ่มขึ้น แต่ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร

ส่วน ลุงประยงค์ สุขุม ชายวัยกลางคน บ้านอยู่ริมคลองใต้สะพานพระราม 3 เล่าว่า ในตอนกลางคืนและช่วงอากาศครึ้มฟ้า ครึ้มฝน จะเจอฝูงยุงชุมกว่าปกติ ต้องจุดไฟไล่ยุง ในช่วงนี้อากาศร้อนชื้น เป็นห่วงเด็กๆ ที่ออกมาวิ่งเล่นในตอนเย็น ยิ่งถ้าไปในที่ที่มีพุ่มหญ้ารก หรือตามแหล่งน้ำขัง กลัวจะถูกยุงกัด เป็นอันตรายมาก

โชคดีที่ในชุมชนจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาฉีดพ่นกำจัดยุงให้ พร้อมทั้งประกาศรณรงค์ให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำในชุมชน

ทว่า กองทัพยุงรำคาญนั้นมาจากไหนกัน?

ปกติเทศกาลตบยุงจะอยู่ในหน้าฝน โดยเฉพาะช่วงหลังฝนตกและเกิดน้ำท่วมขัง แต่คราวนี้มาเร็วกว่าเคย

บางคนว่าเป็นเพราะผลพวงจากเอลนิโญ!

เรื่องนี้ไม่ได้มั่ว แต่มีความเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญ

คาดการณ์กันว่าปรากฏ การณ์เอลนิโญส่งผลให้ปีนี้จะเกิดภัยแล้งอย่างรุนแรงในรอบ 10-15 ปี ไม่เพียงส่งผลให้น้ำประปาเค็ม เพราะปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในรอบ 100 ปีแล้ว น้ำจืดในเขื่อนที่เหลือน้อยต้องใช้เพื่อประโยชน์ทางการเกษตร ทำให้น้ำที่ปล่อยลงมาบรรเทาน้ำเค็มมีไม่มาก ทำให้ระดับน้ำในแหล่งน้ำลดลง

ล่าสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมชลประทาน การประปานครหลวง และกรมการระบายน้ำ ได้หาวิธีการระบายน้ำอย่างเป็นระบบ เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้กลายเป็นน้ำนิ่ง ทิ้งไว้นานเข้าจะกลายเป็นน้ำเน่า เพราะได้รับออกซิเจนที่ไม่เพียงพอ เป็นช่องว่างให้ยุงรำคาญสบโอกาสเข้ามาวางไข่ กลายเป็น กองทัพยุงในอนาคต

ยุทธนา สามัง นักปฏิบัติการวิจัย ภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถานที่เดียวในประเทศไทย ที่ได้ทำการศึกษาเรื่องสัตว์และแมลงในเขตร้อน บอกว่า กรณีของน้ำทะเลหนุนตัวสูงไม่ส่งผลต่อการเพาะพันธุ์ของยุง เพราะยุงวางไข่ในน้ำที่มีค่าความเป็น กรดด่างที่เป็นกลาง นอกจากกรณีที่มีน้ำหนุน สูงขึ้น และเกิดน้ำขัง ไม่มีการระบายน้ำอย่างเป็นระบบ ทำให้ลูกน้ำ ตัวโม่ง เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

อีกปัจจัยหนึ่งที่เกิดการขยายตัวของลูกน้ำและตัวโม่ง คืออุณหภูมิที่สูงขึ้น รวมไปถึงเกิดฤดูแล้งที่ติดต่อยาวนานก็ส่งผลต่อการเพาะพันธุ์ด้วยเช่นกัน โดยธรรมชาติแล้ว ยุงรำคาญจะออกหากินในช่วงพลบค่ำ ยามโพล้เพล้ หากอยู่นิ่งๆ จะรู้สึกว่าถูกยุงตอม ถูกกัดอยู่ตลอด โดยเฉพาะอยู่ในสถานที่โล่งแจ้ง

สำหรับ “ยุงรำคาญ” นอกจากจะสร้างความรำคาญ กวนใจแล้ว เมื่อถูกตอมหรือกัด จะทำให้เกิดผื่นคัน ผดแดงแต่จะหายในระยะเวลาอันสั้น ยุงแต่ละชนิดเป็นพาหะนำโรคที่แตกต่างกัน โดยจำแนกชนิดสายพันธุ์ตามลักษณะที่อยู่อาศัยได้ 2 จำพวก คือ 1.ยุงรำคาญในท้องนา และ 2.ยุงรำคาญในชุมชน แต่ชนิดหลังยังพบได้น้อยมากในประเทศไทย

ยุงรำคาญใน “ท้องนา” เป็นพาหะนำโรค “ไข้สมองอักเสบ” ซึ่งจะส่งผลกระทบกับทารกและเด็กเล็ก เพราะมีภูมิต้านทานต่ำ ส่วนยุงรำคาญใน “ชุมชน” เป็นพาหะนำโรค “เท้าช้าง” ที่ส่งผลระยะยาวทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่

ฉะนั้นทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัด ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ ไว้ดังนี้

1.ในบริเวณที่มีแหล่งน้ำตื้นเขินสามารถถมหรือปรับพื้นดินให้สูง เพื่อลดการขังน้ำ

2.ต้องจัดการระบบการระบายให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งยุทธนาบอกว่า ปัจจุบันทางภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ ได้ร่วมกับ สวทช. กระทรวงสาธารณสุขและ

มหาวิทยาลัย มหิดล นำแบคทีเรียพ่นลงไปในแม่น้ำ เสมือนเป็นการเพิ่มจุลินทรีย์ให้แก่น้ำเน่าได้รับออกซิเจนมากขึ้น ช่วยตัดวงจรการเกิดลูกน้ำและโม่ง ให้น้อยลง ได้ทดลองไปแล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาในลำคลองย่านจตุจัตรและสุทธิสาร ต้องใช้เวลา 2-3 เดือนจึงจะเห็นผล โดยต้องทำการศึกษาคำนวณพื้นที่และปริมาณน้ำ เพื่อวิเคราะห์การพ่นแบคทีเรียลงสู่น้ำในปริมาณที่เหมาะสมและสมดุลของระบบ นิเวศ

ด้าน สมพิศ โอษฐ์วารีหัวหน้ากลุ่มงานกองควบคุมโรคและแมลงนำโรคของสำนักอนามัย กล่าวว่า การกำจัดลูกน้ำ แมลงต่างๆ ในชุมชนเป็นภารกิจของสำนักงานเขต เพื่อควบคุมโรคไข้เลือดออก และจำกัดสัตว์ที่ก่อเหตุรำคาญ คือ หนู ยุง แมลงวัน และแมลงสาบ

ซึ่งในบรรดาสัตว์ก่อความรำคาญพบว่า ในกรุงเทพฯ ถือว่า “ยุงเป็นสัตว์ก่อความรำคาญมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 70 เปอร์เซ็นต์ของสัตว์ก่อความรำคาญทั้งหมด”

หัวหน้ากลุ่มงานกองควบคุมโรค กล่าวต่ออีกว่า การกำจัดยุงรำคาญต้องเริ่มที่ต้นเหตุ ยุงรำคาญจะแฝงตัวอยู่ในท่อระบายน้ำ และแหล่งที่มีขยะมูลฝอย จึงต้องเริ่มกำจัดยุงจากแหล่งน้ำ แต่การฉีดพ่นได้ผลน้อย ไม่เพียงเกิดการฟุ้งกระจายในอากาศ ยังเจือจางไม่ทั่วถึงทั้งพื้นที่

วิธีที่ได้ผลดีคือ ใส่สารยับยั้งการเพาะพันธุ์ลูกน้ำในแหล่งน้ำขังตามชุมชน โรงเรียนและวัด รวมทั้งรณรงค์ให้ความรู้กับคนในชุมชนให้กำจัดน้ำขัง รวมทั้งใส่ใจดูแลและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง

อย่าประมาทว่ายุงเป็นสัตว์ตัวน้อย แต่มีฤทธิ์แรง เป็นพาหะนำเชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย จึงต้องดูแลตัวเองและคนรอบข้าง อย่าปล่อยให้เป็นเรื่องของหน่วยงานใหญ่ที่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาเพียงอย่าง เดียวเท่านั้น ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน

รายการอ้างอิง :
จันทพิมพ์ ศุกรสุต. (2557). มหกรรมตบยุงเมื่อ’น้ำน้อย-น้ำนิ่ง’เปลี่ยนเป็น’น้ำเน่า’. มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 05 มีนาคม 2557, หน้า 1,18.– ( 19 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


seven + 2 =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>