magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home Health “คิวอาร์โค้ด”เสริมศักยภาพการสื่อสาร”คนหูหนวก”
formats

“คิวอาร์โค้ด”เสริมศักยภาพการสื่อสาร”คนหูหนวก”

‘คิวอาร์โค้ด  สำหรับคนหูหนวกจะมีไอคอน ที่เป็นภาษามือแปะ อยู่ตรงกลาง’

ความสำคัญของการสื่อสารยุคนี้ สำคัญมากกับทุกๆ ส่วนในสังคม ไม่เว้นแม้แต่คนที่มีความไม่พร้อมทางร่างกาย ยิ่งต้องการใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสารเพื่อการดำเนินชีวิตมีความง่ายขึ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้จัดงานให้ความรู้คนหูหนวกเพื่อใช้ประโยชน์จากการสื่อสารในยุค 3จี โดยศูนย์เทคโนโลยี ทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ  หรือ เนคเทค แนะนำให้ใช้ “คิวอาร์โค้ด” เป็นเครื่องมือให้คนหูหนวกเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสำคัญ เช่น ฉลากยา ชมรมคนหูหนวกกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ส่วนงาน กสทช.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา) ได้จัดการประชุมเรื่อง “การใช้ประโยชน์และการเข้าถึงโทรคมนาคม ยุค 3จี เพื่อการสื่อสารและการรับส่งข้อมูลข่าวสารสำหรับคนหูหนวก”:”3จี”สำหรับคนหูหนวก
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนหูหนวกจะใช้โทรศัพท์มือถือในการสื่อสารโดยการรับส่งข้อความผ่านเอสเอ็มเอส ซึ่งทำให้ต้องมีการโต้ตอบกันหลายครั้ง และมี การจำกัดปริมาณข้อความในการส่งแต่ละครั้ง

ขณะที่ ปัจจุบันการใช้โทรศัพท์ มือถือในยุค3จี ทำให้คนหูหนวกสามารถสื่อสารผ่านวีดิโอคอลล์ได้ หรือการใช้โปรแกรมโซเชียลเน็ตเวิร์ค อย่าง “ไลน์” ที่ทำให้คนหูหนวกสามารถสื่อสารผ่านข้อความได้อย่างไม่จำกัดจำนวนอักษร ทั้งยังสามารถถ่ายภาพ ส่งรูปภาพ ได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบอื่น เช่น “คิวอาร์โค้ด” เทคโนโลยีที่ทำให้ส่งข้อมูลได้จำนวนมาก ดังนั้นการใช้บริการ 3จี จะทำให้คนหูหนวกสามารถใช้บริการเพื่อเกิดประโยชน์กับการดำเนินชีวิตได้อีกมาก

“ในระดับโลกมีความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งผลักดันเพื่อให้เกิดเบสิกแพ็คเกจ หรือแพ็คเกจพื้นฐานของโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นได้ฟรี เช่น โซเชียลเน็ตเวิร์ค อย่างไลน์ หรือ วอทส์แอพ การเข้าถึงบริการข้อมูลข่าวสาร เช่น วิกิพีเดีย บริการพยากรณ์อากาศ และอื่นๆ อีกทั้งอีกไม่นานบริการ 2จี จะหมดไป เช่นที่ประเทศเกาหลีไม่มีบริการ 2จีแล้ว สำหรับประเทศไทยแม้จะยังไม่มีแผนการที่จะยกเลิกการให้บริการ 2จี แต่เรามีบริการ 3จีแล้ว และกำลังจะมีบริการ 4จี จึงเป็นโอกาสดีที่กลุ่มคนหูหนวกจะได้เรียนรู้วิธีการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตมากขึ้น” นายประวิทย์ กล่าว

:”คิวอาร์โค้ด”ตัวช่วยใหม่
นายณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล จากศูนย์เทคโนโลยีทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการสื่อสาร คิวอาร์โค้ด (QR code) ซึ่งเป็น บาร์โค้ดประเภทสองมิติทำให้สามารถเก็บข้อมูลบนคิวอาร์โค้ดได้มากกว่าบาร์โค้ด ทำให้เรานำข้อมูลจำนวนมากมาใส่ในคิวอาร์โค้ดได้ และเพียงใช้โทรศัพท์มือถือส่องไปที่สัญลักษณ์ดังกล่าวจะทำให้สามารถรับข้อมูลได้จำนวนมาก โดยสามารถใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ เช่น ประวัติผู้ป่วย การให้ข้อมูลทางวิชาการ เช่น วีดิโอลิงค์ เว็บไซต์วิชาการ เช่น วีดิโอลิงค์ เว็บไซต์

ทั้งนี้ คิวอาร์โค้ด สำหรับคนหูหนวกจะมีไอคอนที่เป็นภาษามือแปะอยู่ตรงกลาง หากพบคิวอาร์โค้ดที่มีภาพภาษามือ แสดงว่าเอกสารดังกล่าวมีการสื่อสารสำหรับคนหูหนวก คือ มีทั้งข้อมูลทางวิชาการและลิงค์วีดิโอภาษามืออยู่ด้วยกัน

“การประยุกต์ใช้ คิวอาร์โค้ด เพื่อส่งเสริมให้คนหูหนวกใช้ทั้งภาษามือและภาษาเขียน เข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และแก้ไขปัญหาการอ่านข้อความแล้วไม่เข้าใจ เช่น ฉลากยา  คิวอาร์โค้ด ก็จะสามารถช่วยได้ ทำให้คนหูหนวกเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ และการเพิ่มทักษะการเรียนรู้ตัวอักษร จะทำให้คนหูหนวกเข้าถึงบริการข้อมูลสาระข่าวสารต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่งคนหูหนวกสามารถโหลดแอพพลิเคชั่น คิวอาร์โค้ด ได้ฟรี โดยใช้คิวอาร์ ดรอยด์ (QR Droid) สำหรับระบบแอนดรอยด์ และใช้คิวอาร์ รีดเดอร์ (QR Reader) สำหรับระบบ ไอโอเอส เป็นบริการฟรี สำหรับคนหูหนวก”

รายการอ้างอิง :
“คิวอาร์โค้ด”เสริมศักยภาพการสื่อสาร”คนหูหนวก”. (2557). กรุงเทพธุรกิจ. ฉบับวันที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2557, หน้า 8.– ( 6 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


four + = 8

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>