เมื่อปี 2540 หากยังจำได้ “ร่มสันกำแพง”งานหัตถกรรมพื้นบ้านแทบจะหายไปจากเชียงใหม่เลยทีเดียว สาเหตุมีหลายประการ เช่น การทำร่มในอาเซี่ยนหลายชาติก็ทำได้ พม่าก็มี ลาวก็มี จีนก็มี แล้วเราต่างจากที่อื่น ๆ ตรงไหน
จน นส.กัณณิกา บัวจีน กรรมการ ผู้จัดการ ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่ม ตำบลต้นเปา สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ถอดใจแล้วว่า เราจะดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างไร
“ก็ต้องมาคิดใหม่” โดยเฉพาะการ กระโดดเข้าสู่เออีซี
โมเดลของร่มบ่อสร้างที่ น.ส. กัณณิกา บัวจีน ให้สัมภาษณ์ สรุปได้ว่า ตลาดมีความต้องการผลิตภัณฑ์ของร่มบ่อสร้าง ตลาดต้องการงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ และตลาดต้องการงานที่เข้ากับวิถีชีวิตของคนยุคใหม่
เธอเริ่มหันมาปรับตามคำเรียกร้องของลูกค้า โดยการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้
อย่างแรกเรื่องของจีไอ หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทำให้ร่มสันำแพงมีเอกลักษณ์ตามท้องถิ่น
“เช่นมีการถ่ายทอดประวัติศาสตร์มาอย่างไร ลวดลายดั้งเดิมเป็นอย่างไร”
จากนั้นก็ใส่เทคโนโลยี
“เราต้องการพัฒนาเตาอบไม้สำหรับการส่งออกที่ไม่ใช้สารเคมี เพราะลูกค้าของเรามีความต้องการสินค้าแนวเป็น มิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
มีการพัฒนาเรื่องการดีไซน์ในโครงการ “ล้านนาคอลเล็กชั่น” แทนที่ผู้ประกอบการรายย่อยจะแยกกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ ของตกแต่งบ้านไปคนละทิศคนละทาง หลาย ๆ ผู้ประกอบการ จากหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์มาร่วมกันพัฒนาสินค้าไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน ตั้งแต่ชุดโต๊ะรับประทานอาหาร ร่มสนามสำหรับการตกแต่ง หมอนอิง ชุดจานช้อน มีการสรรค์สร้างสินค้า สีสัน ออกมาสอดคล้อง กัน ทำให้ขายไปในตลาดเดียวกันได้
พัฒนาเรื่องของการสร้างความแตกต่าง ที่คุณภาพด้วยนาโนเทคโนโลยีและคาร์บอนฟุตพรินต์
“ลูกค้ามักจะถามว่าอยากได้ร่มที่ กันน้ำได้ ถามมาเป็นสิบปี ทำให้เราพัฒนาร่มนาโนเพื่อกันน้ำ อยู่ในระหว่างพัฒนาต่อ เพราะร่มกันน้ำช่วยให้กลิ่นของสีลดลงด้วย แต่การเขียนลวดลายบนร่มที่เคลือบสารนาโนยังทำได้ยาก ตรงนี้เรามีการพัฒนาต่อโดย สวทช.จะเข้ามาพัฒนาต่อเนื่องแนวทางก็คือว่าจะทำอย่างไรให้สีเขียนบนกระดาษสา นาโนได้”
นอกจากนี้ ที่กำลังดำเนินการอยู่ก็คือ เรื่องของการทำคาร์บอนฟุตพรินต์ คำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต สามารถที่จะบอกได้ว่าเป็นกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ซึ่งลูกค้ามักจะเข้ามาดูสถานที่ถ่ายทำ เรื่องราว กระบวนการผลิต เพื่อนำไปเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น ลูกค้าสิงคโปร์ มักมีคำถามว่าช่วยลดโลกร้อนตรงไหน เป็นคำถามที่ต้องตอบเป็นวิทยาศาสตร์ และมีกระบวนการคำนวณ จัดการ มีการรับรองผลโดยองค์กรที่เชื่อถือได้
แผนต่อมาคือเรื่องของกระบวนการผลิต ที่เธอว่าการทำไม้โครงร่มมีคนทำน้อยลง เริ่มตั้งแต่การเก็บ การอบ การเหลา จนกระทั่งมัดเป็นโครงร่ม เด็กรุ่นใหม่ไม่นิยมทำงานแบบนี้แล้ว ซึ่งก็จะต้องมีเครื่อง ทุนแรงที่จะต้องคิดและสร้างออกมาเพื่อช่วยในการผลิตไม้โครงร่มต่อไป
ส่วนงานเพนต์ เขียนลายบนตัวร่ม มีบุคลากรที่พอเพียง เด็กรุ่นใหม่ชอบงานเขียน ที่ทำก็คือ การสรรค์สร้างให้ลวดลายดั้งเดิมสวย ๆ ถูกออกแบบให้ทันสมัยแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านเราให้ได้
ร่มจากศูนย์อุตสาหกรรมทำร่ม เติบโตเฉลี่ย 10% ในปีที่ผ่านมามีตลาดชาว ต่างชาติ 70% ชาวไทย 30%
ตลาดของร่มสันกำแพงในวันนี้เพื่อก้าวสู่เออีซี สินค้าวัฒนธรรมจึงต้องสร้างความแตกต่างทางด้านเทคโนโลยีอย่างมาก และไม่ได้จำกัดแค่นักท่องเที่ยวที่มาที่ บ่อสร้างเท่านั้น แต่เมื่อมาเชียงใหม่ทัวร์ ก็จะพามาลงดูกระบวนการผลิต แต่จะขายของได้เท่าไหร่ ขายดีหรือไม่ แตกต่างกับร่ม อื่น ๆ หรือไม่ คำตอบทั้งหมดคือผลจากการพัฒนาที่กล่าวมา
รายการอ้างอิง :
ถอดรหัส ‘ร่มบ่อสร้าง ‘ สู่เออีซีเคลือบนาโน-คาร์บอนฟุตพรินต์. ประชาชาติธุรกิจ. ฉบับวันที่ 10 มีนาคม, หน้า 21.– ( 36 Views)