‘สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ควรรู้คือ วิธีที่ทำให้งานทดลอง กลายเป็นธุรกิจจริงๆ’
5ปีที่แล้ว “สิทธิชัย แดงประเสริฐ” “พิษณุ แดงประเสริฐ” และ “พิชชากานต์ พิทยกรพิสุทธิ”3 นักวิทยาศาสตร์ ตัดสินใจวางเดิมพันใน “บริษัท ซีดีไอพี จำกัด” หรือ CDIP เพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์ยา และ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องแบบครบวงจร ด้วยเงิน ลงทุนเริ่มต้น 1.3 ล้านบาทและนักวิทยาศาสตร์ 1 คน เรียกได้ว่าเป็นการเริ่มต้นธุรกิจด้วยสูตร “วัดดวง”
“พิษณุ แดงประเสริฐ” หนึ่งในผู้บริหารบริษัท ซีดีไอพี เล่าว่า เขาและสิทธิชัยคุ้นเคย ธุรกิจยาอยู่แล้ว เพราะเป็นธุรกิจที่ครอบครัวเขาคลุกคลีมาโดยตลอด เมื่อเขาและคู่แฝดจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านไบโอเทคโนโลยีก็มาสานต่อธุรกิจของครอบครัว ด้วยการทำธุรกิจรับจ้างผลิตยา ภายใต้บริษัท ค๊อกซ์ แล็บบอราทอรี่ส์ เมื่อค๊อกซ์ฯ เริ่มเปิดดำเนินการ ก็พบกับวิกฤติอุตสาหกรรมยาที่ปรับลดลง เพราะนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้ราคายาปรับตัวลดลงอย่างมี นัยสำคัญ
วิกฤตวงการยาครั้งนั้น ทำให้ “พิษณุสิทธิชัย” เบนเข็มมาสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ซึ่งต้องยกความดีให้กับครอบครัวอีกครั้ง เพราะสิ่งที่ทำให้พวกเขาจับเทรนด์ธุรกิจอาหารเสริมได้ ก็เพราะครอบครัวค่อนข้างรักสุขภาพ และคุ้นเคยกับการทานอาหารเสริมมาตลอด ธุรกิจที่ 2 ซึ่งทั้งคู่จับขึ้นมาปั้นคือ บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย)
เส้นทางธุรกิจของทั้งคู่ กลับไม่มีพรมกุหลาบมาปูรอ เพราะกลยุทธ์ใช้เซลล์ขายยา ไปขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ไม่สามารถ ทำให้ยอดขายของเจเอสพี เป็นไปตามเป้า ซึ่ง “พิษณุ” ยอมรับว่า “เป็นเพราะ MIND SET ของเซลล์ขายยาไม่เอื้อต่อการขายอาหารเสริม” พวกเขาจึงเบนเข็มมาเป็น ผู้รับจ้างผลิตอาหารเสริมแทน
“ตอนที่รับจ้างผลิตอาหารเสริม เราก็โฟกัสที่ลูกค้ารายใหญ่เป็นหลัก ระหว่างนั้น เรามีแผนกอาร์แอนด์ดีควบคู่อยู่ด้วย แรกๆ ที่รับจ้างผลิตอาหารเสริม เราต้องทำตามสูตรของบริษัทต่างชาติที่จ้างเราผลิต ระหว่างนั้นเราก็ลงทุนเรื่องอาร์แอนด์ดีอยู่ตลอด จนเมื่อลูกค้าเห็นศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาของเรา ก็กลับกลายเป็นว่า เขาต้องบินมาหาเรา ให้เราคิดค้นสูตรอาหารเสริมให้ ทำให้เราสามารถลีดลูกค้าได้ จนตอนนี้ ลูกค้าที่เป็น ผู้ผลิตอาหารเสริม TOP 10 ของโลกก็จ้างเราผลิตแทบทั้งนั้น” สิทธิชัยเสริม
“สิทธิชัย” เล่าว่า เมื่อเห็นวี่แววความเป็นไปได้ทางธุรกิจของแผนกวิจัยและพัฒนา เขาก็ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ในสาขาการจัดการนวัตกรรม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีโอกาสได้ไปทัศนศึกษาที่อุทยานวิทยาศาสตร์ จึงมีโอกาสเห็นการสนับสนุน จากภาครัฐในแบบที่จับต้องได้ เขาเลือกคุยกับผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.หรือ NSTDA) ในเย็นวันนั้น และได้โจทย์ว่า “จะทำอย่างไรให้งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ไทยพัฒนาขึ้นมาเป็นธุรกิจ”
เขาแชร์โจทย์ให้พิษณุ และความเห็นด้วย ก็เกิดขึ้นทันที ทั้งคู่จึงตัดสินใจแยกแผนกวิจัย และพัฒนาออกจากเจเอสพี เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่ชื่อ บริษัท ซีดีไอพี จำกัด (CDIP) จังหวะเดียวกันนั้นเอง ที่”พิชชากานต์ พิทยกรพิสุทธิ” เข้ามาเติมเต็มด้านการขายให้ซีดีไอพี
“พิชชากานต์” จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยและสาขาเดียวกันกับทั้งพิษณุ และสิทธิชัย เธอเป็นรุ่นน้องพวกเขา 3 ปี ได้รู้จักกับฝาแฝดคู่นี้ครั้งแรกเมื่อครั้งที่ทั้งคู่ไปรีครูท (RECRUIT) นักวิจัยในมหาวิทยาลัยเพื่อมาร่วมงานกับเจเอสพี และพิชชากานต์ ได้รับคัดเลือกครั้งนั้น เธอร่วมงานกับเจเอสพีระยะหนึ่ง ก็ตัดสินใจไปหาประสบการณ์การทำงานในบริษัทข้ามชาติ
“ที่ออกจากเจเอสพีตอนนั้น เพราะต้องการสร้างคาแรคเตอร์ของตัวเอง เราไม่ต้องการเป็นเซลล์ที่ทำงานในออฟฟิศอย่างเดียว และไม่อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ก็เลยออกไปร่วมงานบริษัทต่างประเทศที่ทำธุรกิจขายยาในไทย ทำอยู่ 3 ปี ก็มีโอกาสให้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง”
เมื่อไอเดียเกิด คนพร้อม หมากตัวสุดท้ายในการวัดดวงครั้งนี้ของพวกเขา คือ
“เงินลงทุน” พิชชากานต์เล่าว่า งานแรกที่ต้องรับผิดชอบคือ ทำให้ออฟฟิศซีดีไอพีเข้าไปอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ จากนั้นก็ทำงานตั้งแต่เฝ้าช่าง เฝ้าออฟฟิศ และคำนวณเงินลงทุนก้อนแรกของบริษัท เธอเคาะตัวเลขด้วยตัวเองที่ 1.3 ล้านบาท และพิษณุ-สิทธิชัย ก็กล้า เชื่อใจเธอ
ซีดีไอพีเริ่มด้วยพนักงานทั้งหมด 4 คน ซึ่งต้องช่วยกันคิดว่าจะหารายได้ให้บริษัทได้อย่างไร เมื่อผู้ประกอบไทยไม่ชอบมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา โจทย์นี้จัดว่ายากกว่าการเซ็ตอัพบริษัทขึ้นมาเสียอีก เธอและทีมใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการพลิกแพลง ตกผลึกรูปแบบธุรกิจ จนท้ายที่สุดก็ลงตัวที่การเป็นผู้ให้บริการวิจัยและพัฒนาผลิตยาและอาหาร เสริมแบบครบวงจร ลูกค้าส่วนใหญ่คือ โมเดิร์นเทรด กลุ่มเทรดดิ้ง และกลุ่มโรงงานยา บริษัทยา ร้านขายยา
“4 ปีที่แล้วลูกค้าไม่อยากมีอยากมี ค่าใช้จ่ายในส่วนของอาร์แอนด์ดี ลูกค้าจะมีคาแรคเตอร์แบบจ่ายเงินและได้ของกลับไป เราก็ต้องปรับรูปแบบมาเรื่อยๆ จากเดิมที่รับจ้างวิจัยและพัฒนา แต่พอจับทางลูกค้าได้ว่าต้องการอะไรที่เบ็ดเสร็จ เราก็เปลี่ยนมาเป็นให้บริการวิจัยและพัฒนาแบบครบวงจร ลูกค้ามากับไอเดีย งบประมาณ เราคิดสูตรให้ ออกแบบดีไซน์ให้ และผลิตให้ เรียกได้ว่าเป็น One Stop Service ” จากจุดเริ่มต้นของซีดีไอพี เมื่อ 5 ปีก่อน ปัจจุบัน ซีดีไอพี มีรายได้รวมในปี 2556 จำนวน 134 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากปี 2555 ที่มีรายได้รวม 75 ล้านบาท และย้อนหลังไปปี 2554 -2553 บริษัทมี รายได้รวม 50 ล้านบาท และ 27 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับ 20-30% และอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 15% และปัจจุบันมีพนักงานทั้งสิ้น 36 คน เป็นนักวิจัย 16 คน
ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ก็คือ “การเห็นโอกาสทางการตลาด” และจากปีนี้ไป “ซีดีไอพี” ก็จะก้าวขึ้นบันไดสู่องค์กรธุรกิจอีก 1 ขั้น พวกเขาจะนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือร่วมกับสำนักงานก.ล.ต. และเลือกที่ปรึกษาทางการเงิน คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ในปี 2560
“พิษณุ” กล่าวปิดท้ายว่า เป้าหมายต่อไปของซีดีไอพี คือการเติบโตแบบก้าวกระโดดโดยไม่ต้องมีโรงงานของตัวเอง การเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะได้เงินระดมทุนมาขยายธุรกิจ และ สร้างความแข็งแกร่งรอรับการทุนต่างชาติ ที่จะเข้ามาสู่ตลาดในเร็วๆ นี้
รายกรอ้างอิง :
ศนิชา ละครพล. (2557). นักวิทย์เห็นโอกาสทองตลาดหุ้นเล็งระดมทุนปั้นธุรกิจร้อยล้าน. กรุงเทพธุรกิจ (คนรุ่นใหม่การเงิน). ฉบับวันที่ 10 มีนาคม, หน้า 18.– ( 30 Views)