magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก ปิดขุมทรัพย์กองทุนสื่อสารก้อนมหึมา5หมื่นล้าน
formats

ปิดขุมทรัพย์กองทุนสื่อสารก้อนมหึมา5หมื่นล้าน

กลายเป็นที่สนใจขึ้นมาทันที สำหรับฐานะของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ที่ได้รับเงินจากการประมูลใบอนุญาตให้บริการทีวีดิจิตอล (ไลเซนส์) 24 ช่องรายการทีวีดิจิตอลไปอื้อซ่า

จนทำให้กองทุน กทปส.กลายเป็นขุมทรัพย์แห่งใหม่ที่ใครๆ อยากเอื้อมมือเข้าไปมีส่วนร่วม

เพราะกองทุนแห่งนี้จะมีสภาพคล่องในมือสูงลิ่ว 5-6 หมื่นล้านบาท

ที่สำคัญเงินรายได้ของ กทปส.ที่ใช้ไม่หมดในแต่ละปีก็ไม่จำเป็นต้องนำส่งคืนคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน

นั่นหมายถึงว่า จะทำให้กองทุน กทปส.มีขนาดใหญ่ขึ้นๆ ทุกปี จนเป็นที่ยั่วยวนของหลายฝ่าย แม้ว่าการจัดสรรเงินกองทุนจะอยู่ภายใต้อำนาจบอร์ด กทปส.ก็ตาม

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ในฐานะกรรมการและเลขานุการกองทุน กทปส. ระบุว่า ในปี2557 กทปส.มีรายได้ขณะนี้รวม 2 หมื่นล้านบาทโดยรายได้หลักมาจากเงินงวดแรกที่ได้รับจากผู้ประมูลไลเซนส์ทีวี ดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท

เงินก้อนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ในการแจกคูปองเพื่อซื้ออุปกรณ์รับชมทีวีดิจิตอล ให้กับประชาชนทั้งประเทศ 22 ล้านครัวเรือน โดยคาดว่าจะแจกให้รายละ 800 บาทต่อครัวเรือน

เงินก้อนที่สอง จะปันจากกองทุนนำไปพัฒนาบริการที่เกี่ยวกับโครงข่ายโทรคมนาคม เช่น โครงการกระจายโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกในพื้นที่ห่างไกล หนองคายพิษณุโลก 1.8 หมื่นล้านบาทและการนำเสนอบริการบรอดคาสต์เพื่อผู้ด้อยโอกาสหรือคนพิการฯลฯ

“การใช้เงินกองทุนในแต่ละโครงการต้องแจกแจงและอธิบายรายละเอียด และผมขอการันตีว่า เงินจะไม่ถูกล้วงลูกจากใครก็ตาม ไม่ว่าจะจากรัฐบาลหรือบอร์ด กสทช.คนใดที่จะมานำเสนอหรือสั่งให้พิจารณาโครงการใดเป็นพิเศษ” ฐากร ยืนยัน

ฐากร ย้ำว่า การทำงานของบอร์ด กทปส.ที่ผ่านมายังมีความเห็นตรงกันทั้ง 11 คน ไม่มีเสียงข้างน้อยหรือมีเสียงข้างมากอย่างบอร์ดใหญ่ กสทช. โดยโครงการใดที่ได้รับการทักท้วงจะถูกนำไปทบทวนในรายละเอียด ก่อนนำเสนอบอร์ดจนกว่าจะเห็นชอบตรงกัน เพื่อให้แต่ละโครงการที่ออกมาเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์มากที่สุด

ล่าสุด กทปส.เตรียมเสนอให้ที่ประชุมบอร์ด กสทช.วันที่ 19 มี.ค. พิจารณางบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการที่เป็นประโยชน์เพิ่มจาก 150 ล้านบาท เป็น500 ล้านบาท โดยจะเน้นไปที่โครงการที่มีแผนการพัฒนาชัดเจนและเปิดกว้างให้องค์กรหรือ หน่วยงานต่างๆ เสนอโครงการเข้ามาที่ กทปส.ได้ เพื่อที่ว่างบประมาณต่างๆ จะถูกคืนกลับไปยังประชาชนทั้งประเทศอย่างเท่าเทียม

อย่างไรก็ตาม แม้เลขานุการกองทุนฯ จะย้ำชัดว่าการใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ของกองทุนนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบ เป็นมติบอร์ดร่วมกัน ไม่สามารถจัดสรรให้ “โครงการพิเศษ” ตามใบสั่งของใครหรือฝ่ายการเมืองได้

แต่ทว่า ด้วยเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลและมีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นนี้ กลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่ที่แม้จะไม่ได้จัดสรรให้โครงการพิเศษ แต่จะมี “คนพิเศษ” จากรัฐบาลที่จะส่งตัวแทนลงชิงเก้าอี้กรรมการกองทุนให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้ผลักดันโครงการต่างๆแม้กระทั่งการบล็อกโหวตในเรื่องต่างๆที่มีผล ประโยชน์ของประชาชนเป็นเพียงฉากบังหน้าก็เป็นได้

แม้แต่วันนี้เอง กองทุน กทปส.ใช่ว่าจะปลอดจากการเมืองเสียทีเดียว เพราะการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน 11 คน เมื่อปลายปี2554 จะพบมีกรรมการ 2 ส่วน คือ ตำแหน่งตามกฎหมาย 6 คนและผู้เชี่ยวชาญ 5 คน และจะหมดวาระปลายปีนี้

ประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ 1.พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. 2.ฐากรเลขาฯ กสทช. 3.ธงทอง จันทรางศุปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 4.ชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 5.มนัส แจ่มเวหาอธิบดีกรมบัญชีกลาง 6.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

ส่วนกรรมการผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่มี 5 คน ที่ประกอบด้วย 1.พล.อ.ธงชัย เกื้อสกุล อดีตประธานกรรมการ กสช. 2.พนา ทองมีอาคม อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 3.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อดีตประธานกรรมการ บริษัท ทีโอที 4.นันทพล กาญจนวัฒน์และ5.ต่อพงศ์ เสลานนท์นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย มีวาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี

โดยเฉพาะชื่อ”นันทพล” เป็นคนที่คุ้นหูคุ้นตาไม่น้อย เพราะเป็นทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์สส.พรรคเพื่อไทยบุตรสาว “เยาวภา วงศ์สวัสดิ์”ให้เพิกถอนการอายัดเงินจากคตส.ในคดีซุกหุ้นอันลือลั่น

“ภาพที่มองจากคนข้างนอก มองว่าเงินที่เก็บเข้ากองทุนจะมีคณะกรรมการบริหารกองทุนเป็นคนบริหารจัดการ ทั้งหมด แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น สำนักงาน กสทช.เองก็ทำแผนกำหนดรายละเอียดการใช้จ่ายไว้หมดแล้ว โดยระบุลึกลงไปถึงว่า จะใช้ในพื้นที่ใดเท่าไรจะใช้วิธีการประมูลเพื่อจัดสรรโครงการอย่างไรซึ่งใน พ.ร.บ.กสทช. ระบุชัดว่า การใช้เงินต้องเป็นไปตามแผนก่อน แต่คณะกรรมการกองทุนเองมีภาระในการจัดสรรเงินสนับสนุนในอีก 5 วัตถุประสงค์” นันทพลมือกฎหมายชื่อดังระบุ

ขุมทรัพย์ก้อนโตในกิจการโทรคมนาคมจึงน่าสนใจไม่น้อย

รายการอ้างอิง :

ณัฐวรรณ ฉลองขวัญ. (2557). เปิดขุมทรัพย์กองทุนสื่อสารก้อนมหึมา5หมื่นล้าน. โพสต์ทูเดย์ (รายงานพิเศษ). ฉบับวันที่ 10 มีนาคม, หน้า B12.– ( 7 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


9 − two =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>