“เบาหวาน” ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ใช่โรคติดเชื้อ แต่เป็นโรคเรื้อรังที่จะส่งผลให้ร่างกายค่อยๆ เสื่อมลงเรื่อยๆ
ความจริงแล้วโรคนี้ไม่ได้ทำให้คนเสียชีวิต แต่เพราะเป็นโรคที่นำมาซึ่งโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อระบบการทำงานภายในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น หัวสมอง หัวใจ ตา ไต หรือ เท้า ฯลฯ
จึงทำให้โรคเบาหวานเป็นเรื่องร้ายแรงที่ต้องรีบตรวจวินิจฉัยและป้องกันรักษานั่นเอง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เทพ หิมะทองคำ ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลเทพธารินทร์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคเบาหวาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคเบาหวานจำนวนมาก
มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ของประชากร โดยสถิติของประชากรอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป ตกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ อายุเกิน 45 ปีขึ้นไป ตกประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในจำนวนนี้ ครึ่งหนึ่งไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวาน
และเนื่องจากไม่รู้ ทำให้ไม่รู้จักดูแลตัวเอง จำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นเพื่อที่จะได้นำมาซึ่งการวินิจฉัยและรีบรักษา ควบคุม
“จากสถิตินี้มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลคือ เพราะคนไทยขาดการออกกำลังกาย และกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นเบาหวานก็เมื่ออ้วนไปแล้ว ซึ่งความอ้วนจะทำให้อาการต่างๆ ปรากฏขึ้น โดยอาการต่อมาคือปัญหาหลอดเลือดหัวใจ ปัญหาหลอดเลือดสมอง ทั้งนี้ปัญหาหลอดเลือดหัวใจและปัญหาหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิต” นายแพทย์เทพกล่าว
จะเห็นได้ชัดว่า วัยยิ่งสูงขึ้นผู้ป่วยก็ยิ่งมีมากขึ้น ทั้งนี้ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ความดื้อของอินซูลินก็จะมากตามเป็นผลให้เกิดโรค ยิ่งหากมีบุคคลในครอบครัวเป็นเบาหวานแล้วด้วย ยิ่งต้องดูแลควบคุมตัวเองเป็นพิเศษ เพราะโรคเบาหวานนั้นเป็น “กรรมพันธุ์”
นอกจากนี้ ควรดูแลไม่ให้เด็กอ้วน เพราะว่าเด็กอ้วนเมื่อโตขึ้นก็จะเป็นผู้ใหญ่อ้วน ทำให้ความดื้อต่ออินซูลินในร่างกายปรากฏขึ้นมาชัดเจนขึ้น เพราะความอ้วนเป็นตัวเร่งหนึ่ง เช่นเดียวกับ ไขมันสูง น้ำตาลสูง ล้วนเป็นสิ่งที่เป็นพิษต่อร่างกาย
นพ.เทพยังได้แนะนำเรื่องการตรวจเลือดเพื่อวัดเบาหวานว่า การตรวจเลือดเพื่อวัดเบาหวานในเส้นเลือดหลังรับประทานอาหารไม่เกิน 2 ชั่วโมง ค่อนข้างได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะทำได้ง่าย และช่วยให้พบอาการของโรคเบาหวานได้ไวกว่าและดีกว่า ทั้งนี้เพื่อเป็นการจับสัญญาณเบาหวานก่อน แต่หากอยากให้มั่นใจมากขึ้น ก็ต้องตรวจความต้านทานของน้ำตาล ว่าร่างกายสามารถเอาชนะน้ำตาลได้ดีแค่ไหน
“วิธีการคือ อาจดื่มน้ำหวานกลูโคสเข้าไป 75 กรัม แล้วดูว่าน้ำตาลสูงขึ้นเท่าไหร่ คนปกติไม่ว่าดื่มเข้าไปอย่างไรก็ไม่เกิน 120 ถ้าหากว่า
2 ชั่วโมงให้หลังขึ้นไปเกิน 200 ถือว่าเป็นเบาหวานแล้ว ทั้งนี้ความถี่ในการตรวจเลือดต้องอยู่ที่ความเสี่ยงของเรา หากตรวจน้ำตาลแล้วต่ำกว่าเกณฑ์ คือ 140 มาก ก็อาจเป็นปีละครั้ง แต่ถ้าใกล้เคียงก็อาจตรวจให้ถี่ขึ้น”
ถามเรื่องการป้องกันโรคนี้ คุณหมอแนะนำว่าต้องหมั่นออกกำลังกาย และคิดมากขึ้นก่อนกินอะไร
“ต้องรู้จักกิน ใช้สมองในการรับประทานอาหารมากขึ้น ต้องพยายามหาสิ่งที่ทำให้สุขภาพเราดี ทั่วไปคนชอบกินอาหารเสริม พวก
แอนติ ออกซิแดนท์ แต่ความจริงแล้วสารดังกล่าวสามารถหาได้ตามธรรมชาติ ทั้งผักผลไม้ทั่วไป
เราจึงสามารถใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า ใช้เงินน้อยที่สุด แต่ได้รับคุณค่ามากที่สุด
“นอกจากนี้ ยังควรลดอาหารที่เป็นอันตราย เช่นพวกไขมัน หวาน มัน เค็ม แป้ง และต้องดูปริมาณอาหาร การกินมากเกินไปจะทำให้อ้วนและเป็นโรคได้ แม้จะทานอย่างถูกต้องก็ตาม”
เบาหวานเป็นโรคที่ทุกคนมีความเสี่ยงจะเป็นได้ทั้งนั้น การป้องกันก่อนที่โรคนี้จะมาถามหาเป็นหนทางที่ดีที่สุด
รายการอ้างอิง :
ชนันทร์พร อภิธนไชยนันท์. รู้ทัน..เบาหวาน โรคที่ทุกคนมีความเสี่ยง. มติชนออนไลน์ (ไลฟ์สไตล์-สุขภาพและความงาม). วันที่ 1 ตุลาคม 2555– ( 153 Views)