การวิจัยและพัฒนา หรือ อาร์แอนด์ดี คืออาวุธสำคัญสำหรับประเทศในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการค้ายุคใหม่ ซึ่งเมื่อหันมาดูพบว่าการลงทุนด้านนี้ของไทยยังอยู่ในระดับต่ำมาก
ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุว่า เมื่อเทียบในกลุ่มอาเซียน ไทยมีการลงทุนด้านอาร์แอนด์ดีอยู่ในอันดับ3 หรือมีมูลค่าเท่ากับ 0.37% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 10 ล้านล้านบาท ส่วนประเทศที่ลงทุนด้านนี้มากที่สุดคือสิงคโปร์ที่ใช้งบประมาณไป 2.8% ของจีดีพี และอันดับ 2 คือ มาเลเซีย 1.8-1.9% ของจีดีพี
แม้ว่าประเทศไทยยังลงทุนด้านอาร์แอนด์ดีน้อยแต่ก็น่าสนใจว่ามีแนวโน้มเพิ่ม ขึ้นเรื่อยๆจนมาอยู่ในระดับดังกล่าวในปัจจุบัน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ให้ข้อมูลว่า การลงทุนวิจัยของไทยที่เพิ่มขึ้นมาจากภาคเอกชน ที่มียอดลงทุนเพิ่มจาก 1 หมื่นล้านบาทในปี2555 เป็น 2.06 หมื่นล้านบาทในปี 2556 ส่วนภาครัฐมีงบวิจัยประมาณ 2.02 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนการลงทุนอาร์แอนด์ดีในปี 2556 อยู่ที่ภาคเอกชน 51% และภาครัฐ 49%จากที่ในปี 2555 ภาครัฐมีสัดส่วน 55% และภาคเอกชน 45%
ส่วนแผนระยะยาวนั้น ไทยต้องการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาให้สูงถึง 2% ของจีดีพีซึ่งจะใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ที่มีสัดส่วน 3.4-3.5% และเกาหลีใต้ 3.8% ขณะที่มหาอำนาจของโลกอย่างจีนมีลงทุนด้านนี้ประมาณ1.8% ของจีดีพี
สวทน. ชี้จุดอ่อนของไทยในขณะนี้ว่า ขาดการเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจในอนาคต ในแง่ของฐานความรู้ความตระหนักถึงความสำคัญข้อมูลข่าวสาร บุคลากรการวิจัยโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยสนับสนุน ทำให้ไทยยังล้าหลังอีกหลายประเทศที่สามารถต่อยอดการวิจัยและพัฒนาจนได้นวัต กรรมผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศได้เป็นอย่างดี
ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวว่า อยากกระตุ้นให้ภาคเอกชน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หันมาพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า พัฒนากระบวนการผลิต และบุคลากรมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เอกชนไทยสามารถแข่งขันได้ในระยะยาวเพราะหากหยุดพัฒนาตามเศรษฐกิจที่ ชะลอตัว จะไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้โดยเฉพาะผู้ประกอบการจากต่าง ประเทศที่มุ่งพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะเริ่มมีสัญญาณที่ดีในแง่ของอาร์แอนด์ดี แต่เมื่อมีอุปสรรคจากปัญหาการเมือง และไม่มีรัฐบาลใหม่มาขับเคลื่อนนโยบายทำให้ทุกอย่างในประเทศหยุดชะงักจึง เป็นหน้าที่ของภาคเอกชนที่ต้องสวมบทพระเอกผลักดันการลงทุนนวัตกรรมใหม่เพื่อ ขับเคลื่อนประเทศ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ต้องกระตุ้นให้ภาคธุรกิจขยายการลงทุนด้านนี้มากขึ้น เพื่อให้ไทยพร้อมแข่งขันเมื่อเปิดประชาคมอาเซียน
รายการอ้างอิง :
วราภรณ์ เทียนเงิน. (2557). เทียบชั้น R&D อาเซียน อาวุธลับสู้แข่งขันดุ. โพสต์ทูเดย์. ฉบับวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2557 หน้า, B15.– ( 27 Views)