วันนี้(14มี.ค.57)นักวิทยาศาสตร์รายงานในวารสาร “เนเจอร์” เมื่อวันพุธว่า ได้ค้นพบแร่หายากชนิดหนึ่งซึ่งบ่งชี้ว่า น่าจะมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่อยู่ใต้ผิวโลกลึกลงไป 400-600 กม. และเป็นไปได้ว่าจะปริมาณน้ำมหาศาลเท่ากับมหาสมุทรบนโลกรวมกัน ไม่ต่างจากนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง “เจอร์นีย์ทูเดอะเซ็นเตอร์ออฟดิเอิร์ธ” ที่จูนส์ เวิร์น เขียน
หลักฐานดังกล่าวมาจากการพบแร่ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบเรียกว่าริงวูไดท์ ซึ่งอยู่ในเขตที่มีการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวโลกระหว่างผิวโลกชั้นบนและชั้นล่าง จากการวิเคราะห์หินที่ขุดเจอนั้นพบว่ามีโมเลกุลของน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 1.5% ซึ่งตรงกับทฤษฎีที่ว่าเขตที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะมีปริมาณน้ำอยู่มาก
แกรห์ม เพียร์สัน จากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตาของแคนาดา ผู้นำการสำรวจครั้งนี้กล่าวว่า “ตัวอย่างหินที่เราพบเป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างหนักแน่นว่า ในบริเวณดังกล่าวมีส่วนที่เปื้ยกชื้น เขตที่มีการเปลี่ยนแปลงของโลกอาจจะมีแหล่งน้ำในปริมาณเท่ากับมหาสมุทรทั่วโลกรวมกัน”
ริงวูไดท์ตั้งชื่อเพื่อให้เกียรติกับนักธรณีวิทยาชาวออสเตรเลียชื่อ เท็ด ริงวูด เขาเป็นผู้ตั้งทฤษฎีที่ว่าในเขตที่มีการเปลี่ยนแปลงของผิวโลกจะสร้างให้เกิดแร่พิเศษขึ้นมา เนื่องจากอุณหภูมิและความดันที่สูงมาก แต่เท่าที่ผ่านมานักธรณีวิทยายังไม่สามารถขุดลึกลงไปถึงชั้นนั้นได้ แร่ริงวูไดท์จึงพบแต่ในอุกกาบาตเท่านั้น
ในปี 2551 นักหาอัญมณีสมัครเล่นขุดบริเวณแม่น้ำของเมืองมาโตกรัสโซของบราซิล ค้นพบหินที่เรียกว่าเพชรสีน้ำตาลขนาดแค่ 3 มิลลิเมตร ซึ่งไม่มีมูลค่าทางพาณิชย์ แต่เมื่อนักธรณีวิทยาไปตรวจสอบพบว่ามีร่องรอยของแร่ริงวูไดท์อยู่
ฮานส์ เคปป์เลอร์ นักธรณีวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเบย์รูธ เยอรมนี เตือนว่าน้ำที่อยู่ใต้พื้นโลกอาจอยู่ในรูปของหินหรืออยู่ในโมเลกุล “ไฮดรอกซิล” และมหาสมุทรที่อยู่ใต้พื้นผิวโลกตามจินตนาการของจูนส์ เวิร์น ในความเป็นจริงแล้วน้ำดังกล่าวอาจไม่ใช่น้ำที่เป็นของเหลว.
นักวิทย์พบแร่หายาก”ริงวูไดท์”มีน้ำประกอบ . (2557). TNN24 (วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี). วันที่ 16 มีนาคม 2557. จาก http://www.tnnthailand.com/news_detail.php?id=25172&t=news.– ( 43 Views)