magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก อาคารพลังเย็นด้วยก๊าซโลกร้อน
formats

อาคารพลังเย็นด้วยก๊าซโลกร้อน

อาคารสำนักงานแห่งใหม่ของกลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี.ในชื่อ “คูลลิ่ง แบต” มีความโดดเด่นและพิเศษมากกว่าสีแดงจัดจ้านที่ปรากฏ

อาคารสำนักงานแห่งใหม่ของกลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี.ในชื่อ “คูลลิ่ง แบต” (Cooling Batt Building) โดดเด่นด้วยโครงสร้างสถาปัตยกรรมสีแดงจัดจ้าน ภายในอาคารยังมีพื้นที่กักเก็บและใช้งานก๊าซโลกร้อนอย่างคาร์บอนไดออกไซด์อย่างคุ้มค่า ภายใต้ระบบปิดที่มิดชิด นอกจากจะสกัดก๊าซโลกร้อนออกสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว ยังตอบโจทย์สังคมในเรื่องการประหยัดพลังงานและการอนุรักษ์โลก

ความพิเศษของคูลลิ่ง แบต แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การเปลี่ยนผู้ร้ายอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นพระเอกในระบบทำความเย็น ส่วนที่สองคือ ชุดระบายความร้อนที่ใช้หลักธรรมชาติของลมบกลมทะเล สำหรับระบายความร้อนของระบบทำความเย็นโดยไม่ใช้พัดลม สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 20%

อาคารหนึ่งเดียวในโลก

อภิชัย ล้ำเลิศพงศ์พนา กรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี.จำกัด กล่าวถึงความเป็นมาของ คลูลิ่ง แบต ว่า บริษัทมีแนวคิดที่จะสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ พร้อมทั้งกำหนดโจทย์ไว้ว่าอาคารนี้ต้องตอบโจทย์สังคมในเรื่องการอนุรักษ์โลกและต้องมีลักษณะเชื่อมโยงกับธุรกิจของไอ.ที.ซี. ซึ่งเป็นธุรกิจทำความเย็นถนอมอาหาร
“เราวิเคราะห์หาจุดเชื่อมโยงระหว่างตัวอาคารใหม่กับธุรกิจความเย็นถนอมอาหาร พบคำตอบคือ ความเย็น เพราะอาคารต้องใช้เครื่องปรับอากาศ ซึ่งเกี่ยวกับความเย็น ใกล้เคียงกับธุรกิจของเราก็คือความเย็น ถือว่าใช้หลักทฤษฎีเดียวกัน” อภิชัยกล่าวและว่า ทั้งระบบปรับอากาศและระบบทำความเย็นต่างใช้พลังงานสูงมาก หรือคิดเป็นต้นทุนถึง 60-70% ของระบบทำความเย็น ฉะนั้น หากสามารถประหยัดส่วนนี้ได้ก็เห็นตัวเลขการประหยัดได้ชัดเจน

นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีระบบทำความเย็น จะพบว่า สารทำความเย็นในอนาคตจะมาจากธรรมชาติ ซึ่งมี 3 ตัว ได้แก่ แอมโมเนียที่ใช้ในโรงน้ำแข็ง ก๊าซโพรเพนซึ่งเป็นกลุ่มก๊าซแอลพีจี และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในน้ำอัดลม ซึ่งเหมาะสมที่นำมาใช้ประโยชน์มากสุด เมื่อเทียบกับแอมโนเนียที่มีปัญหาเรื่องกลิ่น ส่วนโพรเพนก็ติดไฟเร็ว

กลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี.นำคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้เป็นสารทำความเย็นให้แก่น้ำ โดยเปลี่ยนน้ำให้เป็นน้ำแข็งด้วยพลังงานไฟฟ้าในช่วงเวลากลางคืนที่อัตราค่าไฟฟ้าราคาถูก การสะสมความเย็นในรูปของน้ำแข็งนั้นจะเพียงพอกับการปรับอากาศช่วงเวลากลางวัน เมื่อต้องการทำความเย็นระบบปรับอากาศจะปั๊มหมุนเวียนน้ำเข้า-ออก เพื่อละลายน้ำแข็งเป็นน้ำเย็นไปแจกจ่ายความเย็นตามจุดต่างๆ ภายในอาคาร

อาคารคูลลิ่ง แบตจะใช้พลังงานไฟฟ้าในช่วงเวลากลางคืนซึ่งมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าน้อย และนำความเย็นที่สะสมไว้มาใช้ในช่วงเวลากลางวัน โดยใช้พลังงานไฟฟ้าในช่วงระหว่างวันไม่เกิน 25% เมื่อเทียบกับเครื่องปรับอากาศทั่วไป จึงช่วยลดภาระการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศในช่วงพีค และช่วยประหยัดค่าพลังงานไฟฟ้าได้

คุ้มค่าเมื่อรักษ์โลก

ผู้บริหารกลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี. กล่าวว่า อาคารคลูลิ่ง แบต เป็นการต่อยอดความรู้จากธุรกิจระบบทำความเย็นของบริษัท ทั้งยังเป็นอาคารแห่งการเรียนรู้สำหรับองค์กร ภาคธุรกิจ นิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจ

“ผมแนะนำว่า อาจจะยากสำหรับอาคารเก่าที่ต้องการนำระบบปรับอากาศของ คูลลิ่ง แบต ไปใช้ แต่เป็นเรื่องง่ายสำหรับอาคารใหม่ที่กำลังจะก่อสร้าง โดยต้นทุนค่าก่อสร้างและโครงสร้างเหมือนกับการสร้างอาคารใหม่ทั่วไป แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือ ต้นทุนค่าแบตเตอรี่กักเก็บความเย็นในช่วงกลางคืนสำหรับนำออกมาใช้ในช่วงกลางวัน ที่จะเพิ่มขึ้น 17-20%”

ด้านความคุ้มทุนนั้น ต้นทุนระบบคลูลิ่ง แบต ประมาณ 10.8 ล้านบาท เทียบกับระบบทำความเย็นทั่วไป 8.6 ล้านบาท ส่วนระยะเวลาคืนทุนประมาณ 4-5 ปี ทั้งนี้ เขายกตัวอย่างส่วนต่างค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้จากระบบทำความเย็นของคูลลิ่ง แบต ในช่วงเดือน พ.ค.-พ.ย.2556 สามารถคืนทุนกลับมาได้ประมาณ 2 ล้านบาท

“เราตอบโจทย์สังคมได้ในเรื่องคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อน และที่สำคัญเงินในกระเป๋าก็ยังเหลืออยู่” คำกล่าวของอภิชัย ที่ตอบโจทย์ให้กับภาคธุรกิจที่ถามหาความลงตัวของตัวเลขบัญชี ที่มาพร้อมกับการลงทุนประหยัดพลังงาน

รายการอ้างอิง :

อาคารพลังเย็นด้วยก๊าซโลกร้อน. (2557). กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์).  วันที่ 16 มีนาคม 2557. จาก http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/science/20140314/568667/อาคารพลังเย็นด้วยก๊าซโลกร้อน.html.– ( 128 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


9 − eight =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>