ข้อจำกัดในการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลที่มีความพิการทางการได้ยินกับคน ปกติยังมีอยู่อีกมาก ขณะที่ล่ามภาษามือยังถือว่าขาดแคลน ทำให้ผู้พิการทางการได้ยิน ขาดโอกาสในการติดต่อสื่อสาร รวมถึงการเข้าสู่สังคม
แต่ด้วยเทคโนโลยีโดยเฉพาะความก้าวหน้าของโทรศัพท์มือถืออย่างสมาร์ทโฟน ทำให้ช่องว่างเหล่านี้ลดลงได้
อย่างเช่น “การพัฒนาแอพพลิเคชั่นภาษามือ 3 มิติบนไอโฟนสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน” ผลงานของ “นายภูเบศ พัฒนรังสีเลิศ” นักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งได้ส่งเข้าร่วมประกวดในโครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่ง ประเทศไทย ที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือเนคเทค จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ภูเบศ บอกว่า ทั้งข้อจำกัดในการสื่อสารของผู้พิการทางการได้ยิน ความก้าวหน้าของมือถือที่ปัจจุบันเข้าอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วและรันแอ พพลิเคชั่นได้อย่างหลากหลาย ประกอบกับแนวคิดในการออกแบบการรับรู้ภาพ 3 มิติ ได้กลายเป็นที่มาของการพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้
ซึ่งเป้าหมายนอกจากจะลดข้อจำกัดในการสื่อสารแล้ว ยังสามารถใช้เป็นสื่อการสอนภาษามือรูปแบบใหม่ที่คนปกติก็เรียนรู้ได้
จุดเด่นของแอพนี้ คือ การแสดงภาพเป็น 3 มิติที่เข้าใจง่าย สวยงามและน่าติดตามมากขึ้น
นอกจากนี้ที่สำคัญคือความจุของแอพพลิเคชั่นที่มีขนาดเล็ก เนื่องจากใช้เทคโนโลยีเว็บเซอร์วิส โดยนำเอาไฟล์วิดีโอแอนิเมชั่นท่ามือทั้ง 10 หมวดหมู่ไปเก็บไว้ในเว็บโฮสติ้งที่ได้เปิดบริการไว้ แล้วเขียนโปรแกรมเพื่อดึงไฟล์วิดีโอแอนิเมชั่นท่ามือของแต่ละคำศัพท์มาแสดง ในแอพพลิเคชั่นบนไอโฟน
แต่เนื่องจากการใช้งานแอพพลิเคชั่นจะต้องเปิดใช้บริการอินเทอร์เน็ตจึงจะ สามารถดูวิดีโอแอนิเมชั่นท่ามือได้ ผู้วิจัยจึงพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพิ่มเติมให้สามารถใช้งานแบบออฟไลน์ (Offline) ได้อีกด้วย
โดยทำการเขียนโปรแกรมให้เก็บไฟล์วิดีโอแอนิเมชั่นท่ามือของคำศัพท์คำนั้น ๆ ที่ถูกเปิดในครั้งแรกไว้ในหน่วยความจำแคช (Cache) ของเครื่องโทรศัพท์ไอโฟน และเมื่อเปิดซ้ำที่คำศัพท์คำเดิม วิดีิโอจะถูกเรียกจากแคชไฟล์ที่ถูกจัดเก็บไว้ในเครื่องโทรศัพท์มาแสดงได้ ทันทีโดยที่ไม่ต้องเปิดใช้บริการอินเทอร์เน็ต
สำหรับภาษามือที่ใช้คือภาษามือไทย โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศรับรองภาษามือไทยเป็นภาษาประจำชาติของคนหู หนวกไทยเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2542
แอพพลิเคชั่นใช้ได้กับโทรศัพท์มือถือไอโฟนระบบปฏิบัติการตั้งแต่เวอร์ชั่น iOS 5.0 ขึ้นไป
ปัจจุบันสามารถแสดงผลภาษามือ จำนวน 10 หมวดหมู่ เช่น แบบสะกดนิ้วมือไทย จำนวนนับ คำถามและการทักทาย ร่างกาย ความรู้สึก ครอบครัว อาหารและรสชาติ สัตว์ กีฬา และประโยคต่าง ๆ
มีเสียงประกอบการแสดงผลในบางหมวด และมีฟังก์ชั่น การค้นหาคำศัพท์แยกตามหมวดหมู่ ปัจจุบันมีจำนวนคำศัพท์ทั้งสิ้น 261 คำ
สำหรับการพัฒนาต่อยอด ภูเบศ บอกว่า หากเป็นไปได้จะมีการพัฒนาให้ใช้กับระบบปฏิบัติการที่หลากหลาย และเพิ่มหมวดหมู่คำศัพท์มากขึ้น รวมถึงการพัฒนารองรับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีกด้วย
อยากใช้..ต้องรออีกนิดหนึ่ง!!!.
รายการอ้างอิง :
นาตยา คชินทร. แอพภาษามือ 3 มิติ. (2557, 20 มีนาคม). เดลินิวส์ (บทความ). ค้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2557, จาก http://www.dailynews.co.th/Content/Article/223974/แอพภาษามือ+3+มิติ.– ( 341 Views)