ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับเครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH370 ซึ่งหายไปอย่างลึกลับ ในตอนแรกที่เครื่องบินขาดการติดต่อไปนั้นข่าวต่าง ๆ นำเสนอว่าเครื่องบินลำนี้เกิดอุบัติเหตุตกลงไปในทะเล แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการสื่อสาร และเทคโนโลยีทางการสื่อสารในปัจจุบันนี้ทำให้เราทราบว่าเครื่องบินลำดัง กล่าวไม่ได้ตกลงทะเลแต่อย่างใด เพราะมีดาวเทียมเกิดจับสัญญาณจากเครื่อง MH370 ได้พอดี ก่อนที่ความจริงของเที่ยวบิน MH370 จะถูกเปิดเผย ผมขอคาดคะเนเหตุการณ์จากข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานชัดเจนตามที่ปรากฏเป็นข่าว Transponder และ ACARS ตั้งใจปิดจากใครบางคนในห้องนักบิน เพื่อไม่ให้จับตำแหน่งของ MH 370 และเครื่องบินก็ไม่ตกด้วย เนื่องจาก ELT ไม่ทำงาน ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่าอะไรคือ Transponder, ACARS และ ELT
ก่อนอื่นขอกล่าวถึงเครื่องบินของเที่ยวบิน MH370 ซึ่งเป็นแบบ B777-200 ER ของบริษัท Boeing ตัวอักษร ER แทนคำว่า Extended Range หมายความว่า พิสัยการบินถูกขยายไปถึง 7,730 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 14,300 กิโลเมตร กล่าวกันว่า เครื่องบินรุ่นนี้เป็นเครื่องบินที่ทำลาย
สุนทรีย์ในการบินของนักบินเป็นอย่างมาก ในเครื่องบินรุ่นก่อน กัปตันกับนักบินผู้ช่วย ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Co-Pilot หรือ First Officer ทั้งสองคนก่อนขึ้นทำการบินจะเดินตรวจสภาพเครื่องบินไปรอบ ๆ ตัวเครื่องบิน เดินไปคุยกันไป และพอมาถึงล้อเครื่องบินก็จะเอาเท้าเตะล้อเพื่อดูขนาดความดันลมยาง จนได้ฉายาว่าเป็น Romantic Kick แต่สำหรับเครื่อง B777 รุ่นนี้ที่ล้อจะมีอุปกรณ์ชื่อว่า TBMS หรือ Tire Pressure and Break Temperature Monitoring System ส่งข้อมูลความดันของลมยางทุกล้อไปที่แผงควบคุมในห้องนักบิน นักบินก็ไม่ต้องมาทำ Romantic Kick ก่อนขึ้นบินอีกต่อไปแถมสบายใจมากเมื่อเห็นขนาดความดันของลมยางถูกต้องตามที่ โรงงานกำหนดเมื่อจะลงจอด เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเครื่องบินรุ่นนี้มีระบบคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ควบ คุมการสื่อสารข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ต่าง ๆ จนการควบคุมเครื่องบินเป็นไปด้วยความสะดวกและเชื่อถือได้จนได้ฉายาว่า Fly-By-Wire
เมื่อพูดถึงการสื่อสารข้อมูลในการบินจะต้องรวมถึงการสื่อสารจากตัว เครื่องบิน และนักบินไปยังหอบังคับการบินด้วยเพื่อให้ภารกิจการบินสมบูรณ์ เริ่มต้นเมื่อนักบินจะกระทำการใดกับเครื่องบินที่รับผิดชอบ เช่น จะขอขึ้นบินจะต้องแจ้งหอบังคับการบินเพื่อคำแนะนำว่าจะให้วิ่งไปทาง taxi way ไหน และขึ้นบินด้วย run way ใด ทั้งหมดนี้จะเป็นการใช้ภาษาพูดที่มีระเบียบแบบแผนที่กำหนดโดยองค์การการบิน พลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ซึ่งเรียกว่า ACARS Controller-Pilot Data Link Communication (CPDLC) System ระบบ CPDLC เป็นระบบสนับสนุนการสื่อสารด้านข้อมูล ใช้เพื่อการสื่อสารระหว่าง อากาศ-พื้นดิน คือระหว่างเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศกับนักบิน ระบบ CPDLC ในปัจจุบันทำงานบนเครือข่าย ACARS (Aircraft communication and reporting system) โดยหลักแล้วคำพูดที่ใช้จะต้องสั้น กระชับ ได้ความหมายไม่กำกวม อย่างเช่นกรณีของ MH370 ที่มีการสงสัยว่าผู้ที่ติดต่อกับหอบังคับการบินจะไม่ใช่นักบินเพราะมีการใช้ คำว่า All right, good night แทนที่จะใช้ Roger ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายว่า รับทราบ หรือ ตกลง
เมื่อเครื่องบินขึ้นบินเรียบร้อยแล้ว เครื่องบินจะปรากฏบนจอเรดาร์ของหอบังคับการบิน โดยอุปกรณ์ที่ชื่อว่า Transponder หรือเครื่องรับส่งสัญญาณเรดาร์เป็นอุปกรณ์เรดาร์ ส่วนที่ติดตั้งบนเครื่องบินจะคอยตอบสัญญาณที่ส่งมาจากเรดาร์ ส่งและรับสัญญาณตำแหน่งที่บิน และความสูงที่ติดตั้งบนเครื่องบิน และด้วยอุปกรณ์นี้ นักบินสามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินบนเครื่องบินให้หอบังคับการบินทราบได้โดยให้ หมายเลข squawk 7700 หรือถ้าเป็นการจี้เครื่องบินก็จะใช้ squawk 7500 ที่แปลกสำหรับเที่ยวบิน MH370 ที่ไม่มีสัญญาณใดเลยส่งมายังเรดาร์
ในยุคการสื่อสารสมัยใหม่ที่มีดาวเทียม ลอยอยู่บนท้องฟ้าเปรียบเสมือนดวงตาคอยสอดส่องสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกมนุษย์ เช่นบนรถยนต์เราติดตั้ง GPS หรือ Geographical Positioning System จะคอยบอกตำแหน่งว่ารถของเราอยู่บนถนนอะไร แถมนำทางไปยังจุดหมายปลายทางด้วย บนเครื่อง B777-200ERของเที่ยวบิน MH370 นี้ บริษัท Boeing ผู้ผลิตได้ติดตั้งอุปกรณ์ที่จะติดต่อระหว่างเครื่องบินกับดาวเทียม จนทำให้ทราบว่าเครื่องบินหลังขาดการติดต่อกับหอบังคับการบินแล้วมีการ เปลี่ยนทิศทางการบินไปทางตะวันตกและบินต่อไปอีก 5 ชั่วโมง จึงขาดการติดต่อกับดาวเทียม
ที่เป็นปริศนาคือถ้าเครื่องบินลำนี้เกิดอุบัติเหตุ นักบินก็จะต้องให้รหัส squawk 7700 บน transponder และถ้าเครื่องบินตก ระบบ ELT (Emergency Locator Transmitters) หรือ อุปกรณ์ส่งระบุตำแหน่งฉุกเฉินก็จะทำงาน โดยส่งสัญญาณวิทยุเพื่อให้สามารถระบุจุดตกได้
หากท่านผู้อ่านได้อ่านถึงบรรทัดนี้ ผมหวังว่า หากมีข่าวคราวเกี่ยวกับ MH370 อีก ท่านผู้อ่านคงจะพอคุ้นเคยกับชื่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้มากขึ้น
รายการอ้างอิง :
รศ.ดร.วันชัย ริ้วไพบูลย์. ระบบการสื่อสารของเครื่องบิน. (2557, 21 มีนาคม). เดลินิวส์ (บทความ). ค้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2557, จาก http://www.dailynews.co.th/Content/1001/224236/ระบบการสื่อสารของเครื่องบิน.– ( 790 Views)