สำนักข่าวไทย นำเสนอข่าวสังคม
กรุงเทพฯ 25 มี.ค.2557 -เผยการใช้จุลินทรีย์บาซิลลัส สเฟียริคัส หรือบีเอส ฉีดพ่นลงในแหล่งน้ำเน่าขังที่พบลูกน้ำยุงรำคาญเพียงชนิดเดียวติดต่อกัน 3 เดือน อาจทำให้ยุงดื้อได้ ชี้ควรใช้สารกำจัดลูกน้ำยุงที่เหมาะสม เช่น ไดฟลูเบนซูรอน หรือโนวาลูรอน องค์การอนามัยโลกแนะนำว่ามีความปลอดภัยต่อมนุษย์และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่าปัญหายุงรบกวนเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งต่อการดำรงชีวิตของคนในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุงรำคาญ พาหะโรคฟิลาเรีย (โรคเท้าช้าง) ซึ่งมีแหล่งเพาะพันธุ์ในแหล่งน้ำเน่าและท่อระบายน้ำ การพ่นหมอกควันเพื่อกำจัดยุงตัวเต็มวัยนั้นมีขั้นตอนยุ่งยากและต้องผ่านการอบรม วิธีการใช้อย่างถูกต้อง ใช้งบประมาณสูง แต่ได้ผลแค่ระยะสั้น ๆ เพียง 1-2 วัน เท่านั้น ทั้งนี้ ผลจากการวิจัยของกรมวิทย์ฯ ที่ผ่านมาพบว่าการกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญสามารถ ดำเนินการได้ในเบื้องต้น โดยการเก็บขยะ ที่ลอยอยู่บริเวณน้ำเน่าเสียขึ้นและอาจปล่อยปลากินลูกน้ำลงไปร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม มาตรการเบื้องต้นเหล่านี้ ยังไม่สามารถลดจำนวนลูกน้ำยุงรำคาญได้มากพอ จึงยังจำเป็นต้องใช้สารกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญที่เหมาะสม ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำว่ามีความปลอดภัยสูงต่อมนุษย์และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สารยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลง เช่น ไดฟลูเบนซูรอน (Diflubenzuron) หรือโนวาลูรอน (Novaluron) หรือใช้จุลินทรีย์บาซิลลัส สเฟียริคัส (Bacillus sphaericus)หรือ บีเอส ฉีดพ่นลงในแหล่งน้ำเน่าขังที่พบลูกน้ำยุงรำคาญ
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยของกรมวิทย์ฯ พบว่า การใช้จุลินทรีย์บีเอส เพียงชนิดเดียวติดต่อกันประมาณ 3 เดือน ก่อให้เกิดการดื้อในภายหลังได้ จึงได้ทดลองใช้จุลินทรีย์ บีเอสผสมกับจุลินทรีย์บาซิลลัส ทูริงจิเอนซิส (Bacillusthuringiensis) หรือ บีทีไอ ผลปรากฏว่าสามารถควบคุมยุงรำคาญได้อย่างน้อย 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ จุลินทรีย์ดังกล่าวที่นำมาใช้นั้นไม่ใช่ ส่วนที่มีชีวิต แต่เป็นโปรตีนที่เป็นพิษเฉพาะกับลูกน้ำยุงเท่านั้นและไม่สามารถขยายพันธุ์ในน้ำได้
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักข่าวไทย อสมท.
http://www.mcot.net/site/content?id=533148ddbe0470adff8b456b#.UzI-NYX9Hcs– ( 8 Views)