เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีภาพยนตร์แนวแอ๊กชั่น-ไซไฟ เรื่อง “ลูปเปอร์” ลงโรงฉายในสหรัฐอเมริกา (บ้านเราจะออกฉายในวันที่ 11 ตุลาคม) เนื้อหาเป็นเรื่องของการเดินทางข้ามกาลเวลาของตัวเอกในเรื่อง
ในภาพยนตร์ “โจ” ที่แสดงโดย โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์ เป็นมือฆ่ารับจ้างที่ถูกว่าจ้างให้สังหารเป้าหมายรายหนึ่ง เรื่องมาขมวดปมเอาที่ บรูซ วิลลิส เป้าหมายที่ “โจ” ต้องสังหารกลับเป็นคนที่ถูกส่งข้ามกาลเวลากลับมา แถมยังเป็นตัวของ “โจ” ในอนาคตด้วยอีกต่างหาก
นั่นเป็นเรื่องในจินตนาการ คำถามก็คือ ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว “การเดินทางข้ามกาลเวลา” มีความเป็นไปได้หรือไม่ในชีวิตจริงๆ?
เอ็ดเวิร์ด ฟาร์ฮี นักฟิสิกส์อเมริกันที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ทฤษฎีฟิสิกส์ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) บอกว่า การเดินทางข้ามกาลเวลานั้น สอดคล้องกับกฎทางฟิสิกส์ ในเรื่องของการเปลี่ยนระดับความเร็วกับการเคลื่อนที่ของนาฬิกา ดังนั้น ถ้าตอบโดยรวบรัดก็คือ การเดินทางข้ามกาลเวลานั้นมีความเป็นไปได้จริงโดยหลักการ (ในทางปฏิบัติ อาจจำเป็นต้องถกกันถึงเรื่องความเป็นไปได้ของเครื่องมือ หรืออุปกรณ์เพื่อการนี้)
แต่ ฟาร์ฮีบอกว่า นักฟิสิกส์ส่วนใหญ่แล้วคิดว่า เราสามารถเดินทางไปข้างหน้า-คือข้ามไปสู่อนาคตได้ แต่จะมีปัญหาหลายอย่างตามมามากกว่าถ้าหากเป็นการเดินทางย้อนกลับหลังไปสู่อดีต
รากเหง้าของแนวความคิดเรื่องการเดินทางข้ามเวลา เกิดขึ้นมาจากทฤษฎีสัมพัทธภาพของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่บอกเอาไว้ว่า การเคลื่อนของเวลานั้นมีความสัมพันธ์กับระดับความเร็วของการเดินทางของเรา
นั่นหมายความว่า เรายิ่งเดินทางเร็วเท่าใด เวลาจะยิ่งดูเหมือนชะลอช้าลงเป็นสัดส่วนสัมพันธ์กัน ตัวอย่างที่มักยกขึ้นมาอุปมาให้เห็นภาพกันชัดเจนก็คือ ถ้าหากเราเดินทางด้วยยานอวกาศที่เร็วอย่างยิ่งสักลำหนึ่งเป็นระยะเวลาที่รู้สึกเหมือน 2 สัปดาห์ แต่กาลเวลาจริงบนพื้นโลกกลับยาวนานถึง 20 ปีสำหรับคนที่หลงเหลืออยู่บนพื้นโลก
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้ามีอุปกรณ์ที่ทำความเร็วสูงระดับนั้นได้ เราก็จะไปถึงอนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้าด้วยการเดินทางที่กินเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่ว่ามานั้น เป็นการเคลื่อนไป “ข้างหน้า” เหมือนอย่างเวลาที่เราตระหนักกันอยู่ในชีวิตจริงว่ามันไปข้างหน้าเรื่อยๆ ไม่เคยย้อนกลับ ไม่ว่าเราไปด้วยความเร็วขนาดไหน เวลายังกระดิกไปข้างหน้าอยู่ตลอด ทำให้แม้แต่นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังหาคำอธิบายเรื่องการ “ย้อนเวลา” ได้ยากลำบากอยู่เหมือนกัน
บางคนหาทางแก้สมการของไอน์สไตน์แบบแปลกๆพิสดาร เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเดินทางย้อนเวลานั้นเป็นเรื่อง “เป็นไปได้” แต่ถ้าเป็นไปตามแนวทางดังกล่าวนี้ ว่ากันว่า จำเป็นต้องอาศัยมวลของพลังงานมหาศาลถึงระดับครึ่งหนึ่งเท่าที่ทั้งจักรวาลนี้มีอยู่ เพื่อใช้ในการเดินทางย้อนกาลเวลา และในกระบวนการที่ว่านั้นก็จะทำลายจักรวาลไปด้วยในตัว
ฟาร์ฮีบอกว่า ถึงแม้จะเป็นไปได้ในการเดินทางย้อนเวลา แต่ก็จะมี “ความขัดแย้ง” หลายประการบังเกิดขึ้น อย่างเช่น ถ้าเดินทางย้อนเวลากลับไป เราอาจไปทำอะไรบางอย่างที่ทำให้พ่อกับแม่ของเราไม่สามารถ “ผลิต” เราขึ้นมาได้ (พาราดอกซ์อย่างนี้ปรากฏในภาพยนตร์ แบ๊ก ทู เดอะ ฟิวเจอร์ มาแล้วเมื่อหลายปีก่อน แล้วก็ถูกนำมาใช้ซ้ำๆ อยู่เรื่อยๆ ในภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง)
แต่ฟาร์ฮีบอกว่า ตามกฎของฟิสิกส์ไม่ได้บอกว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นไม่ได้ เพียงแต่บอกว่า มันอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งแห่งตรรกะที่อาจถึงกับทำให้จักรวาลล่มสลายได้เท่านั้นเอง
รายการอ้างอิง :
ถกกับนักฟิสิกส์ เรื่อง”การเดินทางข้ามเวลา”. มติชนออนไลน์ (ไลฟ์สไตล์-เทคโนโลยี). วันที่ 2 ตุลาคม 2555.– ( 94 Views)