magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก งบวิจัยเอกชนมาแรง
formats

งบวิจัยเอกชนมาแรง

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (สวทน.) ผู้จัดทำ “ดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เพื่อชี้วัดระดับความก้าวหน้าและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย พบว่าจากการจัดอันดับของสถาบันนานาชาติ ประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ แต่การลงทุนด้านวิจัยพัฒนาของประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว สำหรับ แนวโน้มบัณฑิตสายวิทย์ หันไปประกอบอาชีพนางแบบ สายบันเทิงหรือพนักงานขายสินค้ามากขึ้น จึงเร่งผลักดันหลักสูตรเทคโนโลยีผลิตบัณฑิตทดแทนเพื่อรองรับการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 จาก 60 ประเทศ ในปี 2556 สูงขึ้นจาก อันดับ 30 ในปี 2555 โดยอยู่ในอันดับต่ำกว่า มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน หรือ การวัดระดับดัชนีความสามารถในการแข่งขันโดยรวม (The Global Competitiveness Index : GCI) โดย เวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับ37 ในปี 2556 – 2557 โดยหนึ่งในหลักเกณฑ์การพิจารณาของทั้ง 2 สถาบัน จะใช้เกณฑ์วัดเรื่องการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับประเทศทั่วโลกหรือในภูมิภาคเดียวกัน
หากพิจารณาตัวเลขด้านทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะพบว่าสัดส่วนของนักศึกษาใหม่ที่เลือกเข้าเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์มีเพียง ร้อยละ 39 ซึ่งน้อยกว่าสาขาสังคมศาสตร์ที่มีสัดส่วนร้อยละ 61 โดยเฉพาะในระดับสูงกว่าปริญญาตรี มีผู้เลือกเรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียงร้อยละ 20 แต่มีผู้เลือกเรียนต่อด้านสังคมศาสตร์ถึงร้อยละ 80 และเมื่อพิจารณาถึงตัวเลขของกำลังแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย พบว่า มีผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ไม่ได้ทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถึงร้อยละ 38 โดยในกลุ่มนี้ ร้อยละ 25 หันไปประกอบอาชีพนางแบบนายแบบในสายบันเทิง หรือ พนักงานขายสินค้า ซึ่งแน้วโน้มตัวเลขดังกล่าวสะท้อนผลกระทบโดยตรงต่อการขาดแคลนแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคตอย่างแน่นอน

ดังนั้น การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเพิ่มขีดความสามารถให้แข่งขันของประเทศ จึงได้ถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) โดยให้ สวทน. และ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง หรือ Thailand Advanced Institute of Science and Technology (THAIST-ไทยเอสที) เป็นผู้ขับเคลื่อนแผนงานการผลิตบุคลากรนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยร่วมกับสถาบันการศึกษา ในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนสาขาเทคโนโลยีเพื่ออนาคต หลายหลักสูตร ในด้านการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา มีการกำหนดเป้าหมายการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาให้เป็นร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ โดยกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น จากตัวเลขสถิติในปี2554 พบว่า การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของเอกชน มีสัดส่วนร้อยละ 51 และภาครัฐนั้นมีสัดส่วนที่ร้อยละ 49 โดยอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร ปิโตรเลียม เครื่องจักร ยางและพลาสติก สวทน. จึงต้องเร่งประสานความร่วมมือจากภาคเอกชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา โดยมีเป้าหมายให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุนเพิ่มให้ได้ร้อยละ 70 ภายในปี 2559

ท่านที่สนใจรายละเอียด ดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มเติม สามารถติดต่อขอรับหนังสือ “ศักยภาพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยอยู่ตรงไหน?” ได้ที่ สวทน. 319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น14 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0 2 160 5432 ต่อ 551-556

รายการอ้างอิง :

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (2557, 3 เมษายน). วิกฤตขาดแรงงานด้านวิทยาศาสตร์. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). ค้นเมื่อวันที่  4 เมษายน 2557. จาก http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/science/20140403/572731/วิกฤตขาดแรงงานด้านวิทยาศาสตร์.html.– ( 19 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


nine − 7 =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>