อาคารใหม่ในนครซิดนีย์ ออสเตรเลีย กลายเป็นแหล่งรวมของแผ่นกระจกที่มีชื่อเรียกว่า เฮลิโอสแตท ทำหน้าที่ในการปรับเปลี่ยนทิศทาง และช่องทางในการรับแสงจากดวงอาทิตย์ เพื่อให้แสงแดดส่องลงไปยังพื้นที่บางส่วนของเมือง ที่ไม่เคยถูกแสงแดดส่องถึงเลย
เจสัน แลงเกอร์ วิศวกรโครงสร้างจากโรเบิร์ต เบิร์ด กรุ๊ป บอกว่า ในเชิงสถาปัตยกรรมแล้วถือว่า พระอาทิตย์ไม่ได้อยู่ในจุดที่ถูกต้องสำหรับการให้แสง ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นการสร้างดวงอาทิตย์บนท้องฟ้าขึ้นมาใหม่ ให้ตรงกับจุดที่ต้องการ
เฮลิโอแสตทเกิดขึ้นจากการนำแผ่นกระจกมาติดกับอาคาร 2 หลังที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกัน ในย่านที่อยู่อาศัยที่ชื่อว่า วัน เซ็นทรัล พาร์ค โดยแสงแดดที่ส่องลงมาครั้งแรกนั้น จะตกลงไปกระทบกระจกที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาของอาคารหลังที่มีระดับต่ำกว่า ก่อนจะสะท้อนขึ้นไปหาเฮลิโอสแตท ที่ติดตั้งอยู่บนอาคารหลังที่สูงกว่าจากนั้น แสงก็จะหักมุมลงมาด้านล่าง ทำให้เกิดแสงสว่างกับพื้นที่พลาซา และสวนสาธารณะแห่งใหม่ ที่เคยเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมมาก่อน ทั้งแสงยังจะส่องผ่านหลังคาอาคารที่ทำจากกระจก เข้ามาให้แสงสว่างกับศูนย์การค้าภายในตัวอาคารด้วย
แลงเกอร์ บอกว่า ตอนที่พวกเขาเริ่มทำการวิจัยเกี่ยวกับเฮลิโอสแตท ที่เคยถูกนำมาใช้กับอาคารต่างๆ ในอดีตนั้น พวกเขาพบว่ามีเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ที่ทำให้เกิดการสะท้อนของแสง และไม่มีรายได้ใดเลย ที่เคยพยายามสะท้อนแสงระหว่าง 2 อาคาร เพื่อให้ไปยังจุดที่กำหนดไว้ ดังนั้นวิธีการนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครทำกันมาก่อน
นอกจากนี้ เมื่อแสงอาทิตย์หมดลง หลอดไฟแอลอีดี 2,800 ดวงของเฮลิโอสแตท จะส่องสว่างขึ้นมา เพื่อทำการแสดงแสงสีให้กับท้องฟ้าในยามค่ำคืน ซึ่งเหล่าวิศวกรผู้ออกแบบโครงการ ได้รับแรงบันดาลใจในเรื่องนี้ มาจากการสะท้อนของแสงบนผิวน้ำ
รายการอ้างอิง :
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (2557, / เมษายน). จับแสงแดดมาส่องเมือง. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). ค้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2557. จาก http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/science/20140402/572625/จับแสงแดดมาส่องเมือง.html.– ( 29 Views)