สำรวจค่าใช้จ่าย ด้าน R&D ภาคธุรกิจเอกชนขยับแซงหน้าภาครัฐ โดยปี 54 เอกชนลงทุน 2.07 หมื่นล้านบาท ขณะที่งบวิจัยจากรัฐ 2.02 หมื่นล้านบาท
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ฯ เผยผลสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา ระบุภาคธุรกิจเอกชนขยับแซงหน้าภาครัฐ อ้างตัวเลขปี 54 เม็ดเงินลงทุน 2.07 หมื่นล้านบาท ขณะที่งบวิจัยจากภาครัฐ 2.02 หมื่นล้านบาท เดินหน้าผลักดันงบวิจัยเพิ่มเป็น 1% ในอีกสองปีข้างหน้า “กานต์” ชี้เอสซีจีให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์-นวัตกรรม ตั้งเป้าเพิ่มงบวิจัยและพัฒนาเป็น 4,600 ล้านบาทหรือ 1% ของรายได้ทั้งหมด
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยถึงผลสำรวจค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน โดยพบว่ามีการลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวจาก 8,000 ล้านบาทในปี 2549 มาเป็น 20,680 ล้านบาทในปี 2554 ส่งผลให้การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็นร้อย 0.37 หรือกว่า 41,000 ล้านบาท ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกที่ภาคเอกชนจะเป็นผู้มีบทบาทนำในการใช้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศผลสำรวจยังชี้ให้เห็นตัวเลขการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนที่สูงกว่าภาครัฐ โดยปี 2549 ภาครัฐลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา 11,600 ล้านบาท คิดเป็น 58% ของการลงทุนทั้งหมด ส่วนเอกชนลงทุน 8,000 ล้านบาทหรือ 42% แต่เมื่อดูตัวเลขปี 2554 พบว่า สัดส่วนการลงทุนของเอกชนเพิ่มเป็น 51% ขณะที่ภาครัฐลงทุน 20,200 ล้านบาทหรือ 49% นั่นเอง จึงถือเป็นสัญญาณแง่บวกที่ภาคเอกชนจะเป็นผู้นำในการใช้ วทน. เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ“ปัจจัยการแข่งขันในตลาดโลกทำให้ วทน. เข้ามามีบทบาทสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น องค์ความรู้ การพัฒนาวิจัย กำลังคน ที่จะช่วยให้ไทยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ในทางกลับกันหากไทยไม่มีนวัตกรรมเป็นของตนเอง จะต้องเผชิญความยากลำบากในตลาดโลก ฉะนั้น ภาครัฐต้องเป็นผู้ผลักดันและสนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุนวิจัยและพัฒนา” นายพิเชฐ กล่าวระหว่างการเสวนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่1 จัดโดย สวทน.
ปี 59 ลุ้นงบวิจัยแตะ1% ของจีดีพี
นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า ในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้ของประเทศ สวทน.ได้ตั้งเป้าหมายในปี 2559 ที่จะผลักดันการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศให้ขยับเป็น 1% ของจีดีพี พร้อมผลักดันให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุนเป็น 91,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 70% ของการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในไทย ขณะที่ภาครัฐก็เพิ่มการลงทุนเช่นกันเป็น 39,000 ล้านบาท แต่ลดสัดส่วนลงเหลือเพียง 30% หากทำสำเร็จจะนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่เศรษฐกิจและสังคมไทยจะปรับโครงสร้างไปสู่การใช้ความรู้เข้มข้น
ทั้งนี้ เอกสารข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระบุหากเปรียบเทียบข้อมูลด้านการลงทุนเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ประเทศไทยมีการลงทุนในส่วนของงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพียงร้อยละ 0.24 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศใน ปี 2552 ซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศทั้งในแถบอเมริกา เอเชียและยุโรป เช่น ประเทศอเมริกาและแคนาดา มีค่าใช้จ่ายทางการวิจัยและพัฒนาร้อยละ 2.77 และ 1.95 ตามลำดับ
ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีและไต้หวัน มีค่าใช้จ่ายทางการวิจัยและพัฒนาอยู่ระหว่างร้อยละ 2.94-3.45 ประเทศฟินแลนด์และสวีเดน มีค่าใช้จ่ายทางการวิจัยและพัฒนาร้อยละ 3.96 และ 3.62 ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศมาเลเซียมีค่าใช้จ่ายทางการวิจัยและพัฒนาประมาณร้อยละ 0.84
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการลงทุนของภาครัฐกับภาคเอกชน พบว่าภาคเอกชนของไทยมีการลงทุนในส่วนของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพียงร้อยละ 38 ของการลงทุนรวมในด้านนี้ของประเทศ ขณะที่ภาคเอกชนของบางประเทศที่พัฒนาแล้วมีการลงทุนในส่วนของการวิจัยและ พัฒนาเทคโนโลยีถึงร้อยละ 70 หากพิจารณาในด้านจำนวนนักวิจัยแล้ว กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น มีจำนวนนักวิจัยเฉลี่ย 60 และ 69 คน ต่อกำลังแรงงาน 10,000 คน ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศไทยมีนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคิดเป็นจำนวนเฉลี่ย น้อยกว่า 9 คนต่อกำลังแรงงาน 10,000 คนเท่านั้น
“กานต์” แบ่ง 1% จากรายได้
เวทีการเสวนาดังกล่าวได้ยกให้เครือเอสซีจีเป็นโมเดลต้นแบบสำคัญสำหรับภาคเอกชนทั้งรายใหญ่และรายย่อยในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มขีดความสามารถของตนเอง ในขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐก็จะเข้ามาสนับสนุนภาคเอกชนทั้งในแง่ของการพัฒนาสินค้า กระบวนการผลิตรวมถึงแนวคิดด้วย วทน.
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอสซีจีให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยทุ่มงบวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากปี 2554 ถือเป็นปีแรกที่ให้งบวิจัยสูงถึง 1,111 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2,068 ล้านบาทในปี 2556 และตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 4,600 ล้านบาทหรือ 1% ของยอดขายของเอสซีจี
“เราเน้นไปที่นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า (High Value Added: HVA) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2547 ยุคที่คนยังไม่เชื่อ แต่เราทำ และสิ่งนี้ทำให้เราพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเอาตัวรอดจากวิกฤติต่างๆ ที่ทำให้หลายแห่งขาดทุนหรือล้มหายไป แต่เรายังทำกำไรได้” นายกานต์กล่าวและว่า HVA ทำให้ต้นทุนเพิ่มเล็กน้อยแต่สร้างกำไรได้ไม่ต่ำกว่า 75% อาทิ พลาสติกสำหรับการแพทย์ บรรจุภัณฑ์กระดาษน้ำหนักเบาแต่ความแข็งแรงเท่าเดิม หรือปูนซีเมนต์สี ที่ขายได้ตันละหลายหมื่นบาท เมื่อเทียบกับซีเมนต์ธรรมดาตันละ 2 พันบาท
“ภาคเอกชนถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจ ในขณะที่ภาครัฐเป็นผู้สร้างบรรยากาศของการเติบโตของไทย ดังนั้น แนวทางการพัฒนาตนเองของภาครัฐและเอกชนนั้น ต้องเริ่มจากการสร้างความแข็งแกร่งของตนเองก่อน จากนั้นจึงจับมือกันสร้างเครือข่าย เพื่อต่อยอดสู่ความร่วมมือกันในอนาคต” กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจีกล่าว
รายการอ้างอิง :
สาลินีย์ ทับพิลา. (2557). งบวิจัยเอกชนมาแรง. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). ค้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2557, จาก http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/innovation/20140326/571347/งบวิจัยเอกชนมาแรง.html.– ( 20 Views)