คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ เผยผลวิจัย สารสกัดจากส้มโอลดการดูดซึมไขมันเตรียมต่อยอดเป็นผงส้มโอสกัดลงในอาหารที่มีไขมันสูงเพื่อตอบโจทย์ผู้ป่วยเบาหวานและไขมันสูง
รศ.ดร.สิริชัย อดิศักดิ์วัฒนา ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความแตกต่างของสายพันธุ์ในการต้านออกซิเดชั่นและความสามารถต้านไขมันสูงของเนื้อส้มโอในประเทศไทย เปิดเผยถึงงานวิจัยดังกล่าวว่า ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการศึกษาถึงประโยชน์ของพืชผลไม้เศรษฐกิจของไทย เพื่อนำไปเป็นฐานข้อมูลเป็นเอกสารอ้างอิงในการส่งเสริมการขายสู่ตลาดโลก
เนื่องจากส้มโอ เป็นผลไม้ที่มีให้รับประทานทุกฤดู โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนจะมีส้มโอออกมาขายจำนวนมาก แต่ในเมืองไทยยังไม่ค่อยมีคนศึกษาเรื่องส้มโอมากนัก ซึ่งนอกจากสารอาหารต่างๆ แล้ว ส้มโอยังมีสารพฤกษเคมี ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นคือความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ สารกลุ่มโพลีฟีนอล และกลุ่มฟลาโวนอยด์ แต่ก็มีสิ่งที่ต้องระวังคือน้ำตาล จึงอาจจะไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยที่มีไขมันสูงในการวิจัยครั้งนี้เลือกศึกษาส้มโอ 6 สายพันธุ์ ได้แก่ ขาวใหญ่ ขาวน้ำผึ้ง ทองดี ขาวแตงกวา ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักๆ ที่ขายทั่วไป และอีก 2 สายพันธุ์ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก คือ ท่าข่อย ที่ปลูกมากที่ จ.พิจิตร เนื้อมีสีออกแดงๆ ข้างใน และทับทิมสยาม ซึ่งหายากและราคาค่อนข้างสูง เนื้อมีสีแดงสดคล้ายทับทิม และปลูกได้ในพื้นที่เดียวของประเทศที่จะได้รสชาติที่ดีคือที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะกำจัดน้ำตาลออกไปให้ได้มากที่สุด ด้วยการใช้วิธีนำน้ำส้มโอมาดึงน้ำออกไปให้หมดก่อน จากนั้นใช้ตัวทำละลายในการสกัดและผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อแยกน้ำตาลออกไป จนได้สารโพลีฟีนอลหรือฟลาโวนอยด์ที่มีความบริสุทธิ์สูง เป็นส้มโอสกัดเข้มข้นปราศจากน้ำตาลในลักษณะผง
รศ.ดร.สิริชัย กล่าวถึงผลการวิจัยว่า ด้านการต้านอนุมูลอิสระพบความสัมพันธ์ว่าหากสายพันธุ์ใดมีสารโพลีฟีนอลหรือสารฟลาโวนอยด์สูง ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระก็จะสูงตามด้วย ซึ่งความสามารถในด้านนี้ของส้มโอแต่ละสายพันธุ์จะมีความแตกต่างหลากหลายมาก ส่วนการต้านไขมันสูง จะเน้นศึกษาเรื่องการชะลอกระบวนการย่อยและดูดซึมไขมันที่บริเวณลำไส้เล็กให้ช้าลง เพื่อให้ไขมันดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดช้าลงตามไปด้วย
ผลการวิจัยพบว่าสารสกัดจากส้มโอของเรามีฤทธิ์ในการชะลอหรือยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการย่อยไขมันในกลุ่มไตรกลีเซอไรด์ และยับยั้งกระบวนการดูดซึมไขมันในกลุ่มคอเลสเตอรอล ใน 2 ขั้นตอนคือ ส้มโอจะเข้าไปจับกับกรดน้ำดี ซึ่งมีหน้าที่ทำให้ไขมันต่างๆ แตกตัวเพื่อให้ง่ายต่อการดูดซึม ทำให้ปริมาณกรดน้ำดีในทางเดินอาหารลดลง การแตกตัวและการดูดซึมไขมันจึงน้อยลงตามไปด้วย และในขั้นตอนการสร้างกลุ่มก้อนของไขมันเพื่อการดูดซึม ส้มโอสามารถแทรกตัวเข้าไปขัดขวางไม่ให้ไขมันจับกลุ่มรวมตัวกันและเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองในการดูดซึม โดยมีประสิทธิภาพประมาณร้อยละ 10 ใกล้เคียงกับยากลุ่มที่ช่วยขัดขวางในด้านนี้
ผลการวิจัยที่ได้นี้ถือเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างใหม่เกือบทั้งหมด เพราะยังไม่เคยมีการศึกษาส้มโอในประเด็นการต้านไขมันสูงมาก่อน ส่วนการต้านอนุมูลอิสระ ไทยเคยมีการศึกษาวิจัยเพียง 2 – 3 สายพันธุ์ เท่านั้น และเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาสายพันธุ์ทับทิมสยามและท่าข่อย องค์ความรู้ตรงนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการนำไปพัฒนาเป็นสารเสริมอาหารหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อนำไปประกอบอาหารหรือใช้ในวิธีการอื่นๆ เช่น ผสมผงส้มโอสกัดลงในอาหารที่มีไขมันสูง เพื่อช่วยลดการดูดซึมไขมันให้ช้าลง เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานกับผู้ป่วยที่มีไขมันสูง ฯลฯ รวมทั้งยังช่วยให้ส้มโอของไทยมีราคาดียิ่งขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยยังอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการ การที่จะสกัดส้มโอเป็นจำนวนมากในเชิงอุตสาหกรรม และการศึกษาในคน ยังอยู่ระหว่างการเตรียมวางแผน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยต่อเนื่องซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วนคือ การศึกษาฤทธิ์ต้านการเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดการสะสมของน้ำตาลในเลือดที่มีปริมาณน้ำตาลสูงของส้มโอสกัดเข้มข้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานได้ และกำลังวางแผนที่จะศึกษาเปลือกส้มโอซึ่งมีสารต่างๆ ใกล้เคียงกับเนื้อส้มโอว่า จะสามารถสกัดได้เช่นเดียวกันหรือไม่
รายการอ้างอิง :
จุฬาฯ เล็งผลิตผงส้มโอลดการดูดซึมไขมัน. (2557). กรุงเทพธุรกิจ. (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). ค้นเมื่อวันที 21 เมษายน 2557. จาก http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/innovation/20140421/576472/จุฬาฯ-เล็งผลิตผงส้มโอลดการดูดซึมไขมัน.html.– ( 88 Views)