วันนี้จะพาไปรู้จักกับเครื่องอ่านอี-พาสปอร์ต ฝีมือคนไทย ที่คิดจะสร้างผลงานเพื่อลดการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ
“พ.อ.สิทธิโชค มุกเตียร์” อดีตนายทหารจากกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ซึ่งปลดเกษียณแล้วแต่ยังร่วมกับทีมงานพัฒนางานที่ทำอยู่อย่างต่อเนื่อง บอกถึงผลงานชิ้นล่าสุดว่า ได้ร่วมกับทีมงานพัฒนา “เครื่องอ่านพาสปอร์ตอิเล็กทรอนิกส์” หรืออี-พาสปอร์ต ขึ้น เพื่อให้เป็นผลงานวิจัยที่ทำแล้ว สามารถส่งขายต่างประเทศได้ เพราะใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งโลก
พ.อ.สิทธิโชค บอกว่า อี-พาสปอร์ต เป็นหนังสือเดินทางที่มีคุณลักษณะเฉพาะทางเทคนิค ตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งแตกต่างจากหนังสือเดินทางแบบเดิม ๆ คือมีการบันทึกข้อมูลชีวภาพ ได้แก่ รูปใบหน้า และ/หรือ ลายนิ้วมือ และ/หรือ ม่านตา ไว้ในชิปหรือตัวเก็บข้อมูล ซึ่งฝังอยู่ในเล่มหนังสือเดินทาง
มีการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของหน้งสือเดินทาง
หนังสือเดินทางยุคใหม่นี้ สามารถที่จะป้องกันการปลอมแปลงได้สูง เป็นมาตรการสำคัญในการสกัดกั้นขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ การลักลอบเข้าเมือง
สามารถตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคลได้แม่นยำและรวดเร็ว อำนวยความสะดวกต่อการเดินทาง การเข้าเมือง และส่งเสริมการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยังเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ ทำให้หนังสือเดินทางไทยมีความน่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับในระดับสากลยิ่งขึ้น
ปัจจุบันมีมากกว่า 60 ประเทศใช้แล้ว ส่วนในประเทศไทยเริ่มมีใช้ตั้งแต่ปี 2550
พ.อ.สิทธิโชค บอกว่า ปัจจุบันเราเสียเงินค่าพาสปอร์ตเพิ่มกว่าเดิม แต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์มากเท่าไหร่ จึงพัฒนาเครื่องอ่านขึ้นมา เพื่อให้เชื่อมต่อได้กับคอมพิวเตอร์ของโรงแรม ร้านค้าปลอดภาษี สถานีให้บริการนักท่องเที่ยวต่าง ๆ ไม่ต้องเปลืองกระดาษถ่ายเอกสาร
วิธีการใช้งานก็ง่าย ๆ ไม่ต้องเขียนโปรแกรมเพิ่ม แค่ต่อกับคอมพิวเตอร์แล้วอ่านลงเครื่องได้เลย สามารถอ่านได้โดยตรงจากเล่ม ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อโปรแกรม ใช้ได้กับทุกระบบปฏิบัติการ (OS)
อ่าน อี-พาสปอร์ต ได้ทุกมาตรฐาน เก็บข้อมูลพาสปอร์ตเข้าฐานข้อมูลได้ และสามารถตรวจเช็กบุคคลต้องห้ามตามฐานข้อมูลที่กำหนดไว้ได้
ที่สำคัญ นี่คือเครื่องอ่าน อี-พาสปอร์ต ฝีมือคนไทย ที่ช่วยลดการนำเข้า
และยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น การเก็บข้อมูลตามโรงแรม ร้านค้า สามารถอ่านข้อมูลของผู้เข้าพักเข้าระบบได้โดยตรง เปลี่ยนจากการทำสำเนาเอกสารแบบเดิม เพื่อลดเวลาการกรอกข้อมูล และลดความผิดพลาดได้อีกด้วย
รายการอ้างอิง :
นาตยา คชินทร. เครื่องอ่านพาสปอร์ตอิเล็กทรอนิกส์ – ฉลาดคิด. เดลินิวส์ (ไอที). วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555.– ( 284 Views)