magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก “รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส”กับไอทีควอนตัม (4)
formats

“รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส”กับไอทีควอนตัม (4)

เมื่อ“หลักความไม่แน่นอน” (Uncertainty Principle) เอามาใช้ในงานไอทีได้…แน่นอน

การจะทำความเข้าใจเรื่องใหม่ๆ ที่ว่ายากหลายกรณีก็ต้องหาตัวช่วยเพื่อให้เกิด“ศรัทธา”ก่อน มิฉะนั้นกว่าจะเข้าใจได้ก็ยากเย็นแสนนาน หากใจไม่เอาก็หมดความพยายามจบลงอย่างง่ายดาย ศรัทธาในที่นี้หมายถึงแรงกระตุ้นให้อยากรู้อยากพิสูจน์ให้เกิดความเข้าใจกับเรื่องควอนตัมที่ว่ายากนั้นให้รู้สึกง่ายลงอีกมากๆหน่อย

เนื่องจากประโยคแรกที่เกริ่นมาดูน่าแปลกใจ วกวน เหมือนวาทกรรมเล่นกับคำ“ความไม่แน่นอน”แบบนี้ หากไม่มีศรัทธาก็ชวนให้เลิกสนใจกันไปแล้วแน่

อย่างนั้นมาเริ่มกันใหม่ว่า “หลักความไม่แน่นอน”คือ ชื่อกลศาสตร์ควอนตัมมุมหนึ่งค้นพบโดย แวร์เนอร์ ไฮเซนแบร์ก (Werner Heisenberg) นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลชาวเยอรมนีผู้ที่เป็นศาสตราจารย์ในวัยหนุ่มมากเพียง26ปี กับอายุที่คนส่วนใหญ่เพิ่งจะเรียนจบปริญญาตรีมาได้ไม่นาน และรับรางวัลโนเบลเมื่ออายุย่าง 32 ปีเท่านั้น แสดงถึงอัฉริยะภาพของหนุ่มผู้นี้ที่คิดค้นหลายเรื่องรวมถึง“หลักความไม่แน่นอน”ที่ชวนหัวนั้นและภายหลังได้ถูกนำมาใช้กับวิทยาการรหัสลับเชิงควอนตัม (quantum cryptography) สร้างมูลค่ามหาศาลอยู่ในปัจจุบันด้วย แสดงว่าหลักการนามแปลกๆที่ว่ามานี้ต้องมีอะไรดีแน่นอน
อ้างอิงตัวช่วยด้วยโนเบลแบบนี้ศรัทธาเกิดบ้างแล้วใช่ไหมครับ ?

ดังนั้น มาดำดิ่งเพ่งทำความเข้าใจกับโลกควอนตัมที่เข้าถึงด้วยระบบประสาทพื้นฐานทั้งห้าได้ยาก แต่สามารถสัมผัสถึงผลผลิตกันได้แล้ว มาดูตัวอย่างการสัมผัสควอนตัมสะดวกที่สุดของโลกวิทยาศาสตร์แขนงนี้…นั่นคือ

รหัสลับเชิงควอนตัม พัฒนาการการใช้แสงที่เป็นควอนตัมแทนค่ารหัสลับข้อมูลที่ใช้อยู่ในระบบไอทีเพื่อป้องกันการต่อท่อพ่วงสายได้อย่างสมบูรณ์ หากมีมือที่สามหรือ“อีฟ” (Eves) มาดักจับขโมยรหัสความลับจากสถานะควอนตัมนี้ จะเท่ากับไปรบกวนระบบเกิดการเปลี่ยนแปลงสถานะควอนตัม รหัสก็จะเปลี่ยนไปจากต้นฉบับโดยอัตโนมัติก่อนจะถึงมือผู้รับตัวจริง เพราะสถานะรหัสต้นทางนั้นควรให้ผู้รับตัวจริงเป็นผู้อ่านค่าไปใช้คนเดียวหรืออ่านแล้วสลายเปลี่ยนกลายไป แต่ “อีฟ” กลับมาฉกไปเสียก่อน ทำให้ผู้ส่งผู้รับทั้งสองด้านทราบได้เสมือนมีเซนเซอร์ตรวจจับการขโมย

สรุปหัวใจหลักของวิทยาการนี้ก็คือ “หากจะไปยุ่งเกี่ยวตรวจวัดรหัสในระบบควอนตัมนั้นโดยไม่กระทบต่อสถานะของมัน…เป็นไปไม่ได้” ซึ่งก็อยู่บนพื้นฐานหลักการ“ความไม่แน่นอน”ของสถานะควอนตัมนั้นที่เกริ่นมานั่นเอง

อ่า…แม้จะศรัทธาจากคำว่าโนเบล แต่หากอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วมึนจะเลิกสนใจหมดศรัทธาเลยก็น่าเสียดาย ขอชวนฝืนอ่านอีกนิดครับกับเทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้ ด้วยอีกมุมมองหนึ่งที่อาจสร้างความอยากรู้ได้แรงกล้าจากคำอธิบายของพระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ท่านได้ถ่ายทอด (ขณะดำรงสมณศักดิ์พระธรรมโกศาจารย์) อธิบายเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์อย่างลึกซึ้งและประทับใจอย่างยิ่งกับบทความ “พระพุทธศาสนากับทฤษฎีควอนตัม : ความเหมือนที่แตกต่าง” โดยเปรียบเทียบหลัก“ความไม่แน่นอน”อันเป็นวิทยาศาสตร์นั้นกับ“อนิจจตา (ความไม่เที่ยง)”ในทางพุทธศาสนา… ผู้ที่ศึกษาปฏิบัติธรรมอาจจะปิ๊งกับคำเหล่านี้เลยนะครับ

ทั้งศัพท์พุทธศาสตร์ต่างๆ กับความสัมพันธ์ของฟิสิกส์ยุคใหม่ ท่านก็ได้เชื่อมโยงให้ศึกษา เช่น ควอนตัมกับพุทธธรรม และอื่นๆ อีกมากอย่างสอดคล้อง อาจทำให้เข้าใจได้สะดวกขึ้นกว่าการเข้าถึงด้วยการศึกษาทดลองวิทยาศาสตร์เพียงด้านเดียว และการค้นพบทางควอนตัมมากขึ้นก็ยิ่งไปสนับสนุนหลักทางพุทธศาสตร์อีก ดังนั้น นักศึกษา นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ จึงควรลองย้อนมาศึกษาจาก“ความเหมือนที่แตกต่าง”ทางนี้กันด้วย

แต่…ก็มีคำแนะนำจากหลากหลายครูอาจารย์มานานว่า “เรื่องควอนตัมมันเข้าใจได้เฉพาะตนนะ” เพราะขนาดมีประสาทสัมผัสทั้งห้าคล้ายกัน คนยังเถียงแย้งจากการรับรู้สิ่งเดียวกันได้ต่างกัน เช่น เรื่องสำรับอาหารคนหนึ่งอาจบอกว่าหวานจัดจานสวย อีกคนกลับบอกจืดแต่งหน้าไม่น่าหม่ำ กลิ่นหอมหวลหรือชวนหิวหรือไม่ก็ต่างกัน หรือแม้เพลงจะเพราะเสนาะหูเราก็อาจกลายเป็นเสียงบาดโสตประสาทของเพื่อนก็เป็นได้ ดังนั้น ควอนตัมที่รับรู้สัมผัสตรงๆไม่ได้ แถมต้องผ่านตัวช่วยจับสัญญาณมาให้ก็ย่อมที่จะเข้าใจได้ต่างกัน ไกลจากความหมายเดียวกันไปได้ จึงควรศึกษาด้วยตนเองดีกว่าไปเชื่อสัมผัสทางอ้อมที่ผ่านใครๆเขามา เช่น“หลักความไม่แน่นอน”กับตัวอย่างของบทนี้ ชัดเจนว่าแม้จะอ้างโนเบล หรือแม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ขายได้แล้วก็ตาม ต่างคนก็ยังสัมผัสเข้าถึงเข้าใจได้ต่างกัน (ลองสอบเทียบกับคนข้างตัวดูได้ครับ)

ฉะนั้น ขอสรุปเปรียบเปรยคำครูเหล่านั้นกับคำที่คุ้นหูว่า…สิ่งที่เลยจากสัมผัสด้วยระบบประสาทพื้นฐานทั้งห้าหรือเข้าถึงไม่ได้โดยตรง ขอเทียบเป็น“สันทิฏฐิโก”คือรู้ได้เฉพาะตน เพราะควอนตัมสัมผัสได้ทางอ้อมโดยผ่านระบบประสาทเทียมหรือเซ็นเซอร์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา การตีความของผู้สังเกตจึงยากที่จะทำให้รับรู้ได้เหมือนกัน กระนั้น…ควอนตัมก็ควรเป็น“อกาลิโก”ด้วย เพราะท้าทายกาลเวลาให้พิสูจน์แล้วก็นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มิได้หนีหายไปไหน จึงขอจบด้วยคำว่า “เอหิปัสสิโก”มาศึกษามาพิสูจน์กันเยอะๆเถิด ควอนตัมมิได้ลึกลับแต่เป็นวิทยาศาสตร์ และ “เป็น อยู่  คือ ธรรมชาติ”

รายการอ้างอิง :

เกียรติศักดิ์ ศรีพิมานวัฒน์. 2557. “รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส”กับไอทีควอนตัม (4). เดลินิวส์ (บทความ). ค้นเมื่อวันที่  22 เมษายน 2557. จาก http://www.dailynews.co.th/Content/Article/228981/“รูป+รส+กลิ่น+เสียง+สัมผัส”+กับไอทีควอนตัม+(4).– ( 80 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


9 + = thirteen

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>